เรื่องจริง! "นิพพานแล้วไม่สูญ" !! เมื่อ "หลวงปู่มั่น" พบ "พระพุทธเจ้า" ในคืนบรรลุอรหันต์

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th

หลวงปู่มั่นพบพระพุทธเจ้า

 

พวกเราที่เคยอ่านหนังสือชีวประวัติของ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ฉบับที่เล่าโดยสำนวนของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน คงจะจำเรื่องราวบางอย่างในหนังสือเล่มนั้นกันได้

หลวงปู่มั่น

(หลวงปู่มั่น)

เรื่องจริง! \"นิพพานแล้วไม่สูญ\" !! เมื่อ \"หลวงปู่มั่น\" พบ \"พระพุทธเจ้า\" ในคืนบรรลุอรหันต์

(หลวงตามหาบัว)

 

ในที่นั้น หลวงตามหาบัวได้เล่าถึงประสบการณ์การเข้าถึงพระนิพพานของหลวงปู่มั่น  สิ่งที่หลวงตามหาบัวได้บรรยายเอาไว้นั้นนับว่าเป็นที่ท้ายทายความเชื่อเรื่อง “นิพพาน” ตามแบบจารีตเป็นอย่างยิ่ง

สำนวนเล่าของ หลวงตามหาบัวได้ให้รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับ “สภาวะจิต” ของหลวงปู่มั่นในช่วงที่กำลังจะข้ามพ้นไปสู่ภูมิแห่ง “โลกุตตระ” รวมทั้งเหตุการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาหลังจากค่ำคืนแห่งการรู้แจ้ง

 

“ท่านพระอาจารย์มั่นมีนิสัยผาดโผนมาดั้งเดิมนับแต่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ  แม้ขณะจิตจะเข้าถึงจุดอันเป็นวาระสุดท้ายก็ยังแสดงลวดลายให้องค์ท่านเองระลึกอยู่ไม่ลืม  ถึงกับได้นำมาเล่าให้บรรดาลูกศิษย์ฟังพอเป็นขวัญใจ  คือ  พอจิตพลิกคว่ำวัฏจักรออกจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังแสดงขณะเป็นลักษณะฉวัดเฉวียนเวียนรอบตัว วิวัฏฏจิตถึงสามรอบ

รอบที่หนึ่งสิ้นสุดลง แสดงบทบาลีขึ้นมาว่า ‘โลโป’  บอกความหมายขึ้นมาพร้อมว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้นคือการลบสมมุติทั้งสิ้นออกจากใจ

รอบที่สองสิ้นสุดลง แสดงคำบาลีขึ้นมาว่า ‘วิมุตติ’  บอกความหมายว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้นคือความหลุดพ้นอย่างตายตัว

รอบที่สามสิ้นสุดลง แสดงคำบาลีขึ้นมาว่า ‘อนาลโย’  บอกความหมายขึ้นมาว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้นคือการตัดความอาลัยอาวรณ์โดยสิ้นเชิง

... นี่คือธรรมที่แสดงในจิตท่านขณะแสดงลวดลายเป็นขณะสามรอบจบลง อันเป็นวาระสุดท้ายแห่งสมมุติกับวิมุตติทำหน้าที่ต่อกัน และแยกทางกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ...”[1]

 

เมื่อหลวงปู่มั่นทำลายสังสารวัฏลงได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ท่านก็ยังเล่าต่อไปอีกว่า  ขณะนั้นเหมือนโลกธาตุทั้งมวลบังเกิดความเลื่อนลั่นหวั่นไหว

เทวบุตรและเทวธิดาทั่วทั้งหมดนั้นต่างก็ประกาศก้องสาธุการ เสียงสะเทือนสะท้านไปทั่วทั้งจักรวาล ทั้งในคืนนั้นและคืนถัดมา  เหล่าเทพทั้งหลายต่างก็มาปรากฏกายเพื่อขอเยี่ยมคารวะและฟังธรรมเทศนา

 

“... ในคืนวันนั้น ชาวเทพทั้งหลายทั้งเบื้องบนชั้นต่างๆ ทั้งเบื้องล่างทุกสารทิศทุกทาง หลังจากพร้อมกันให้สาธุการประสานเสียงสำเนียงไพเราะเสนาะโสตจนสะเทือนโลกธาตุเพื่อประกาศอนุโมทนากับท่านแล้ว ยังพร้อมกันมาเยี่ยมฟังธรรมจากท่านอีกวาระหนึ่ง  แต่ท่านไม่มีเวลารับแขก เพราะภารกิจเกี่ยวกับธรรมขั้นสูงสุดยังไม่ยุติลงเป็นปกติ ...

... ในคืนต่อมา ชาวเทพทั้งหลายที่มีความหิวกระหายในธรรมได้พากันมาเยี่ยมท่านเป็นพวกๆ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างแทบทุกทิศทาง

ต่างพวกก็มาเล่าความอัศจรรย์แห่งรัศมีและอานุภาพแห่งธรรมของคืนวันนั้นให้ท่านฟังว่า  เหมือนสวรรค์วิมาน พิภพ ครุฑ นาค เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ทุกชั้นภูมิในแดนโลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหวไปตามๆ กัน พร้อมกับความอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนส่งแสงสว่างไปทั่วแดนโลกธาตุ ไม่มีอะไรปิดบัง  เพราะความสว่างไสวแห่งธรรมที่พุ่งออกมาจากกายจากใจของพระคุณเจ้ายิ่งกว่าความสว่างของดวงอาทิตย์ร้อยดวงพันดวงเป็นไหนๆ ...”[2]

 

[1] ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, หน้า ๑๒๗.

[2] ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, หน้า ๑๒๘-๑๒๙.

หลังจากเหตุการณ์ที่เทพทั้งหลายแวะเวียนกันเข้ามาเปล่งสาธุการและขอฟังธรรมเทศนาจากหลวงปู่มั่นแล้ว  หลวงตามหาบัวก็ยังเล่าถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นกรณีพิเศษด้วย[3]  เหตุการณ์ที่ว่านี้ก็คือ  ผู้ที่เป็น “คู่บารมี” ของหลวงปู่มั่นทุกภพทุกชาติได้เดินทางมาพบท่านหลังจากที่บรรลุธรรมแล้ว

หลวงปู่มั่นเล่าให้หลวงตามหาบัวฟังถึง “คู่บารมี” ท่านนี้ว่า  ตั้งแต่สมัยที่ภูมิธรรมของท่านยังไม่ถึงระดับพระอรหันต์  “คู่บารมี” นี้ได้แวะมาเยี่ยมท่านทางสมาธิภาวนาเสมอ  แต่ก็มาในรูปของ “ดวงวิญญาณ”  ไม่ปรากฏร่างกายให้เห็นเหมือนกับที่ภพภูมิอื่นๆ เขาเป็นกัน

เมื่อหลวงปู่มั่นถาม ดวงวิญญาณนั้นก็ตอบว่า  ที่ยังไม่ได้ไปเกิดในภพภูมิที่เป็นหลักแหล่ง เช่น โลกมนุษย์หรือแดนสวรรค์ แต่ยังคงวนเวียนอยู่ใน “ภพย่อย” ที่ละเอียดภพหนึ่งในระหว่างภพทั้งหลาย ก็เพราะว่ายังเป็นห่วงและอาลัยในตัวหลวงปู่มั่นอยู่

อีกทั้งยังกลัวว่าท่านจะหลงลืมความสัมพันธ์แต่หนหลังและความปรารถนา “พุทธภูมิ” ที่เคยตั้งไว้ร่วมกัน ประหนึ่งเป็น “คำสัญญา” ที่เคยมีต่อกันมานานแสนนานในสังสารวัฏอันไกลโพ้นนี้  (ซึ่งหลวงปู่มั่นก็บอกว่า บัดนี้ท่านได้ของดความปรารถนาในพุทธภูมิแล้ว และขอมุ่งมั่นปฏิบัติตนเพื่อพ้นทุกข์ให้ได้ในชาตินี้)

หลวงปู่มั่นเล่าว่า  ยามใดที่ดวงวิญญาณนี้มาพบ ท่านก็แสดงธรรมให้พอสมควร แล้วก็สั่งให้กลับไป และยังบอกอีกว่าอย่ามาบ่อย  แม้ว่าไม่อยู่ในวิสัยที่จะสร้างความเสียหายต่อกันได้แล้ว แต่ก็อาจเป็นเหตุให้การปฏิบัติล่าช้าได้  ซึ่งในครั้งสุดท้ายที่ดวงวิญญาณนี้มาพบเกิดขึ้นหลังจากที่หลวงปู่มั่นบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นเอง

ดวงวิญญาณกล่าวกับหลวงปู่มั่นในวันนั้นว่า  ในคืนที่ท่านตัดขาดภพชาติและทุกข์ทั้งปวงจนรู้กันไปทั่วทุกแห่งหนในโลกธาตุ  แต่แทนที่จะชื่นชมยินดีและอนุโมทนาสาธุการ ตนกลับรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าท่านทิ้งตนโดยไม่เหลียวแล

หลวงปู่มั่นจึงสนทนาโต้ตอบกับดวงวิญญาณนั้นด้วยความเมตตา  กระทั่งดวงวิญญาณเกิดความเข้าใจจนสามารถสลัดตนให้หลุดจากความห่วงหาอาลัย และลาจากไปในที่สุด

หลังจากนั้นไม่นาน ดวงวิญญาณนั้นได้กลับมาพบหลวงปู่มั่นอีกครั้ง  แต่คราวนี้เป็นการกลับมาในร่างของเทวดาผู้งามสง่าที่มาพร้อมกับความสำนึกซาบซึ้งในพระคุณของหลวงปู่มั่นว่า  เหตุที่ตนได้เสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นล้วนเป็นผลมาจากการที่หลวงปู่มั่นมักจะชักชวนให้สร้างบุญสร้างกุศลตลอดระยะเวลาที่ได้ครองคู่อยู่ร่วมภพชาติกันนั่นเอง

 

 

 

[3] ก่อนเล่าเรื่องนี้ หลวงตามหาบัวกล่าวว่า  แม้จะเป็นเรื่องภายในที่ “อาจารย์” กับ “ลูกศิษย์” บอกกล่าวต่อกันเป็นการส่วนตัว  แต่หลวงตามหาบัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการบรรลุธรรมของหลวงปู่มั่นด้วย  ถ้าข้ามไปก็อาจทำให้ขาดเรื่องที่จะเป็นข้อคิดแก่ผู้อ่าน.

นิพพานแล้วไม่สูญ

 

ปรากฏการณ์แห่งการเข้าถึงนิพพานของหลวงปู่มั่นตามคำบอกเล่าของหลวงตามหาบัวยังไม่จบแค่นั้น ...

ทั้งหลายทั้งปวงที่เล่ามาทั้งหมดนี้ว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์มากแล้ว  แต่ประสบการณ์ที่กำลังจะตามมาต่อไปนี้เป็นความอัศจรรย์ที่อัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก

เป็น “ความอัศจรรย์” ที่อยู่เหนือ “ความอัศจรรย์” อีกชั้นหนึ่ง

ชนิดที่เรียกว่าเป็นการท้าทายความเข้าใจในเรื่องสภาวะของ “นิพพาน” ตามจารีตที่เชื่อถือกันมาเลยก็ว่าได้

ต่อไปนี้คือ “ความอัศจรรย์เหนืออัศจรรย์” อันเป็นสิ่งที่หลวงตามหาบัวทรงจำมาจากคำบอกเล่าของหลวงปู่มั่น พระอรหันต์องค์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในยุคสมัยของเรา

 

เรื่องจริง! \"นิพพานแล้วไม่สูญ\" !! เมื่อ \"หลวงปู่มั่น\" พบ \"พระพุทธเจ้า\" ในคืนบรรลุอรหันต์

 

“... หลังจากท่านเดินทางมาถึงดินแดนวิมุตติแล้ว  คืนต่อมา มีพระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์สาวกจำนวนมากเสด็จมาอนุโมทนาวิมุตติธรรมกับท่านเสมอมิได้ขาด

คืนนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับสาวกบริวารเป็นจำนวนหมื่นเสด็จมาเยี่ยม  คืนนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับสาวกบริวารเป็นจำนวนแสนเสด็จมาเยี่ยม  คืนนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีสาวกบริวารเท่านั้นเสด็จมาเยี่ยมอนุโทนา

จำนวนพระสาวกที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาแต่ละพระองค์มีจำนวนไม่เท่ากัน  ทั้งนี้ ท่านว่าขึ้นอยู่กับวาสนาของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ไม่เหมือนกัน ...

... บรรดาพระสาวกจำนวนมากของแต่ละพระองค์ที่ตามเสด็จมานั้น มีสามเณรตามเสด็จมาด้วยครั้งละไม่น้อยเลย  ท่านสงสัยจึงพิจารณาก็ทราบว่า  คำว่า ‘พระอรหันต์’ ในนามธรรมนั้นมิได้หมายเฉพาะพระ  แต่สามเณรที่มีจิตบริสุทธิ์หมดจดก็นับเข้าในจำนวนอรหันต์สาวกด้วย ...”[4]

 

เมื่อพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหลายเสด็จมาแล้วก็ได้ประทานโอวาทและอนุโมทนากับหลวงปู่มั่นที่สามารถบรรลุนิพพาน หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ในโอกาสเดียวกันนั้น หลวงปู่มั่นได้กราบทูลถามว่า  ในเมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายและพระอรหันต์ทั้งหลายนิพพานแล้ว เหตุใดจึงเสด็จมาด้วยร่างกายในลักษณะเช่นนี้ได้

 

“... ท่านพระอาจารย์กราบทูลว่า  ข้าพระองค์ทราบพระตถาคตและพระอรหันต์อันแท้จริง ไม่สงสัย  ที่สงสัยก็คือ  พระองค์ทั้งหลายกับพระสาวกท่านเสด็จไปด้วย ‘อนุปาทิเสสนิพพาน’[5]  ไม่มีส่วนสมมุติเหลืออยู่เลย  แล้วเสด็จมาในร่างนี้ได้อย่างไร ?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งแม้มีความบริสุทธิ์ทางใจด้วยดีแล้ว แต่ยังครองร่างอันเป็นส่วนสมมุติอยู่  ฝ่ายอนุปาทิเสสนิพพานก็ต้องแสดงสมมุติตอบรับกัน  คือต้องมาในร่างสมมุติซึ่งเป็นเครื่องใช้ชั่วคราวได้

ถ้าต่างฝ่ายต่างเป็นอนุปาทิเสสนิพพานด้วยกันแล้ว ไม่มีส่วนสมมุติเหลืออยู่  ตถาคตก็ไม่มีสมมุติอันใดมาแสดงเพื่ออะไรอีก ...

ฉะนั้น  การพิจารณาและทราบได้ต้องอาศัยสมมุติเป็นหลักพิจารณา  ดังที่เราตถาคตนำสาวกมาเยี่ยมเวลานี้ก็จำต้องมาในรูปลักษณะอันเป็นสมมุติดั้งเดิม เพื่อผู้อื่นจะพอมีทางทราบได้ว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ และพระอรหันต์องค์นั้นๆ มีรูปลักษณะอย่างนั้นๆ  ถ้าไม่มาในรูปลักษณะนี้แล้ว ผู้อื่นใดก็ไม่มีทางทราบได้

เมื่อยังต้องเกี่ยวกับสมมุติในเวลาต้องการอยู่  วิมุตติก็จำต้องแยกแสดงออกโดยทางสมมุติเพื่อความเหมาะสมกัน ...”[6]

 

นอกจากโอวาทที่พระพุทธเจ้าแสดงเรื่องการสื่อสารสัมผัสกันระหว่าง “โลกสมมุติ” และ “โลกวิมุตติ” แล้ว  ในลำดับต่อมา เมื่อหลวงปู่มั่นเกิดความสงสัยในระเบียบแบบแผนปฏิบัติต่างๆ ของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลว่าเป็นเช่นใด  พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่งก็จะปฏิบัติให้ดู  เช่น  การเดินจงกรมควรจะวางมือ ก้าวเดิน หรือสำรวมตนอย่างไร  การนั่งสมาธิควรนั่งอย่างไร ควรหันหน้าไปในทิศใด  ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการแสดงความเคารพกันตามหลักอาวุโสนั้น หลวงปู่มั่นได้เล่าไว้เป็นข้อคิดสำคัญว่า  ขณะที่ท่านนึกอยากทราบว่า  ในสมัยพุทธกาล เหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายปฏิบัติต่อกันอย่างไรในแง่ของความอาวุโสก่อนหลัง

