- 29 พ.ย. 2567
"หมอหมู" หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความในหัวข้อ ผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด หลังเกิดเหตุ 7 ชั่วโมง ค่าที่ได้เท่ากับ 29 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คำนวณย้อนกลับ ณ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ได้เท่ากับ
"หมอหมู" หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุผ่านเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ เผยว่า
ผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด หลังเกิดเหตุ 7 ชั่วโมง ค่าที่ได้เท่ากับ 29 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คำนวณย้อนกลับ ณ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ได้เท่ากับ?
ค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด สามารถนำมาคำนวณย้อนกลับเพื่อหาค่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดในขณะเกิดเหตุได้ โดยใช้สูตรคำนวณข้างล่างนี้ครับ
ค่าประมาณการระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ณ เวลาที่เกิดเหตุ เท่ากับ
((0.0165 x ช่วงเวลาที่ผ่านไปตั้งแต่เกิดเหตุถึงเวลาที่ตรวจหาแอลกอฮอล์ (ชั่วโมง)) + ระดับแอลกอฮอล์ที่วัดได้ (กรัมเปอร์เซ็นต์)) x 1,000
วิธีคำนวณ
1) แปลง 29 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เป็น 0.029 กรัมเปอร์เซ็นต์
2) เข้าสูตร ((0.0165 x 7) + 0.029) x 1,000
3) ผลที่ได้ คือ 144.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
สรุปในกรณีนี้ ขณะเกิดอุบัติเหตุ มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด = 144.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 144.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าสูงมากและอาจทำให้เกิดอาการเมาสุราที่รุนแรงได้ อาการที่อาจพบได้ในคนที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขนาดนี้ ได้แก่:
1. การสูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหว
2. การพูดไม่ชัด
3. การมองเห็นเบลอ
4. การสูญเสียความสมดุลและการประสานงาน
5. การตัดสินใจที่ไม่ดีและการมีพฤติกรรมเสี่ยง
6. การสูญเสียความจำชั่วคราว
7. อาการง่วงนอนหรืออาจหมดสติ
หมายเหตุ:
1. การตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำให้ตรวจภายใน 4 ชั่วโมง (หากเกิน 6 ชั่วโมงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด 50 mg%)
2. ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด แต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด ได้แก่ อายุ น้ำหนัก การได้รับการรักษาบางอย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง หรือแม้แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ ก็มีผลเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
1) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
2) สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี หมอหมูวีระศักดิ์ ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์
ปล. ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยนะครับ