- 11 ก.พ. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ http://www.tnews.co.th
ปัจจุบัน วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระสงฆ์และประชาชนประกอบพิธีต่างๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล
จาตุรงคสันนิบาต
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถามหาปทานสูตร ระบุว่าหลังจากพระพุทธเจ้าเทศนา "เวทนาปริคคหสูตร" (หรือทีฆนขสูตร) ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฎ จบแล้ว ทำให้พระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผล จากนั้นพระองค์ได้เสด็จทางอากาศไปปรากฏ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วทรงประกาศโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุจำนวน 1,250 รูป โดยจำนวนนี้เป็นบริวารของชฏิลสามพี่น้อง 1,000 รูป และบริวารของพระอัครสาวก 250 รูป
การประชุมสาวกครั้งนั้นประกอบด้วย "องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ" คือ
1. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3
2. พระภิกษุทั้ง 1,250 องค์นั้น ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3. พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา 6
4. พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน เพราะพระพุทธเจ้าประทาน "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ด้วยพระองค์เอง
ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 ดังกล่าวแล้ว
ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)
มีผู้เข้าใจผิดว่าเหตุที่พระสาวกทั้ง 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน
แต่ความคิดนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะพระศิวะเป็นเทพที่ชาวฮินดูเริ่มบูชากันในยุคหลังพุทธกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. 800 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ในพระไตรปิฎกเอง พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นที่ประจักษ์เพื่อปราบทิฐิมานะในกาลอันเหมาะสมอยู่หลายคราว และยังมีข้อยืนยันอีกมากมายที่ระบุว่า พระองค์ทรงเป็น สัพพัญญูผู้มีพุทธานุภาพครบทุกด้าน
ส่วนพระสงฆ์สาวกที่มาประชุมกัน 1,250 นั้น ต่างก็เป็นพระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นผู้มีอภิญญาญาณ นั่นคือ มีความรู้พิเศษที่เกิดจากการเจริญจิตตภาวนา มี ๖ อย่างด้วยกัน ได้แก่
๑.อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น คนเดียวเนรมิตเป็นหลายคน เดินทะลุกำแพงได้ ฯลฯ
๒.ทิพพโสต คือฟังเสียงที่ไกลออกไปก็ได้ ได้ยินเสียงทิพย์อีกมิติหนึ่งก็ได้
๓.เจโตปริยญาณ รู้ใจผู้อื่น อ่านใจผู้อื่นออกว่าเขาคิดอะไร เขาต้องการอะไร
๔.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติได้
๕.ทิพพจักขุ คือตาทิพย์ สามารถแลเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นไปต่างๆ กันเพราะอำนาจแห่งกรรม
๖.อาสวักขยญาณ รู้จักทำกิเลสให้สิ้น
ดังนั้น การเรียกพระสงฆ์ที่กระจัดกระจ่ายอยู่บนดินแดนอันกว้างไกล ในยุคที่ไม่มีโทรศัพท์ และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มาชุมนุมกันฟังเทศนาธรรมครั้งสำคัญ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดหากพระองค์และเหล่าสาวก จะใช้อภิญญาญาณในการสื่อสาร เพราะถือเป็นคุณวิเศษที่มีอยู่แล้วในตัวของพระองค์และเหล่าสาวกทั้งหลาย เพื่อวันสำคัญ และธรรมะอันสำคัญดังกล่าว จะได้เผยแพร่ไปตั้งแต่บัดนั้น ...
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ ก็เพื่อให้พระสาวกทั้งหลาย ทั้งปัจจุบันและอนาคต ได้มีหลักอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการปฏิบัติและเผยแผ่ธรรมในทางพระพุทธศาสนา เป็นมาตรฐานอันเดียวกันขึ้นไว้ ประดุจเป็นหัวใจพระพุทธศาสนานั้นเอง
ข้อมูลอ้างอิง : วิกิพีเดีย
ข่าว : ไญยิกา เมืองจำนงค์ (ทีมข่าวปัญญาญาณ ทีนิวส์)