- 23 มี.ค. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
วัดขุนอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง
มีพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนองค์สำคัญองค์หนึ่งชื่อพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล ประดิษฐานที่วัดขุนอินทประมูล ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง องค์พระนอนนี้มีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์สวยงาม ดูสงบร่มเย็น ความยาวขององค์พระวัดตั้งแต่พระยอดมาลาจนถึงปลายพระบาทมีความยาวถึง 50 เมตร (25 วา) เป็นอันดับสองของประเทศ
วัดขุนอินทประมูลหรือชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า วัดขุนอิน เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันได้ชำรุดทรุดโทรมไปมาก ซึ่งเราสามารถคาดคะเนขนาดของวัดได้จากซากแนวอิฐเดิมที่หลงเหลือ ว่าแต่เดิมวัดขุนอินทประมูลน่าจะเป็นวัดใหญ่ นั้นหมายถึงได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์
ใครที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง ล้วนนิยมมากราบไหว้สักการะองค์พระนอนที่วัดขุนอิน เมื่อเดินเข้ามาในเขตวัด ก็จะเห็นตัวองค์พระนอน ประทับอยู่นอกอาคาร ตากแดด ตากฝน ตากลม ส่วนองค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก มีความศักดิสิทธิ์และเพื่อเป็นสิริมงคลติดตัวกลับบ้าน
แต่เดิมนั้น องค์พระนอนประดิษฐานในวิหารขนาดใหญ่ที่สร้างมาแต่สมัยสุโขทัย ต่อมาบ้านเมืองเกิดศึกสงครามจนถึงสมัยเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง วัดแห่งนี้ถูกทำลายและเผาจนวิหารเสียหายทั้งหลัง เหลือรอดแต่องค์พระนอนที่เป็นปูน อยู่ตากแดด ตากฝนมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี
เรามาย้อนรอยสืบตำนานการสร้างวัดและพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูลว่าเริ่มต้นก่อสร้างกันตั้งแต่เมื่อไร ตามประวัติวัด วัดแห่งนี้เริ่มก่อสร้างสมัยสุโขทัยที่ราชธานี หลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงสิ้นพระชนม์ พระยาเลอไทพระราชโอรสองค์โตของพ่อขุนรามคำแหง ได้เสวยพระราชสมบัติปกครองสุโขทัย
จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช 1843 พระยาเลอไท เสด็จประพาสทางชลมาร์คพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร ทรงมีพระประสงค์เสด็จเพื่อนมัสการพระฤาษีทัตตะทิกะ ที่วัดเขาสมอคอน เมืองละโว้ ทั้งนี้เพราะดาบสตนนี้เป็นพระอาจารย์ของพระราชบิดาและของพระยาเลอไทด้วยเช่นกัน
พระยาเลอไททรงพักค้างแรมที่วัดเขาสมอคอนเป็นเวลา 3 เพลา หลังจากนั้นก็เสด็จเดินทางเรือหรือชลมาร์ค โดยมีพระประสงค์จะดูชีวิตของพสกนิกร วิถีชีวิตของชาวบ้าน ขบวนเรือเข้าสู่ลำแม่น้ำน้อย ท่องเรือดูบรรยากาศธรรมชาติของชาวบ้านสมัยก่อนที่ยังเลี้ยงวัวควาย แต่จำนวนชาวบ้านสมัยนั้นยังไม่มากเหมือนในปัจจุบัน ขบวนเรือที่ประทับล่องเรือเข้าสู่ลำท่าแดง แล้วเข้าสู่หมู่บ้านบางพลับ ซึ่งก็ใกล้เวลาพลบค่ำ ไม่เหมาะกับการเดินทาง จึงทรงตัดสินพระทัย จะพักค้างแรมที่ริมน้ำ
เมื่อมองสำรวจพื้นที่ริมแม่น้ำ ก็เห็นมีสถานที่แห่งหนึ่งเหมาะสมกับการตั้งค่ายพักเล็กเพื่อค้างแรม สถานที่แห่งนี้จะเป็นเนินสูง โคกร้าง ไม่มีบ้านเรือนชาวบ้านมาปลูกสร้าง เนื่องจากสถานที่นี้เป็นโคกเนินสูงที่สุดในแถบนี้ ที่น้ำท่วมไม่ถึง เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ปีใดที่มีน้ำหลากมากกว่าทุกปี ทำให้น้ำท่วมที่นาไร่ ไม่มีพื้นที่แห้งให้สัตว์เลี้ยง พวกวัว ควาย ได้พักอาศัย ชาวบ้านละแวกนี้จึงนิยมพาวัวควายมาอาศัยที่นี้เพื่อหนีน้ำท่วม
ครั้นเลือกทำเลชัยภูมิเหมาะสม บรรดาข้าราชบริพารจึงสร้างพากันลงจากเรือ เพื่อสร้างพลับพลาที่ประทับ พระยาเลอไทเสด็จเข้าที่ประทับที่พลับพลา ทรงบรรทม และในราตรีนั้น พระองค์ทรงสุบินนิมิตว่า ทรงเห็น ดวงแก้วสุกสว่างไสวลอยจากที่บรรทมของพระองค์ไปทิศตะวันออก เมื่อทรงตื่นยามเช้า ให้เหล่าปุโรหิตที่ติดตามมาให้ทำนายสุบินนิมิต เหล่าปุโรหิตและข้าราชบริพารกราบบังคมทูลว่า สุบินนิมิตหรือความฝันที่พระองค์ฝันนั้น เป็นฝันที่ดี เป็นนิมิตหมายที่ดี
เพราะดวงสว่างที่เห็นในฝันนั้น อาจจะเป็นพระบรมธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จแสดงปาฏิหาริย์ให้พระเจ้าแผ่นดินได้ทราบก็ได้ ซึ่งเหล่าข้าราชบริพารได้มีความคิดเห็นตรงกันว่า พระยาเลอไทควรจะสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นอนุสรณ์ว่าเคยเสด็จมาประทับค้างแรมยังสถานที่แห่งนี้ เมื่อพระยาเลอไทรับฟังก็ดำริสร้างเป็นพระพุทธไสยาสน์
แทนที่พระยาเลอไทจะทรงสร้างวัดเพียงพระองค์เดียว กับทรงมีพระมหากรุณาโปรดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในมหาบุญครั้งนี้ ทรงมอบให้เหล่าข้าราชบริพารป่าวประกาศให้พสกนิกรได้รับทราบและมีส่วนร่วมด้วย ครั้นเมื่อข่าวกระจายออกไปชาวบ้านแถบลำน้ำเกือบจะทั้งหมดราว 600 คน ซึ่งถือเป็นคนจำนวนมากในช่วงเวลานั้น ต่างเดินทางมาร่วมสร้างพระพุทธไสยาสน์ วิธีการสร้างสมัยโบราณไม่ได้หล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ แต่จะจัดสร้างด้วยอิฐดินเผา ดังนั้นชาวบ้านจึงแบ่งงานเป็นแผนกๆ ดังนี้
- แผนก ขุดดิน
- ปั้นโอ่ง
- ก่อสร้างเตาเผาอิฐ
การสร้างสมัยก่อน จะใช้ดินที่ขุดมาปั้นเป็นโอ่งขนาดแตกต่างกันไป ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง โดยที่โอ่งเหล่านี้จะแทนโครงสร้างด้านในของพระพุทธรูป เอาโอ่งที่มีขนาดแตกต่างกันมาตั้งซ้อนเรียงกันตามลักษณะของพระพุทธรูปจนถึงเบื้องพระบาท ดังนั้นแกนกลางของพระพุทธไสยาสน์องค์นี้จึงเป็นโอ่งดิน ใช้เวลานั้นสิ้น 6 เดือนจึงสร้างแล้วเสร็จ ครั้นสร้างพระพุทธไสยาสน์เสร็จเรียบร้อย พระยาเลอไททรงตั้งพระนามของพระพุทธไสยาสน์ว่า “พระพุทธไสยาสน์ลือไทนฤมิต” ซึ่งพระนามขององค์พระนอนมาจาก “การที่พระยาเลอไท ทรงสุบินนิมิต” นั้นเอง ก่อนจะเสด็จกลับทรงแต่งตั้งทาส 4 คนเพื่อดูแลวัดและองค์พระนอน
ต่อมาไม่นาน..สุโขทัยเสื่อมอำนาจ และอยุธยาเรืองอำนาจขึ้นมาแทน ทำให้เมื่อขาดการทะนุบำรุงดูแลพระพุทธไสยาสน์จึงเกิดชำรุดทรุดโทรมเพราะองค์พระมีแกนทำจากดินเผา ระหว่างที่อยุธยาเรืองอำนาจได้ทำศึกสงครามกับพม่าเสมอมา จนกระทั่งเราเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง วัดและพระพุทธไสยาสน์ลือไทนฤมิต ที่พระยาเลอไททรงสร้างก็ถูกเผาระหว่างเกิดสงคราม จนวิหารที่ครอบองค์พระ อุโบสถได้เสียหายจนเหลือแค่เศษซากอิฐเก่า พอให้มองออกมาที่นี้เคยเป็นอาณาเขตวัดมาก่อน โชคดีที่องค์พระรอดมาได้จนถึงสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือที่เรียกกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครองราชย์องค์ที่ 33 ของอโยธยา
