- 15 ม.ค. 2568
น่าห่วง 4 จังหวัดอีสาน ผู้ป่วย"ไข้หูดับ"พุ่ง 197 ราย ดับแล้ว 22 ราย ย้ำ ปชช. "กินสุก ร้อน สะอาด" ไม่กินหมูดิบ เลิกความเชื่อผิดๆ บีบมะนาว หรือดื่มสุรา จะทำให้หมูสุก พร้อมแนะ 5 วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ
อุทาหรณ์ชั้นดีสำหรับสายกินดิบที่หลายคนอาจมองข้าม นอกจากเสี่ยงเป็น "พยาธิ" แล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็น "ไข้หูดับ" อีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้เผยข้อมูลโรคไข้หูดับ ใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ในเขตสุขภาพที่ 9 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 2 มกราคม 2568 เขตสุขภาพที่ 9 พบผู้ป่วย โรคไข้หูดับ มากถึง 197 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 22 ราย
เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า ยอดผู้ป่วยโรคไข้หูดับมากที่สุดในพื้นที่อีสานตอนล่าง ช่วงปี 2567 มีดังนี้
- จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 120 ราย เสียชีวิต 10 ราย
- จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 37 ราย เสียชีวิต 7 ราย
- จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 24 ราย เสียชีวิต 3 ราย
- จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 16 ราย เสียชีวิต 2 ราย
โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงอย่างรวดเร็วในเขตสุขภาพที่ 9 พบว่า ยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับในปี 2567 เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปี 2566 และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูง ควรกิน “สุก ร้อน สะอาด” ไม่กินหมูดิบ ให้กินหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น และความเชื่อที่ว่า บีบมะนาว หรือดื่มสุรา ร่วมกับการกินหมูดิบ หรือหมูสุกๆ ดิบๆ จะทำให้หมูสุก ก็เป็นความเชื่อที่ผิด
ซึ่งข้อมูลรายงานจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดปี 2561–2565 พบจังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีก 3 จังหวัด คือ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และ จ.ชัยภูมิ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่เมื่อเข้าปี 2566 กลับพบว่า จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง โดย 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 มีรายงานผู้เสียชีวิต 10 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในรอบ 5 ปีย้อนหลัง
ในขณะที่ปี 2567 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า ปี 2566 และผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ดังนั้น จะต้องเร่งดำเนินการจัดการความเสี่ยงอย่างเข้มข้นใน จ.นครราชสีมา และเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้หูดับใน 3 จังหวัดที่เหลือ โดยจำเป็นต้องทำงานแบบบูรณาการกับหลายหน่วยงาน เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาตามแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” จึงจะสามารถยุติปัญหาได้อย่างแท้จริง
แนะนำ 5 วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ
1.ไม่รับประทานเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ
2.เลือกบริโภคเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน ไม่รับประทานหมูที่ป่วย หรือ หมูที่ตายจากโรค
3.ควรแยกภาชนะและอุปกรณ์สำหรับอาหารดิบและสุกออกจากกัน เช่น เขียง จาน ตะเกียบ ช้อน ส้อม เป็นต้น รวมทั้งไม่ควรใช้เขียงที่หั่นเนื้อหมูดิบ ในการหั่นผักที่ใช้ทานสดๆ เนื่องจากอาจปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว
4.ผู้ที่เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรใส่เสื้อผ้าปกปิดมิดชิด ใส่รองเท้าและถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานที่สัมผัสกับหมูหรือเนื้อหมู หลีกเลี่ยงการจับหมูที่ตายด้วยมือเปล่า และล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัส หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสโรคจากหมูที่ป่วย
5.ผู้ที่จำหน่าย ควรรับเนื้อหมูมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน เก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10°C และทำความสะอาดแผงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย
ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังรับประทานเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือ ปรุงสุกๆดิบๆ หรือหลังสัมผัสหมูที่ป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการรับประทานอาหาร หรือการสัมผัสให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง และรวดเร็ว จะช่วยลดอัตราการสูญเสียการได้ยินถาวร และลดการเสียชีวิตได้
ขอบคุณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข