- 14 พ.ย. 2567
ชวนเที่ยวจังหวัดน่าน แนะนำ5 ที่เที่ยว"น่าน"หลีกหนีความวุ่นวายในเมือง สัมผัสกับชีวิตที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ รวมทั้ง แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม
จังหวัดน่าน อีกหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือที่มีเสน่ห์ทั้งธรรมชาติและกลิ่นอายของศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำน่าน ถือเป็นจุดหมายยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายเติมพลังกับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ กับ ที่เที่ยวน่าน เช่น ดอยเสมอดาวในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านแบบดั้งเดิม แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งวัดวาอารามต่างๆ อาทิ วัดภูมินทร์ ชมจิตรกรรม “ปู่ม่าน ย่าม่าน”ภาพกระซิบบันลือโลก หรือ วัดพระธาตุแช่แห้ง เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะเลือกเที่ยวแบบไหน เสน่ห์ของเมืองน่านก็จะทำให้นักท่องเที่ยวหลงใหลตราตรึงใจไปอีกนาน
1. วัดพระธาตุแช่แห้ง
พระบรมธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองน่าน ตั้งอยู่ในตำบลม่วงตึ๊ด เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ในบริเวณที่เคยเป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว วัดพระธาตุแช่แห้งสร้างในสมัยพญาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่าน พ.ศ. 1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ชาวล้านนาเชื่อว่าหากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิด จะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง
2.วัดภูมินทร์
อยู่ริมถนนผากอง ตำบลในเวียง อยู่ใกล้กับวัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร เพื่อชมจิตรกรรม “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ซึ่งเป็นภาพหญิงชายชาวไทลื้อสมัยโบราณอันทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์จนได้รับการขนานนามว่าเป็นภาพกระซิบบันลือโลก
ภาพจิตรกรรม หรือ “ฮูปแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แสดงเรื่องชาดก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และตำนานพื้นบ้านของชาวเมืองน่าน ภาพปู่ม่านย่าม่าน นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสมบูรณ์ หาดูได้ยาก และเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของวัดภูมินทร์
นอกจากนี้ วัดภูมินทร์ยังเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือบานประตูแกะสลักทั้งสี่ทิศ เป็นไม้สักทองแผ่นเดียว หนาประมาณ 4 นิ้ว แกะเป็นลวดลายพรรณพฤกษา เครือเถา ดอก ใบ เกาะเกี่ยวกันอย่างอ่อนช้อย ซึ่งเป็นฝีมือสกุลช่างเมืองน่าน
3.หมู่บ้านสะปัน
หมู่บ้านสะปัน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา มีลำน้ำสองสายไหลผ่าน และมาบรรจบกัน คือ ลำน้ำว้าและลำน้ำสะปัน บางครั้งจึงเรียกกันว่า “สบปัน” และกลายมาเป็น “สะปัน” ในช่วงหน้าฝน ฤดูทำนา จะมองเห็นนาข้าวเขียวขจี ภายในหมู่บ้านมีวัดสะปัน สร้างโดยเจ้าพ่อพญาติ๋น เป็นวัดเก่าแก่อายุหลายร้อยปีที่ชาวบ้านให้ความเคารพและศรัทธามาก นอกจากนี้ยังมีน้ำตกสะปัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของหมู่บ้าน เป็นน้ำตก 3 ชั้น มีน้ำตลอดทั้งปี
4.อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอในจังหวัดน่าน คือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสันติสุข และอำเภอแม่จริม ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคาประกอบด้วยป่า 6 ประเภท ได้แก่ ป่าดงดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนธรรมชาติ และทุ่งหญ้า เป็นแหล่งของพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์และพรรณไม้เฉพาะถิ่น ได้แก่ ต้นชมพูภูคา (Bretschneidera sinensis Hemsl)
- จุดชมต้นชมพูภูคา
ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก ที่เข้าถึงง่ายที่สุดอยู่ริมถนน ห่างจากที่ทำการฯ ไป 5 กิโลเมตร เส้นทางศึกษาธรรมชาติชมพูภูคา จัดไว้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอกชมพูภูคา มีทั้งเส้นรอบใหญ่ ระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 3 ชั่วโมง และเส้นทางรอบเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจะพบพันธุ์ไม้ที่หายากและพันธุ์เฉพาะถิ่นสมุนไพร
- เทือกเขาดอยภูคา
ประกอบด้วยแนวภูเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปลายเทือกเขาหิมาลัย โดยมียอดภูคาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดน่าน สูงถึง 1,980 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว และลำน้ำว้า บริเวณนี้เดิมเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนจะเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองผืนใต้ทะเลเลื่อนเข้าหากัน น้ำทะเลใต้ดินระเหยไป เหลือเพียงสินแร่เกลือ ดังที่พบใน อำเภอบ่อเกลือ
5.กำแพงเมืองน่าน
สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ถือเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเมืองน่าน เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองน่าน
เชื่อว่าในอดีตตัวกำแพงมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาวประมาณ 3,600 เมตร สูง 3.80 เมตร และกว้าง 2.50 เมตร ตัวกำแพงทางทิศตะวันออกทอดตัวไปตามลำน้ำน่าน มีประตูชัยซึ่งเป็นประตูที่เจ้าผู้ครองนครและเจ้านายฝ่ายในใช้ในการเสด็จทางชลมารคสู่พระนครรัตนโกสินทร์
ทิศใต้ มีประตูเชียงใหม่และประตูท่าลี่ สำหรับให้ราษฎรที่อยู่ในเมืองและนอกเมืองไปมาหาสู่กันได้ ปัจจุบันกำแพงที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มีความยาวเพียง 25 เมตร สูง 5 เมตร เท่านั้น เป็นแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ บริเวณถนนมหาวงศ์เชื่อมต่อกับถนนอนันตวรฤทธิเดช