จากนั้นไม่นาน พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหนุ่มและชรา ตลอดจนสามเณร ก็เสด็จมากันมากมาย  แต่มาถึงไม่พร้อมกัน  ผู้ที่มาถึงก่อน แม้จะเป็นสามเณรองค์น้อยๆ ก็ได้นั่งลงก่อนและอยู่ข้างหน้าพระ  ส่วนผู้ที่มาทีหลัง แม้จะแก่ชราก็ต้องนั่งอาสนะด้านหลัง

ยิ่งกว่านั้นก็คือ  การที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมื่อใดก็จะประทับลงในที่นั้น โดยมิได้ประทับในอาสนะที่ควรประทับในฐานะแห่งองค์ประมุข

เมื่อหลวงปู่มั่นเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นก็เกิดความสงสัย  แต่พลันนั้นเอง “ธรรม” ก็ผุดขึ้นในใจท่าน ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกยังมิได้แสดงโอวาทใดๆ

 

“... นี่คือ ‘วิสุทธิธรรม’ ล้วนๆ ไม่มีสมมุติเข้าเจือปนเลย จึงไม่มีกฎข้อบังคับหรือระเบียบใดๆ มาเกี่ยวข้อง  ที่แสดงอย่างนี้แสดงเรื่องวิสุทธิธรรมที่เป็นความเสมอภาคทั่วกัน  ไม่นิยมว่าอ่อน ว่าแก่ ว่าสูง ว่าต่ำ อันเป็นเรื่องของสมมุติ

นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงอรหันต์สาวกองค์สุดท้าย จะเป็นพระหรือเณรไม่จำกัด มีแต่ความเสมอภาคกันด้วยความบริสุทธิ์  ท่านแสดงบุคลาธิษฐานในลักษณะนี้เป็นเครื่องบอกถึงความบริสุทธิ์ของกันและกันว่า ไม่มีใครยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ...”[7]

 

เมื่อธรรมที่ผุดขึ้นในจิตนั้นสิ้นสุดลง หลวงปู่มั่นก็พิจารณาต่อไปอีกว่า  แล้วเช่นใดหนอคืออาการที่ท่านแสดงออกถึงความเคารพกันในทางสมมุติ

พลันที่ความสงสัยนั้นดับไป ภาพของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกซึ่งเดิมทีนั้นนั่งกันอยู่อย่างไร้ระเบียบก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นว่า พระพุทธเจ้าได้เปลี่ยนมาประทับในฐานะองค์ประมุขอยู่ด้านหน้าเหล่าสาวก สามเณรองค์น้อยก็ย้ายกลับไปอยู่ด้านหลังสุด  เป็นภาพที่มีระเบียบเรียบร้อย งามตา น่าศรัทธาเลื่อมใส

ขณะนั้นเอง ธรรมก็ผุดขึ้นในใจของท่านอีกว่า  นี่คือธรรมเนียมประเพณีของพระสงฆ์ในยุคพุทธกาลที่ปฏิบัติต่อกัน  ท่านใดที่อ่อนพรรษา แม้จะเป็นถึงพระอรหันต์ก็ยังต้องเคารพในความอาวุโสของสมมุติสงฆ์ที่แก่พรรษากว่า

เมื่อธรรมที่ผุดขึ้นในใจของหลวงปู่มั่นสิ้นสุดลงอีกครั้ง พระพุทธเจ้าก็แสดงโอวาทเรื่องความเคารพและความเสมอภาคกันในทางธรรม ก่อนที่จะเสด็จอันตรธานหายไป

 

 

 

[4] ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, หน้า ๑๓๗.

[5] “อนุปาทิเสสนิพพาน” หมายถึง นิพพานของพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตแล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับ “สอุปาทิเสสนิพพาน” หรือ นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่.

[6] ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, หน้า ๑๓๗.

[7] ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, หน้า ๑๔๑.

 

เรียบเรียงโดย ปัญญาญาณ จากหนังสือ

เรื่องจริง! \"นิพพานแล้วไม่สูญ\" !! เมื่อ \"หลวงปู่มั่น\" พบ \"พระพุทธเจ้า\" ในคืนบรรลุอรหันต์