- 23 มี.ค. 2560
รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งปาฏิหาริย์ http://www.tnews.co.th
“วัด” คือสถานที่สำหรับแสวงหาความสงบและปัญญา ส่วน “พระสงฆ์” ก็คือผู้ที่ปฏิบัติธรรมและหยิบยื่นธรรมะให้แก่ผู้คน ในขณะเดียวกันก็อาศัยแรงสนับสนุนจากฆราวาสในด้านปัจจัยสี่เพื่อให้พระสงฆ์ทำหน้าที่นั้นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
ที่ศาสนาพุทธดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะ “พระ” กับ “ชาวบ้าน” ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน และแบ่งหน้าที่กันอย่างเป็นสัดเป็นส่วนนั่นเอง
แต่ทุกวันนี้ ภาพแห่งการพึ่งพาอาศัยกันเช่นนั้นดูจะเปลี่ยนไปมาก วัดหลายแห่งสามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาญาติโยมรอบวัด ในขณะที่พระสงฆ์จำนวนหนึ่งก็กลายเป็นผู้สร้างผลผลิตทางวัตถุชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นไปเพื่อความมั่งคั่ง วัดซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่สมควรจะวุ่นวายกับเรื่องทางโลกกลับต้องมาทำตัวประหนึ่งบริษัทค้าขาย โดยมีพระสงฆ์เป็นบุคลากร
เรื่องนี้หากเกิดกับพระสงฆ์แค่ไม่กี่รูปก็คงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่เมื่อมันลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ จนกินเข้าไปถึงระบบ เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ นำไปสู่วิกฤติด้านการละเมิด “พระธรรมวินัย”
มิหนำซ้ำ ฆราวาสที่สมควรจะเป็นแรงสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ของพระก็กลับกลายมาเป็นพวกฉกฉวยโอกาสจากวิกฤติการละเมิดพระวินัยของพระมาเป็นช่องทางกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัว จนกระทั่งสร้างความเสียหายให้กับพระศาสนาและสังคมอย่างน่าสลดใจ
ปัญหาด้านการละเมิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ดังกล่าวนี้กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ จนในที่สุดสังคมก็เกิดการตื่นตัว ชาวพุทธที่รักและไม่ต้องการให้ใครมาทำลายพระศาสนาได้ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพระและวัดที่ละเมิดพระธรรมวินัยกันมากขึ้น
เช่นเดียวกับ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่หลายปีมานี้เขาได้ให้ความสนใจที่จะตรวจสอบความไม่ถูกต้องในวงการสงฆ์อย่างจริงจัง ทั้งกรณีวัดพระธรรมกายและวัดอื่น ๆ อีกมากมาย จนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูปวงการพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม
ไพบูลย์ นิติตะวัน ให้สัมภาษณ์ “ไทยพับลิก้า” ว่า เขาหันมาสนใจเรื่องวงการพระพุทธศาสนาโดยมีจุดเริ่มต้นจากสมัยเป็น ส.ว. เมื่อปี ๒๕๕๓ ว่า
ไพบูลย์ นิติตะวัน
“ตอนนั้นในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภา ผมได้พูดในประเด็นของกฎหมายก็เลยพูดว่า พระภิกษุณีน่าจะถือเป็นนักบวชได้ แต่ประเด็นนี้ทางคณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับ มีคำสั่งทั้งสมเด็จพระสังฆราชในสมัยก่อน ทั้งมหาเถรสมาคม (มส.) ก็ยืนยัน โดยมีมุมมองทางพระวินัยว่าภิกษุณีสาบสูญไปแล้ว
ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะไปอะไรกับมหาเถรสมาคม ไม่รู้จักด้วย แต่ผมมองในข้อกฎหมายว่า ถ้าคณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับ แต่ว่าสิทธิในการนับถือ การปฏิบัติในนิกายอื่นใด ความเชื่อทางศาสนา เขาก็ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นคณะสงฆ์อื่นไป ตอนนั้นผมมีประเด็นนี้ก็เลยบอกว่าหาทางออกให้เป็นคณะสงฆ์อื่น มันจะได้จบ
แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้น มหาเถรสมาคมไม่พอใจมาก ไปออกเป็นมติมหาเถรสมาคม สั่งห้ามไม่ให้พระจากต่างประเทศเข้ามา ถ้าจะเข้ามาต้องขออนุญาตเขา แล้วสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดบวชภิกษุณีในประเทศไทยทั้งๆ ที่เขาไม่ได้บวชโดยคณะสงฆ์ไทย แต่บวชตามความเชื่อของเขา โดยมีพระสงฆ์จากต่างประเทศเป็นผู้บวชให้ในประเทศไทย แล้วก็สั่งกระทรวงการต่างประเทศให้งดวีซ่า ไม่ให้เข้า ตรวจตราวีซ่า สั่งนั่นสั่งนี่ มันเกินกว่าอำนาจของมหาเถรสมาคม เพราะมหาเถรสมาคมมีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะสงฆ์ไทย ดูแลคณะสงฆ์ไทย ภิกษุไทย จะไปดูแลภิกษุอื่นไม่ได้ ไปยุ่งกับภิกษุอื่นก็ไม่ได้ รวมทั้งไปยุ่งกับสันติอโศกก็ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ แต่ออกคำสั่งเกินกว่าอำนาจที่ตัวเองมี
ผมก็มองในแง่กฎหมายว่าเป็นปัญหาเรื่องการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของมหาเถรสมาคมในปี ๒๕๕๗ แต่ก็พยายามช่วยเหลือผู้ที่เชื่อในเรื่องภิกษุณี ทั้งอุบาสก อุบาสิกา รวมทั้งภิกษุณีที่บวชมาแล้ว มีจำนวนเป็นร้อยรูป
ขณะที่ผมโต้แย้งประเด็นนี้ มหาเถรสมาคมอ้างเหตุผลเรื่องหลักพระธรรมวินัยในการห้ามเรื่องนี้ โดยบอกว่าตามหลักของพระธรรมวินัยทำไม่ได้ ผมก็แถลงข่าวไปว่า ถ้ามหาเถรสมาคมยึดมั่นในหลักพระธรรมวินัยจริง ทำไมไม่ห้ามเรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุรับเงิน ซึ่งเป็นหลักของพระธรรมวินัยด้วย ทำไมทำเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ทำเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นหลักสำคัญด้วย ผมพูดในตอนนั้นว่า เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าเงินเป็นอสรพิษของพระภิกษุ
พอพูดเรื่องนี้ ผมก็เลยเริ่มศึกษาลงลึกเรื่องหลักพระธรรมวินัยในประเด็นนี้มากขึ้น ก็ยิ่งเห็นความเละเทะในวงการคณะสงฆ์ คือล่วงละเมิดพระธรรมวินัยข้อนี้กันมาก หลายองค์ไม่เป็นนะ เป็นส่วนน้อย แต่ภิกษุทั้งหมดทุกระดับชั้น สมเด็จราชาคณะต่าง ๆ พระปกครอง วัด เจ้าอาวาส มีปัญหากันไปหมด ผมก็เลยสนใจเรื่องนี้”
ไพบูลย์เล่าต่อว่า ในขณะที่กำลังสนใจปัญหาดังกล่าวก็มีประเด็นเรื่อง “ธุดงค์ธรรมชัย” “วัดพระธรรมกาย” และปัญหาเรื่องการเงินของวัดมากมาย จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา” สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อจะมาดูเรื่องพระธรรมวินัยในส่วนของการจัดการทรัพย์สินวัด
