- 01 พ.ย. 2567
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขข้อข้องใจปม ภูเขาฟูจิไม่มีหิมะเป็นครั้งแรกในรอบ130ปี
ภูเขาฟูจิไม่มีหิมะเป็นครั้งแรกในรอบ130ปี งานนี้เกิดอะไรขึ้น ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า
"เกิดอะไรขึ้น ภูเขาฟูจิ ไม่มีหิมะเลย เป็นครั้งแรกในรอบ 130 ปี ! "
อาจจะได้ยินข่าวกันมาบ้างแล้วมั้งครับ ว่าปีนี้ ภูเขาฟูจิ ของประเทศญี่ปุ่น มีความผิดปรกติไป คือ ไม่มีหิมะ ปกคลุมอยู่บนยอดเขาเหมือนทุกปี ที่มักจะตกกันมาตั้งแต่เดือนก่อน ... แต่จนถึงวันนี้ วันที่ 1 พฤศจิกายนแล้ว ก็ยังไม่มีหิมะตกบนเขาฟูจิ !
ปรกติแล้ว ภูเขาฟูจิ จะเป็นที่รู้จักกันดีถึงความสวยงาม อันเนื่องจากการมีหิมะปกคลุมบริเวณยอดเขาเป็นส่วนใหญ่เกือบทั้งปี โดยมักจะเริ่มต้นเห็นยอดหิมะนี้ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ประมาณสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม (โดยเฉลี่ยคือวันที่ 2 ตุลาคม) โดยเมื่อปีที่แล้วนั้น พบหิมะตกบนยอดเขาครั้งแรก ในวันที่ 5 ตุลาคม
ยอดของภูเขาฟูจินั้น สูง 3,776 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และก็มักจะสูญเสียหิมะไปในบางช่วงเวลาของปี โดยเฉพาะในฤดูร้อน ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของฮอกไกโดนั้น จะลงไปต่ำว่า 0 องศาเซลเซียสได้ก็ต่อเมื่ออยู่ระดับสูงกว่า 4 พันเมตรขึ้นไป
แต่ปีนี้ หิมะมาล่าช้าไปมาก และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นโกฟุ (Kofu Local Meteorological Office) ก็ยังไม่ได้ประกาศถึงการตกของหิมะในปีนี้ แต่อย่างไร ซึ่งทำให้หลายต่อหลายคนแปลกใจ เนื่องจากหมดฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวจะไปเดินปีนเขากันตั้งแต่เดือนกันยายนแล้ว
โดยคุณ โยทากะ คัตซึตะ Yutaka Katsuta นักพยากรณ์อากาศของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นโกฟุ ได้อธิบายว่า สภาพอากาศที่อบอุ่น เป็นสาเหตุที่ทำให้หิมะไม่ตกลงบนยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่นนี้
ซึ่งนี่เลยทำให้เป็นครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์ไม่มีหิมะบนฟูจิ ตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลกันมาในปี ค.ศ. 1894 และการทิ้งช่วงล่าช้าของหิมะตกนี้ ก็ทำลายสถิติที่เคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2016 ที่หิมะเริ่มต้น (แต่ล่าช้า) ในวันที่ 26 ตุลาคม
ตามคำอธิบายของคุณ คัตซึตะ บอกว่า อุณหภูมิของญี่ปุ่นนั้นขึ้นสูงในช่วงฤดูร้อน ปี 2024 ที่ผ่านมา โดยร้อนสูงสุดทำลายสถิติ (ใกล้เคียงกับที่อุณหภูมิสูงมากในปี 2023) และลากยาวนานมาจนถึงเดือนกันยายน เลยทำให้ไม่อากาศที่หนาวเย็นเพียงพอจะเกิดหิมะได้
และเขายังบอกอีกว่า เป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) อาจจะส่งผลกระทบต่อความผิดปรกติของการเกิดหิมะบนยอดเขาฟูจิ
ส่วนคุณ ชินนิชิ ยานางิ Shinichi Yanagi เจ้าหน้าที่อีกคนของสำนักงาน ได้บอกตรงกันว่า ที่ไม่มีหิมะตกนั้น เนื่องจากความจริงที่ว่า อุณหภูมิสูงของญี่ปุ่นนั้นต่อเนื่องยาวนานมาจากฤดูร้อน และทำให้เกิดฝนตกแทน
การที่ฤดูหนาวมาล่าช้าลง รวมถึงการที่หิมะบนยอดเขาฟูจิหายไป ทำให้เกิดความกังวลกันขึ้นกับสภาพแวดล้อมสภาพอากาศที่แปรปรวนของโลก และยังน่ากังวลต่อผลกระทบกับระบบนิเวศในพื้นที่ เช่น ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ ที่เคยปรับตัวให้เหมาะสมกับการอยู่ในพื้นที่เขตหนาว
หิมะที่อยู่บนยอดเขา ยังเป็นแหล่งสำคัญของน้ำจืดให้กับพื้นที่รอบข้าง เมื่อหิมะละลายกลายเป็นหนาว การที่หิมะสะสมตัวช้าลงก็ย่อมจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้นในฤดูกาลถัดไป
นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนกันมานานแล้วว่า ถ้าไม่รีบแก้ไข ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เราก็จะต้องเผชิญกับภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นในอนาคตกันใกล้ .. และการที่ ภูเขาฟูจิไม่มียอดหิมะ ก็คงเป็นคำเตือนที่ทำให้เราได้เห็นกันตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรออนาคต