- 18 ธ.ค. 2567
อาการโนโรไวรัส ระบาดในเด็กหรือตามโรงเรียน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ต้องรักษาตามอาการเท่านั้น พร้อมวิธีป้องกันให้
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีเกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วงของนักเรียน ครู และบุคลากร 2 โรงเรียน ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย อันเกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับ “น้ำและน้ำแข็ง” ที่บริโภคในช่วงสัปดาห์ของการจัดกิจกรรมกีฬาสี โดยโนโรไวรัส (Norovirus) มักจะแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว พบบ่อยตามโรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงรถหรือเรือท่องเที่ยว
โนโรไวรัสเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน สามารถติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การสัมผัส และการหายใจ เช่น การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล
(Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี ดังนั้นเมื่อเกิดการปนเปื้อนของโนโรไวรัสในอาหารและน้ำดื่ม จึงทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และสามารถติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากใช้เวลาเพียงไม่นานในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสนี้พบระบาดได้มากในฤดูหนาว ติดต่อได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น และทำให้เกิดโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
อาการที่พบบ่อยหากได้รับเชื้อโนโรไวรัสภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ได้แก่
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- ไข้ต่ำ
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- อ่อนเพลีย
ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโนโรไวรัส ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อส่งตรวจพิเศษกับห้องปฏิบัติการ หากพบว่าติดเชื้อโนโรไวรัส แพทย์จะทำการดูแลรักษาตามอาการเป็นสำคัญหากเด็กมีภูมิต้านทานที่ดีอาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน แต่หากเด็กเกิดการขาดน้ำอาจทดแทนด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด รับประทานอาหารอ่อน ๆ หรือให้ยาแก้อาเจียนและยาแก้ปวดท้อง แต่ถ้าเด็กภูมิต้านทานต่ำ มีอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลาต้องนำส่งโรงพยาบาลทันทีและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการช็อก ความดันต่ำ และเสียชีวิตได้
เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัส พบบ่อยในน้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักผลไม้สด หอยนางรม เป็นต้น
- เด็กจับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัสแล้วเอานิ้วเข้าปาก
- สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
- การดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาดคือหัวใจสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส ได้แก่
- ก่อนทานหรือหยิบจับอาหารและหลังเข้าห้องน้ำต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- การล้างมือให้สะอาดต้องล้างด้วยน้ำสบู่ โดยให้น้ำไหลผ่านไม่ต่ำกว่า 15 วินาที
- ดื่มน้ำที่สะอาด เลือกรับประทานอาหารที่สุก สะอาด สดใหม่
- เลี่ยงการหยิบจับหรือทำอาหารให้ผู้อื่น
- ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
เพราะเชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายและปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ จึงควรดูแลเจ้าตัวเล็กอย่างใกล้ชิดในเรื่องของการ รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ที่สำคัญล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลจากเชื้อโนโรไวรัส
ขอบคุณ กรมอนามัย , นพ. พรเทพ สวนดอก กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