- 24 ต.ค. 2567
"ดีเอสไอ"รับคดีฟอกเงิน ดิไอคอนกรุ๊ป เป็นคดีพิเศษ เหตุเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
คืบหน้าคดีดิไอคอน ล่าสุด 24ต.ค.67 ดีเอสไอ รับคดีฟอกเงิน ดิไอคอน เป็นคดีพิเศษ โดย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และนายอัษฎาวุธ ศรีปิตา ผู้ช่วยโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการรับคดีฟอกเงิน กรณี ดิไอคอนกรุ๊ป เป็นคดีพิเศษ
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีเกี่ยวกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และอาหารเสริม ในลักษณะการประกอบธุรกิจขายตรงว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือความผิดอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่
โดยมี ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน เลขสืบสวนที่ 178/2567 แต่เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จับกุมดำเนินคดีกับผู้บริหารและเครือข่ายของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จำนวน 18 ราย ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน” อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ซึ่งตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่องกำหนดรายละเอียด ของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
คณะพนักงานสืบสวนตามคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวข้างต้น ได้ทำการสืบสวนปรากฏข้อมูลและพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า กลุ่มผู้บริหารบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และเครือข่ายดังกล่าวมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิด โดยนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนทำธุรกิจดังกล่าว
ทำการโอนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
โดยจากการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าได้มาในช่วงเวลากระทำความผิด ดังนี้
1. ที่ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 3 ไร่เศษ ราคาประเมินมูลค่าประมาณ 60,000,000 บาท ประกอบด้วย ที่ดินและอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จำนวน 8 แปลง เนื้อที่รวม 240 ตารางวา ในพื้นที่เขตบางเขน และที่ดินที่เป็นชื่อของนายวรัตน์พลฯ จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 282.20 ตารางวา ในพื้นที่เขตบางเขน บึงกุ่ม บางกะปิ ลาดพร้าว
2. ที่ดินในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 63 ไร่เศษ ราคาซื้อขายประมาณ 300,000,000 บาท
3.ทรัพย์สินที่ได้จากการที่คณะพนักงานสืบสวนได้ทำการตรวจค้นเป้าหมายห้องเช่าบริเวณถนนรามอินทรา ซอย 9 จากการตรวจค้นพบสิ่งของทรัพย์สินซึ่งจากข้อมูลการสืบสวนทราบว่า กลุ่มผู้บริหารบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด บางคน ได้นำมาเก็บซุกซ่อนไว้เพื่อไม่ให้ตรวจสอบ พบก่อนที่ศาลอาญาจะอนุมัติหมายจับ เช่น นาฬิกามีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง สร้อยที่มีลักษณะเป็นสีทอง พระเครื่องเลี่ยมสีทอง กระเป๋ามีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดัง และพยานหลักฐานอีกจำนวนหนึ่ง
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาจากพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้บริหาร บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มีพฤติการณ์ โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงินอันเป็นความผิดตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงรับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