การประชุมนัดแรกก็วางนโยบายว่าจะทำเรื่องอะไรบ้างในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เพราะได้ยินเรื่องร้องเรียนมาจากประชาชนเกี่ยวกับเรื่องเงินวัดที่ไม่โปร่งใสและเรื่องพระภิกษุที่ไปทำมาหากิน ทำพุทธพาณิชย์ สะสมเงินทอง ผิดพระธรรมวินัย
กรณีที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ “พระธัมมชโย” กับ “วัดพระธรรมกาย” คณะกรรมการฯ จึงนำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา แม้จะมีวัดอื่น ๆ และพระภิกษุจำนวนมากที่ทำเช่นนั้น แต่กรณีของพระธัมมชโยกับวัดพระธรรมกายจะโดดเด่นมาก
และเรื่องที่ทำให้กรณีพระธัมมชโยมีปัญหาชัดเจนก็คือเรื่องพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวรฯ เกี่ยวกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย จึงให้เจ้าหน้าที่ติดต่อไปว่า การประชุมครั้งที่สองให้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมมาร่วมประชุม แล้วให้นำพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวรฯ มาด้วย เพื่อจะประชุมเรื่องนี้ และประชุมเรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา
ในการประชุมครั้งที่สองจึงมีการนำพระลิขิตซึ่งเป็นเอกสารราชการและมีการรับรองถูกต้องมานำเสนอ กรรมการฯ ตรวจเอกสารแล้วก็พบว่าพระลิขิตดังกล่าวนั้นถูกต้อง ไม่ได้เป็นของปลอมอย่างที่เล่าลือกัน เพราะมีการรับเรื่องเข้าไปในมหาเถรสมาคม มีการประชุมและมีมติไปแล้ว และรับรองดำเนินการตามพระลิขิตนี้ให้ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยพระธรรมวินัยแล้ว โดยมหาเถรสมาคม กรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า ถ้าอย่างนั้นพระลิขิตนี้ถูกต้อง มันก็ต้องมีผล เมื่อมีผล พระธัมมชโยก็ต้องสึกไปแล้ว ต้องปาราชิกไปแล้ว แต่ทำไมยังเป็นพระอยู่ คำถามนี้จึงถูกถามออกไปสู่สังคม ประเด็นนี้จึงกระพือขึ้นมา
ไพบูลย์อธิบายต่อว่า โดยข้อกฎหมายแล้ว มหาเถรสมาคมเป็นหน่วยงานของรัฐ ตั้งโดยกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม่ได้ตั้งโดยพระธรรมวินัย ซึ่งเมื่อตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตั้งโดยกฎหมาย ทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการเถรสมาคมก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองก็เท่ากับกระทำผิดตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ปรากฏว่าทางนั้นก็โวยวาย ทั้ง ๆ ที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์เขียนไว้ตอนท้ายอยู่แล้วว่า สังฆาธิการทั้งหมดถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดออกมา สังคมไทยก็ตื่นตัวและมีการตรวจสอบมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวรฯ
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่สาม ไพบูลย์เห็นว่ามีประเด็นเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจึงถามสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าไปถึงไหนแล้ว ปปง. ก็รายงานว่าตรวจสอบแล้ว มีเช็คจ่ายให้พระธัมมชโยเป็นเงินเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็เข้าข่ายทำให้สมาชิกสหกรณ์เสียหาย และต้องเรียกคืนเงิน แต่กระนั้นก็มีข่าวว่าเรียกคืนไม่ได้เพราะวัดเป็นที่ธรณีสงฆ์ กรณีนี้ไพบูลย์กล่าวว่า
“ผมก็บอกว่าไม่จริงหรอก ธรณีสงฆ์ยึดไม่ได้จริง แต่เงินในบัญชีแสดงออกมาแล้ว พระธัมมชโยท่านยังเหลือเงินอยู่สามร้อยล้าน วัดพระธรรมกายเหลืออีกตั้งหลายร้อยล้าน ก็อายัดเงินในบัญชีเอามาจ่ายให้สหกรณ์ ธรณีสงฆ์มีอยู่ร้อยกว่าไร่ อันนั้นไปยึดไม่ได้จริง แต่บัญชีเงินฝากยึดได้ ส่วนที่ที่เหลือสองพันกว่าไร่ไม่ใช่ชื่อวัด เป็นชื่อมูลนิธิ (มูลนิธิธรรมกาย) ดังนั้น เมื่อเป็นชื่อมูลนิธิก็อายัดได้ อยู่ในข่ายบังคับคดี ก็แถลงออกมา”
นั่นคือการเปิดประเด็นเรื่องสหกรณ์ฯ คลองจั่น
เกี่ยวกับปัญหาเรื่องวัดนั้น ไพบูลย์อธิบายว่า วัดเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แต่กลับไม่มีการทำระบบบัญชีที่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีและมีผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบเหมือนกับนิติบุคคลทุกแห่งในประเทศไทย เพราะนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ สมาคม บริษัท บริษัทมหาชน กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจทั้งหมด ล้วนเป็นนิติบุคคลทั้งหมด ไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงการทำบัญชีได้ ต้องทำบัญชีอย่างถูกต้องและมีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง
ส่วนพระภิกษุชั้นปกครอง กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล แล้วก็เจ้าอาวาส เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีเขียนไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์
ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ว่า
“นิติบุคคลเดียวที่ยังไม่ต้องทำบัญชีเลยคือวัด ได้รับอภิสิทธิ์จากความกลัวทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่กล้ายุ่งกับพระ เช่น ป.ป.ช. ไปตีความว่าไม่ได้หมายรวมพระ ว่าพระไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามนิยามกฎหมาย ป.ป.ช. และ ป.ป.ช. ก็ไม่รับเรื่อง ถ้ามีร้องเรียนว่าพระไปทุจริตคอร์รัปชันต่าง ๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบ”
ในกรณีของศาลปกครองก็เช่นกัน คือไม่รับวินิจฉัยเรื่องทางปกครองของสงฆ์ เช่น เมื่อเจ้าอาวาสถูกแกล้งโดยเจ้าคณะภาค หรือพระในวัดถูกแกล้งโดยเจ้าอาวาส หรือการย้ายเจ้าอาวาสไม่เป็นธรรม หรือการย้ายเจ้าคณะจังหวัดไม่เป็นธรรม ศาลปกครองก็ยกคำร้อง โดยบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของมหาเถรสมาคม และถือว่าคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งทางการปกครอง
สิ่งเหล่านี้ก็คือที่มาของการที่สังคมไทยจะเป็นนิติรัฐแบบมียกเว้นอภิสิทธิ์ชน
ไพบูลย์วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ผลจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งกำหนดให้มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการคณะสงฆ์ไทย ทำให้การปกครองสงฆ์มีปัญหามาจนถึงทุกวันนี้
“ปี ๒๕๐๕ พอประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ สงฆ์ก็ผูกขาดอำนาจแล้วก็ว่ากันเอง ผลก็คือสงฆ์ฝ่ายอลัชชีก็ขึ้นมามีอำนาจเต็มไปหมด
สมัยสมเด็จพระญาณสังวรเป็นสมเด็จพระสังฆราช ท่านก็เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่ว่ากรรมการมหาเถรสมาคมก็ยังเป็นพระที่มีผลประโยชน์กันไปหมด สุดท้ายท่านก็อาจจะจัดการได้ในปี ๒๕๓๘ จัดการสึกพระยันตระได้ แต่หลังจากนั้น ปี ๒๕๔๒ ก็กลายเป็นว่าท่านไม่เข้าประชุมมหาเถรสมาคมอีกต่อไป เพราะว่าท่านรู้ว่ามันไปไม่ไหวแล้ว
หลักฐานที่แสดงว่าการปกครองสงฆ์มีปัญหาต้องกลับไปดูตอนปี ๒๕๔๒ สมเด็จพระญาณสังวรฯ บอกให้เห็นแล้วว่าไปไม่ไหวแล้ว เป็นแต่เรื่องผลประโยชน์ เป็นแต่เล่นพรรคพวกกัน ไม่คำนึงถึงพระธรรมวินัย
ฉะนั้น ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ มาถึงปี ๒๕๕๙ เราก็หมิ่นเหม่ที่จะพังเสียหายหนักกว่าเก่า แต่สุดท้ายเราก็ยังสามารถเข้มแข็งพอที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่มีวัตรปฏิบัติที่ดีขึ้นมาได้อีกครั้ง”
นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์มีตำแหน่งคณะปกครองสงฆ์กันเป็นแท่ง ๆ ลงไปแบบโบราณ เหมือนระบบราชการ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ มีอำนาจแต่งตั้งอะไรกันต่าง ๆ เรียกว่ามีระบบเดี่ยว คนคนเดียวหรือพระรูปเดียวมีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินการ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เพราะพระพุทธเจ้าให้การจัดการเรื่องอธิกรณ์หรือการปกครองดูแลทั้งหลายต้องดำเนินการโดยคณะสงฆ์เป็นคณะ
ไพบูลย์เล่าให้ฟังว่า
“ตอนหลัง พระจำนวนมากเป็นฆราวาสที่เห็นช่องทางทำมาหากิน ถ้าไปบวชเป็นพระแล้วมีรายได้ดี คนก็เคารพกราบไหว้ด้วย เลยไปปลอมบวช พวกนี้ก็จะมองช่องทางทำมาหากิน วัดไหนมีผลประโยชน์เยอะ ๆ ก็อยากจะไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ก็ไปซื้อตำแหน่ง เอาเงินไปให้เจ้าคณะจังหวัดเพื่อให้ได้ตำแหน่งมา ก่อนหน้านั้นหลายแสน แต่ตอนหลังหลักล้านถ้าวัดมีรายได้ดี
หรือเจ้าคณะจังหวัดซึ่งมีอำนาจตั้งคนใกล้ชิดไปกินเมือง ไปกินวัดนั้นวัดนี้ เสร็จแล้วก็ส่งผลประโยชน์มาเพื่อตัวเองจะรวบรวมแล้วเอาไปจ่ายในการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปอีก มันก็เลยวิบัติกันไปหมดทั้งระบบ
ระบบการได้มาซึ่งการแต่งตั้งพระปกครองนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มาเพราะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่มาเพราะมีอามิสสินจ้าง ถ้าเป็นฆราวาส เช่น บางองค์กรที่ขึ้นชื่อในเรื่องคอร์รัปชัน เราก็ด่าเลวอยู่แล้ว ต้องปฏิรูปกัน แต่เรื่องพระหนักกว่าอีก
ดังนั้น ปัญหาใหญ่คือมีคนจำนวนหนึ่งเข้าไปอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ทำมาหากิน โดยอ้างว่าตัวเองเป็นพระ แล้วคนเหล่านี้กลไกของกฎหมาย กลไกของโครงสร้าง ทำให้เขาเป็นผู้มีอำนาจ ...
การปกครองสงฆ์ให้สงฆ์ปกครองกันเองได้ แต่ต้องมีส่วนร่วมกันหมด ให้เหมือนกับประชาธิปไตยสงฆ์ ธรรมาธิปไตยสงฆ์ ไม่ใช่ให้ผูกขาดอำนาจอย่างนี้ แล้วพระภิกษุทั่วไปหรือพระภิกษุที่ดี ๆ ก็ไม่ถูกรังแก”
ส่วนเรื่องแนวทางปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนานั้น ไพบูลย์กล่าวว่า
“ถ้าเราไปพูดว่าปัญหาเป็นยังไง เราควรจะแก้ปัญหายังไง มันไม่มีวันเป็นรูปธรรม เหมือนการที่เราพูดเรื่องปฏิรูปเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่เป็นรูปธรรมก็พูดกันไป ต่อให้มีเอกสารหนาเท่าไหร่ก็ไม่เป็นรูปธรรม ทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมได้...มีอย่างเดียวคือต้องออกเป็นร่างกฎหมาย”
กฎหมายที่ร่างไว้นั้นก็คือ “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ” โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้บัญชีวัดเปิดเผยและทำให้เงินของพระเป็นเงินของวัด
สาระสำคัญของกฎหมายการจัดการทรัพย์สินวัดฯ ในนิยามก็คือ จะต้องอยู่ในรูปของคณะกรรมการวัด มีเจ้าอาวาส มีพระในวัด ฯลฯ ส่วนทรัพย์สินของวัดให้หมายรวมถึงทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยวัดหรือเกี่ยวเนื่องกับวัดด้วย ถ้ากฎหมายนี้มีมาก่อนหน้านี้หรือมีหลังจากนี้ก็ตาม มูลนิธิธรรมกายจะต้องเป็นทรัพย์สินของวัด เพราะเป็นการตั้งด้วยศรัทธาของผู้คนที่มีต่อวัดพระธรรมกาย
ส่วนทรัพย์สินของพระภิกษุหมายถึงเงินและทรัพย์สินอื่นใดของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเป็นสมณเพศ
ไพบูลย์ตั้งข้อสังเกตว่า ในหมวดที่ ๑ เรื่องการจัดการทรัพย์สินของวัด มาตรา ๖ จะเห็นว่า เจ้าอาวาสเป็นประธานคณะกรรมการ รองเจ้าอาวาส ภิกษุที่สังกัดอยู่ในวัดเลือกกันเองสองรูปเพื่อความโปร่งใส ให้ภิกษุมีส่วนร่วม ไวยาวัจกรหนึ่งคน อุบาสก-อุบาสิกาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในถิ่นนั้นประเภทละสามคน (รวมเป็นหกคน) รวมเป็นคณะกรรมการวัด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารวัด แต่งตั้งผู้สอบบัญชี วางระเบียบเกี่ยวกับวัดให้สอดคล้องกับระเบียบหรือตามกฎหมาย
มาตรา ๘ ให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินวัดจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินของวัดตามหลักการบัญชีตามมาตรฐานสากล ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบแสดงฐานะทางการเงิน งบรายได้ค่าใช้จ่าย และงบกระแสเงินสดทั้งรายเดือนและรายปี ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีตรวจสอบและรับรองงบบัญชี และให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของวัดส่งงบบัญชีให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบภายใน ๑๒๐ วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี และที่สำคัญคือ “ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนในท้องถิ่นที่วัดตั้งอยู่”
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องเปิดเผยบัญชีที่ได้รับตามวรรค ๒ ต่อสาธารณะ (กรณีนี้ต้องลงในอินเทอร์เน็ตเพื่อสืบค้น เหมือนกับบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งสามารถตรวจสอบได้)
การจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดและการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของวัดตามวรรค ๑ หรือการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดในลักษณะอื่น หรือข้อยกเว้นวัดที่ไม่เข้าข่ายที่ต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด เช่น ทรัพย์สินไม่พอ จำนวนคนไม่พอ หรือวัดร้าง สิ่งเหล่านี้ก็มีเขียนไว้แล้ว
ส่วนการจัดการทรัพย์สินของพระภิกษุ มาตรา ๑๐ ที่เขียนว่า "ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างที่อยู่ในสมณเพศให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่" นั้นก็เป็นหลักการที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย คือไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ แต่ให้พระภิกษุที่ได้ทรัพย์สินมาตามวรรค ๑ ใช้จ่ายทรัพย์สินได้ตามความจำเป็นเพื่อการดำรงสมณเพศ เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของพระพุทธศาสนา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น
มาตราที่สำคัญที่สุดก็คือมาตรา ๑๒ “พระภิกษุจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินของตนตามมาตรา ๑๐ ซึ่งก็คือทรัพย์สินที่ตัวเองได้มา ให้คณะกรรมการจัดการวัดที่ตนสังกัดทราบทุกปี”
“เช่น สมเด็จช่วงมีเงินอยู่เท่าไหร่ก็ต้องแจ้ง เพราะเป็นของวัด ต้องแจ้งว่าท่านมีไว้อยู่ ก็จะไปปรากฏอยู่ในบัญชีวัด ทรัพย์สินวัดมีอยู่เท่านี้ ทรัพย์สินที่ถืออยู่ในชื่อผู้อื่นก็คือภิกษุชื่อนี้ เป็นจำนวนเท่านี้ แล้วผู้สอบบัญชีก็ต้องเซ็นรับว่าจริง แล้วต้องตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แล้วเปิดเผยพร้อมบัญชีวัด บัญชีวัดไม่ได้เปิดเผยเฉพาะทรัพย์สินวัดอย่างเดียว เปิดเผยบัญชีพระภิกษุไปด้วย โดยกฎหมายฉบับนี้ พอบัญชีโปร่งใสก็จะมองออกเลยว่า จริง ๆ เงินในศาสนามีเท่าไหร่ อยู่ในวัดเท่าไหร่ ภิกษุถืออยู่เท่าไหร่ สำนักพระพุทธฯ เวลาจะช่วย วัดรวยจะตายอยู่แล้วไปช่วยทำไม ทำไมไม่ช่วยวัดที่ยากจน
วันนี้ปัญหาเกิดจากกฎหมาย ปัญหาเกิดจากกฎหมายก็ต้องแก้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมาย เพราะเราอยู่ในโลกของนิติรัฐ โลกยุคนี้ทุกอย่างต้องมีกฎหมายหมด
นี่คือกฎหมายที่ร่างขึ้นมา มันเสียตรงไหน...เรื่องจัดการทรัพย์สินวัดในกฎหมายฉบับนี้ ทำให้โปร่งใส และล่าสุดผมเพิ่งบอกผ่านสื่อว่ารัฐบาลต้องทำวัดอื่น ๆ ด้วย เพราะปัญหาเรื่องทรัพย์สินวัดที่ไม่โปร่งใส ปัญหาเรื่องพระที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย โดยเฉพาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ มีทั้งประเทศเป็นจำนวนมาก
ถ้าท่านเล่นไปทำเฉพาะพระธัมมชโย เฉพาะวัดพระธรรมกาย ท่านต่างหากจะถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ จงใจจะแกล้งพระธัมมชโยกับวัดพระธรรมกาย ฉะนั้น ท่านต้องทำทุกวัดเพื่อความเป็นธรรม”
ส่วน “พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ” ก็คือ การตีความพระธรรมวินัย การปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์ มีอยู่ในกฎหมายนี้ทั้งหมด สาระสำคัญก็เช่น มาตรา ๑๖ คือให้สภาพุทธบริษัทแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะ และให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์เพื่อให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย นอกจากนี้ยังศึกษา วิเคราะห์ ให้ความเห็นในปัญหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหรือคำสอนที่ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์พระธรรมวินัยที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อเผยแผ่แก่พุทธศาสนิกชน
