- 23 ก.พ. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ http://www.tnews.co.th
บ้านร้างริมแม่น้ำที่ทั้งสวย ทั้งน่าสะพรึงกลัว ถูกทิ้งให้สภาพภายนอกดูเก่าและทรุดโทรม ซึ่งบ้านแห่งนี้เคยมีรายการทีวีจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 บ้านผีสิงที่น่ากลัวที่สุด ... บ้านที่ชาวบ้านเรียกันสั้นๆ ว่า “บ้านเขียว”
บ้านร้างที่ชาวบ้านร่ำลือกัน ว่าวันดีคืนดีจะเห็นเจ้าของบ้านและบริวารอยู่กันคึกคักเต็มบ้าน บ้างก็ได้ยินเสียงเพลงแว่วมาในยามดึกลอยออกมาจากบ้านร้างสภาพน่ากลัวนั้น
เหตุที่ทำให้บ้านหลังนี้ ถูกรื้อข้อมูลขึ้นมาเล่ากันอีกครั้งนั้น สืบเนื่องจากกรณีที่ น.ส.ฟอริดา เมืองโคตร หรือน้องกุ้งนาง วัย 18 ปี กับเพื่อนอีก 3 คนพากันเที่ยวที่บ้านเขียวขุนพิทักษ์ ที่ ต.อมฤต อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบ้านที่มีคำล่ำลือว่ามีวิญญาณเฮี้ยนจนเป็นที่โด่งดัง โดยการเดินทางไปของน้องกุ้งนางทั้งสองครั้ง เนื่องจากอยากรู้ว่ามีวิญญาณจริงหรือไม่ ในครั้งที่สองน้องกุ้งนางได้ไปเตะถาดบายศรีที่วางอยู่อย่างไม่ตั้งใจ และเมื่อกลับมาบ้านปรากฏว่าเกิดล้มป่วยหนัก หมดเรี่ยวแรง และยังได้ยินเสียงคนมาเรียกทุกคืน บางครั้งก็เห็นคนแก่มานั่งอยู่ด้วย ทำให้ร่างกายของน้องกุ้งนางซูบผอมลงไปเรื่อยๆ และเสียชีวิต !? ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องลึกลับหรือไม่ แต่เหตุการณ์นี้ มันยิ่งทำให้บ้านท่านขุน เป็นที่กล่าวขวัญ เกี่ยวกับความน่ากลัว มากยิ่งขึ้นไปอีก !!!
ทั้งนี้ “ริว จิตสัมผัส” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิญญาณ จากรายการคนอวดผี ก็ได้ทำการสื่อวิญญาณและสรุปเพื่อให้น้องกุ้งนางและญาติๆ ได้แล้วว่าวิญญาณในบ้านเขียวนั้นมีอยู่จริง แต่อาการเจ็บป่วยดังกล่าวไม่เกี่ยวกับวิญญาณใน “บ้านเขียว” แต่อย่างไร
นอกจากนั้น ยังเคยได้พาน้องกุ้งนางไปไหว้ขอขมาวิญญาณเพื่อความสบายใจอีกด้วย
เปิดตำนานบ้านเขียว ของขุนพิทักษ์บริหาร
จากนั้นข้อมูลของบ้านเขียวก็เป็นที่สนใจจากสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่ทางทีมข่าวได้ยกมานำเสนอดังนี้
สมัยรัชกาลที่ ๕ ขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช) เป็นนายแขวงเสนาใหญ่ คือ อำเภอผักไห่ในปัจจุบัน (เคยเข้ารับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ด้วย) ภรรยา คือ นางจ่าง มิลินทวนิช ขุนพิทักษ์ฯ เป็นเจ้าของกิจการเรือสองชั้นที่เรียกว่าเรือเขียว ซึ่งเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ (มีจำนวน 10 กว่าลำ) รับส่งผู้โดยสารระหว่างผักไห่-ท่าเตียน กรุงเทพฯ และผักไห่-ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ จึงทำให้การค้าขายบริเวณนี้ เจริญรุ่งเรือง (เมื่อมีการทำประตูทดน้ำในแม่น้ำเรือจึงไม่สามารถแล่นได้ ประกอบกับถนนหนทางเจริญขึ้นกิจการเดินเรือจึงเลิกไป)
คุณยายสมพร มิลินทวนิช อายุ ๗๘ ปี และคุณยายอุดมวรรณ มิลินทวนิชอายุ ๘๐ ปี สองพี่น้องซึ่งเป็นหลานสาว(หลานตา)ของขุนพิทักษ์ฯ แต่ใช้นามสกุลของตา (เป็นบุตรนายเติมกับนางทองคำโดยนางทองคำเป็นลูกสาวคนโตของขุนพิทักษ์) ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ ๕๖๓ ซอยลาดพร้าว ๑๓๐ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ เล่าว่าขุนพิทักษ์ฯเกิดที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา ส่วนภรรยา (นางจ่าง)เป็นคนอำเภอผักไห่
สมัยตนเป็นเด็กบ้านของตนเป็นแพอยู่ริมน้ำหน้าบ้านขุนพิทักษ์ฯ ตนผูกพันกับบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เด็ก วิ่งขึ้นลงคลุกคลีกับคนในบ้านมาตลอด หลังจากยกให้หลวงแล้วตนกลับมาดูบ้านหลังนี้ทุกปี เนื่องจากมีที่นาและญาติพี่น้องอยู่ที่อยุธยา แต่หลายปีหลังนี่ไม่ได้มา
เหตุที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บ้านเขียว” เพราะเดิมทาสีเขียวเนื่องจากขุนพิทักษ์เกิดวันพุธ
ที่มาของโซ่ตรวนในบ้านเขียว
สิ่งที่ทวีความหลอนให้เพิ่มมากขึ้นคือ ภายในห้องแยกมี “ห่วงเหล็ก” เส้นผ่าศูนย์กลางเหล็ก ๑ นิ้วตรึงอยู่กับพื้นมุมห้อง หนังสือพิมพ์ชื่อดังบางฉบับลงว่า พบ”ห่วงข้อเท้า” ติดตรึงอยู่กับพื้นบ้าน
ทำให้เป็นส่วนเสริมจินตนาการได้อย่างดีว่านี่คือห่วงโซ่ตรวนที่มีไว้ล่ามทาสผู้กระทำผิดเหมือนในละคร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทายาทของบ้านดังกล่าวเปิดเผยว่า ห่วงเหล็กที่ว่า ใช้สำหรับล็อกโซ่ล่ามกำปั่นสมบัติ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีธนบัตร อีกทั้งในยุคที่สร้างบ้านหลังนี้ ก็ได้มีการเลิกทาสไปเรียบร้อยแล้ว
ข้อมูลจาก :สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอผักไห่
ไญยิกา เมืองจำนงค์ (ทีมข่าวปัญญาญาณ ทีนิวส์)