- 10 มี.ค. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
พระพุทธรัตนสถาน ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางของพระบรมมหาราชวังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกขาว น้ำใสบริสุทธิ์ที่ช่างเรียกว่า เพชรน้ำค้างหรือบุษย์น้ำขาว ซึ่งได้อัญเชิญมาจากนครจำปาศักดิ์ เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เดิมประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ ณ พระพุทธรัตนสถานปัจจุบัน ได้แก่ พระอุโบสถ หอระฆัง ศาลาโถง ๒ หลัง และเสาโคมประทีป
ภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ด้านในสุดเป็นฐานชุกชีทำด้วยงาช้างแกะสลักโดยช่างจีน รองรับบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย เพดานเป็นไม้จำหลักลวดลาย รวมทั้งดาวเพดานปิดทองประดับกระจกโดยฝีมือช่างชาวจีน โดยพื้นเพดานของห้องทั้งหมด ๕ ห้อง คั่นด้วยขื่อลงรักปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกัน ภาพจิตรกรรมฝาผนังแบ่งเป็นสองตอนคือ พื้นที่เหนือช่องพระบัญชรตอนบนเป็นภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับประวัติของพระพุทธบุษยรัตน์เขียนขึ้นในรัชกาลที่ ๔ และพื้นที่ตอนล่างระหว่างช่องพระบัญชรเป็นภาพเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชภูมิพลอดุลยเดชที่เขียนขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๐๔
(ภาพ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยและพระบรมราชาธิบายแบบภาพร่างจิตรกรรมพระพุทธรัตนสถาน เมื่อคณะศิลปินของกรมศิลปากรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ครั้งที่ ๑ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรวาดจิตรกรรมแบบไทยประเพณีตามแนวพระราชดำริ บนฝาผนังของพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง การนี้สืบมาจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปในงานสมโภช วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ได้ทอดพระเนตร ลายดอกพุ่มข้าวบิณฑ์บนจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน ทรงทราบว่ากรมศิลปากร สามารถคัดลอก และอนุรักษ์ของเดิมไว้ได้ เคลื่อนย้ายถอดลอกเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยวิธีการอนุรักษ์ทั้งผืนเป็นแผ่นใหญ่จากผนังด้านหน้าย้ายไปผนังด้านหลังของพระพุทธปฏิมาประธาน ส่วนผนังด้านอื่นเขียนขึ้นใหม่
(ภาพ : ภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสในครั้งนั้นว่า ถ้าสามารถทำเช่นนี้ได้ ขอให้กรมศิลปากรไปลอกจิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถานที่เขียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๔ ออก เพื่ออนุรักษ์ไว้และติดตั้งในที่เหมาะสม แล้วเขียนใหม่ให้มีลักษณะศิลปกรรมสอดคล้องกับภาพจิตรกรรมตอนบน เช่น น้ำ ก็ให้เป็นละลอกแบบช่างโบราณเขียน เรือก็ให้มีธงทิวปัก หรือจะเขียนพระราชประวัติก็ให้มีลักษณะเหมือนจริง ฉลองพระองค์สวมอย่างเช่นที่ทรงในปัจจุบัน แต่ให้เป็นสองมิติตามลักษณะภาพไทย
(ภาพ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีศรีสังวาลย์)
กรมศิลปากรได้น้อมรับพระราชกระแสมาดำเนินการ เริ่มงานตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๖ – ๒๕๔๗ โดยได้รับพระราชทานแนวทางการดำเนินงาน และพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องต่าง ๆ เป็นลำดับจนงานแล้วเสร็จ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพอย่างสูงด้านจิตรกรรม ตลอดจนพระราชประสงค์ที่จะรักษาแบบแผนดั้งเดิมและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องอันเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง
(ภาพ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวจีนบริเวณสำเพ็ง จิตรกรรมช่องที่ ๖)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมศิลปากร ธำรงรักษาแบบอย่างการเขียนของช่างโบราณ ทั้งในลักษณะของศิลปกรรมและการใช้สี ให้คำนึงถึงเนื้อหาสาระของประวัติศาสตร์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยให้เน้นเหตุการณ์สำคัญแต่ละรัชกาลที่จะเขียน ณ พระพุทธรัตนสถาน เช่นการฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ในรัชกาลที่ ๗ และการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพระราชกระแสรับสั่งให้ช่างระมัดระวังในรายละเอียดอื่นๆอีกคือ
“รูปฝาผนังแบบเดิมเป็นคลาสสิค จะไม่เขียนรายละเอียดตามหน้าคน เขียนใหม่ต้องทำเหมือนจริง ( Stylized ) เป็นจิตรกรรมสมัยใหม่ ๒ มิติ มีการตัดเส้น”
“เรื่องเสื้อผ้าก็เป็นปัญหา แต่ถ้าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ไม่เป็นไร เป็นไปตามจริง”
“อย่างการเขียนน้ำ ให้เป็นแบบจิตรกรรมประเพณี”
จินต์จุฑา สำนักข่าวทีนิวส์รายงาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมศิลปากร