- 19 ธ.ค. 2567
"หมอหมู" เปิดสาเหตุครู-นักเรียน จ.ระยอง อุจจาระร่วงถึง 1,436 ราย แนะวิธีป้องกัน ปัจจุบันยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ
จากกรณีที่ รองอธิบดีกรมอนามัย ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อ "โนโรไวรัส" (Norovirus) ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ของนักเรียน ครู และบุคลากร 2 โรงเรียน ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยพบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 256767 "หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ เปิดสาเหตุครู-นักเรียน อุจจาระร่วง 1,436 ราย โดยระบุว่า
รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีเกิดการระบาดของ โนโรไวรัส (Norovirus) ที่ทำให้เกิด โรคอุจจาระร่วง ของนักเรียน ครู และบุคลากร 2 โรงเรียน ใน อ.แกลง จ.ระยอง ช่วงตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าพบผู้ป่วยแล้วรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย โดยเกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับ น้ำและน้ำแข็ง ที่บริโภคในช่วงสัปดาห์ของการจัดกิจกรรมกีฬาสี
ซึ่ง โนโรไวรัส มักจะแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว พบบ่อยตามโรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมถึงรถ หรือเรือท่องเที่ยว
โนโรไวรัส (Norovirus)
เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อเกิดการปนเปื้อนของโนโรไวรัสในอาหารและน้ำดื่ม จึงทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และสามารถติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากใช้เวลาเพียงไม่นานในการแพร่กระจายเชื้อ
การตรวจและรักษา แพทย์จะทำการดูแลรักษาตามอาการเป็นสำคัญ
- หากเด็กมีภูมิต้านทานที่ดี อาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน
- แต่ถ้าเด็กภูมิต้านทานต่ำ มีอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลาต้องนำส่งโรงพยาบาลทันทีและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการช็อก ความดันต่ำ และเสียชีวิตได้
การติดต่อของโรคเชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายจาก
- รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัส พบบ่อยในน้ำดื่ม และน้ำแข็ง
- จับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัสแล้วเอานิ้วเข้าปาก
- สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
การป้องกันที่สำคัญ คือ การล้างมือให้สะอาด และดื่มน้ำ+น้ำแข็ง ที่สะอาด รวมถึงเลือกรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอ มีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง
ขอบคุณ FB : หมอหมู วีระศักดิ์