ไพบูลย์กล่าวว่า
“ผมไม่ได้ตั้งเป้าว่าร่างกฎหมายสองฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือมีการรับไปพิจารณาหรือไม่ แต่ที่ผมสนใจมากกว่าคือ สังคมตื่นตัวเรื่องนี้ไหม และสนใจร่วมกันผลักดันไหม ถ้าสนใจร่วมกันผลักดันแล้วตื่นตัวขึ้นมา รัฐบาลนี้ก็อาจจะเอาไปทำ แต่ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ทำ รัฐบาลหน้าก็จะทำ มันอยู่ที่สังคม ถ้าหากสังคมไม่ตื่นตัว ไม่สนใจ แล้วหวังว่าให้รัฐบาลนี้ทำ เป็นไปไม่ได้ แล้วหวังว่ารัฐบาลหน้าจะทำก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เสียงตัดสินคือประชาชน
ก่อนหน้านั้นผมก็ไม่อยากพูดเรื่องนี้มากเพราะจะไปกระทบเรื่องวัดพระธรรมกาย เรื่องพระธัมมชโย เพราะมีกระแสเอาไปปั่นเยอะ แต่ตอนนี้จบแล้ว แล้วเราจะไปตอบเรื่องพระธัมมชโยกับวัดพระธรรมกายได้อย่างไร เขาก็หาว่าเราเลือกปฏิบัติ ทำแต่พระธัมมชโย ตรวจสอบเฉพาะท่านรูปเดียว ตรวจสอบวัดพระธรรมกายวัดเดียวอย่างนั้นหรือ มันไม่ใช่ เราต้องการตรวจให้เกิดความถูกต้องทั้งประเทศ วัดที่มีปัญหาทั้งประเทศ ภิกษุที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยทั้งประเทศ มีอยู่กี่รูปไม่รู้ วัดไม่รู้มีกี่แห่ง ก็ต้องดำเนินการ แต่ไม่ใช่วัดเดียวหรือพระรูปเดียว”
ส่วนประเด็นว่าฆราวาสที่บริจาคเงินให้พระเป็นจำนวนมาก ไพบูลย์มองว่าเป็นสิทธิ์ของฆราวาส แต่ถ้าพระไม่รับ หรือถ้าพระบอกว่าไม่ถูกต้อง ฆราวาสก็ต้องหยุด ดังนั้นจะไปโทษฆราวาสไม่ได้
เรื่องนี้ก็มีคนพยายามจะบิดเบือนให้กลายเป็นว่าพระไม่ผิด อ้างว่าพระท่านไม่ได้อยากรับ แต่ท่านขัดศรัทธาไม่ได้ ทั้งที่ในพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า ถ้าญาติโยมให้ พระต้องรับเพราะขัดศรัทธาไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า “เงินเป็นอสรพิษของสงฆ์ ... เงินคืออสรพิษของพระภิกษุ” พระองค์เห็นภัยของการที่พระภิกษุมีเงินอยู่แล้วจึงได้วางกฎเกณฑ์ไว้
“พระธัมมชโยมีคดี พังพินาศเพราะเงินใช่ไหม แล้วพระทั้งหลายเรื่องเงินทั้งนั้น ตอนนี้อาจยังไม่มีเรื่อง แต่มีแล้วมันก็ไปหมด ถ้าท่านคิดว่าท่านอยากได้เงิน อยากร่ำรวยมีเงินมาก แต่ไม่อยากเปิดเผย ท่านก็สึกไปซะ จะทำให้ศาสนาดีขึ้น”
ไพบูลย์กล่าวย้ำว่า
“ผมมีหลักคิดของผมว่า วัดที่มีอยู่แล้วก็มีไป แต่ว่าหลักใหญ่แล้ว อะไรที่ท่านอยู่ในพระธรรมวินัย ท่านจะต้องสมถะ ละแล้วซึ่งวัตถุทั้งหลาย ไม่ต้องไปก่อสร้างอะไรให้มันเหนื่อยให้มันยาก มันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับท่านถ้าท่านจะปฏิบัติธรรมจริง ๆ
แต่ที่ท่านทำเพราะว่าหลักเกณฑ์การจะให้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นนั้นชั้นนี้ ต้องไปสร้างวัตถุสามสิบล้านถึงได้เลื่อนชั้นขึ้น อันนี้เป็นความเลวร้ายที่สุดที่ไปกำหนดอย่างนี้ ไปมองเป็นเคพีไอว่า สร้างวัตถุขึ้นมาจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนา มีเจดีย์ใหญ่ ๆ ... พระพุทธเจ้าห้ามไว้แล้ว
ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งจิตใจ อยู่ในใจ การปฏิบัติคือการปฏิบัติที่ตัวใครตัวมันอยู่แล้ว แต่ท่านเล่นไปเข้ารกเข้าพงเลยมีปัญหา”
--------------------------------------------------------
ที่มา : http://thaipublica.org/2017/03/paiboon-nititawan/
ณัฐวุฒิ แจ๊ดสูงเนิน / สำนักข่าวทีนิวส์ : รายงาน