- 13 ม.ค. 2568
สั่งด่วน OPPO –Realme หยุดขายมือถือฝังแอปเถื่อนปล่อยเงินกู้ Fineasy สินเชื่อความสุข กสทช.ขีดเส้น 16 ม.ค. 68 ชี้แจง หากพบกระทำความผิดปรับสูงสุดไม่เกิน 3 ล้าน ฝั่งส่วนลูกค้าเก่า รอลิงก์ลบแอปด้วยตนเอง
จากกรณีประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ มีผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนยี่ห้อ OPPO และ Realme หลายราย พบว่ามีแอปพลิเคชันกู้เงินที่มีชื่อว่า “สินเชื่อความสุข” หรือ “Fineasy” ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ System App โดยไม่สามารถลบแอป ฯ ดังกล่าว ออกจากเครื่องได้ อีกทั้งแอป ฯ ยังสามารถส่งการแจ้งเตือนเชิญชวนให้กู้เงิน และเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขอรับการอนุญาต ทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคมีความกังวลและมีความเสี่ยงต่อการใช้งาน
ล่าสุด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่าสำหรับมาตรการเร่งด่วน คือ โทรศัพท์มือถือทั้ง OPPO-Realme ที่วางขายอยู่ในร้านค้า ต้องไม่มีแอปกู้เงินดังกล่าวอยู่บนเครื่อง รวมถึงเครื่องรุ่นใหม่ที่กำลังจะเปิดในตลาดในวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค.2568)
ส่วนโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่ประชาชนใช้อยู่ คาดว่าจะถูกฝังแอปมาตั้งแต่ปี 2566 นั้น OPPO และ Realme จะขอใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ในการส่งลิงก์ให้ประชาชนลบแอปเอง แต่ทางสคส.เห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ช้าไป จึงขอให้ทั้ง OPPO และ Realme มาชี้แจงระยะเวลาในการแก้ไขใหม่ในวันที่ 16 ม.ค.2568
ด้าน นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “กรณีแอปเงินกู้ในมือถือสมาร์ทโฟนดังกล่าว ได้สั่งการด่วนให้ สคบ. ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทั้งสองรายเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในวันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 รวมทั้งเชิญผู้ประกอบธุรกิจค่ายโทรศัพท์มือถืออื่น ๆ เข้าชี้แจงในการจัดการป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้ สคบ. ในฐานะหน่วยงานในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงาน กสทช. ในการพิจารณาหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภคดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือรับบริการต่อไป”
หากผู้บริโภคท่านใดได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวสามารถร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยตนเอง หรือผ่านระบบออนไลน์ https: //complaint.ocpb.go.th/ หรือช่องทางแอปพลิเคชัน OCPB Connect https://ocpbconnect.ocpb.go.th/ หรือ ขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1166