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้แต่งตั้ง ท่านขุนอินทประมูล ชาวบ้านตำบลบางพลับ ให้เป็นข้าราชการกินตำแหน่ง เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีหน้าที่เก็บภาษีอากรส่งมอบให้ท้องพระคลังหลวง ตามประวัติท่านขุนอิน มีภรรยาเป็นคนไทยชื่อแม่นาค ส่วนท่านขุนอินมีเชื้อสายจีนชื่อเส่ง ก่อนหน้าที่จะรับราชการนั้น มีอาชีพเดิมอยู่แล้ว ประกอบอาชีพ แล้วเก็บหอมรอมริบ มีเงินมากพอสมควร
ท่านขุนอินแต่งงานอยู่กินกับแม่นาคมานานหลายสิบปี ก็ยังไม่มีบุตรสาวหรือบุตรชายสักคน ตลอดชีวิตของท่านขุนอิน เป็นผู้มีศรัทธาในพระศาสนา ถือศีล เข้าวัดเป็นประจำอยู่เสมอ จนกระทั่งมีอยู่คราวหนึ่งขุนอินได้ฟังพระธรรมเทศนาซึ่งได้แสดงธรรมว่า การที่ใครแต่งงานแล้วไม่สามารถมีทายาทบุตรสืบตระกูลได้นั้น โดยเฉพาะบุตรชายที่จะออกบวชเพื่อเรียนพระพุทธศาสนาและเป็นการตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ เพื่ออาศัยผ้าเหลืองของพระลูกชายพาขึ้นสวรรค์
ซึ่งหากปราศจากบุตรชายจะทำให้พ่อแม่ตกนรกขุมที่ชื่อว่า ปุตรตะ พอท่านขุนได้ฟังเช่นนั้นก็น้อยเนื้อต่ำใจมาก เพราะเรื่องไร้ทายาทนี้ เป็นเรื่องอาภัพทางจิตใจของท่าน
เมื่ออายุมากขึ้นปราศจากบุตรหลานสืบตระกูล ท่านขุนอินจึงเอาเงินที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต เอามาทนุบำรุงพระพุทธศาสนา ถือศีลมาตลอด เคร่งครัดในเบญศีลอย่างมาก ตลอดเวลาที่อาศัยเติบโตในเขตตำบลบางพลับ ก็เห็นว่าองค์พระนอนนั้นชำรุดทรุดโทรม จึงมีความคิดจะซ่อมแซมปฏิสังขรพระพุทธไสยาสน์ จะสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าในชาตินี้ครั้งหนึ่งนั้น ท่านขุนเคยมีโอกาสไปพบกับพระพุทธศาสนา
ท่านขุนอินเริ่มต้นสร้างพระอุโบสถพร้อมกับเจดีย์ด้านหลังก่อน ครั้นสร้างเสร็จได้บรรจุวัตถุมงคลต่างใส่ไว้ ยังมีเงินเหลือจำนวนหนึ่ง จึงปรึกษาหารือกับชาวบ้านว่าจะซ่อมแซมองค์พระพุทธไสยาสน์ที่ชำรุดทรุดโทรม ชาวบ้านทั่วไปได้เห็นว่าท่านขุนอินนั้นมีความตั้งใจการสร้างพระอุโบสถ พระเจดีย์ ครั้นทราบว่าท่านขุนอินจะบูรณะองค์พระนอนที่ชาวบ้านศรัทธา จึงต่างแห่แหนมาช่วย ใครที่มีเงินก็ช่วยออกเงิน ใครที่ไม่มีเงินก็ออกแรง ช่วยขุดดิน เผาดิน โดยไม่ต้องเสียเงินว่าจ้างแรงงาน
ปรากฏว่าข่าวการสร้างวัด และซ่อมบูรณะองค์พระนอนของท่านขุนอิน เข้าถึงหูของเจ้าแขวงเมืองวิเศษไชยชาญทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าบรมโกศ มีความสงสัยว่าท่านขุนอิน ได้ทำการทุจริตฉ้อราชบางหลวง เอาเงินมาทนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้รับหนังสือ จึงรับสั่งให้สมุหกลาโหมเดินทางไปเพื่อไต่สวน เมื่อสอบถามแล้วท่านขุนอินไม่ยอมรับว่ายักยอกเงินหลวง แต่คณะสอบสวนไม่เชื่อว่าท่านขุนอิน มีเงินจำนวนมากจนสร้างวัดและซ่อม แม้ท่านขุนอินจะบอกว่า มีชาวบ้านจำนวนมากมาช่วยบริจาคทรัพย์ พร้อมช่วยเป็นแรงงาน ท่านสมุหกลาโหมไม่เชื่อ จึงสั่งให้โบยตีเป็นชุด ชุดละ 30 ที เนื่องจากท่านขุนอินมีอายุมากถึง 70 ปี จึงไม่สามารถรับการโบยตีได้ ทำให้สังขารเต็มไปด้วยบาดแผล แต่ก็ไม่ยอมรับว่าตนเองยักยอกทรัพย์ ทำให้ก่อนที่จะเสียชีวิตลง ท่านได้กล่าวไว้ว่า ข้าขุนอินทประมูล เป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับเบี้ยหวัดหลวง บ้านที่ดินพระราชทาน จึงขอเทิดพระเกียรติของพระเจ้าอยู่หัวด้วย การทนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างพระอุโบสถ เจดีย์และซ่อมแซมพระนั้น ก็เพื่อจะเสริมบารมีพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ในที่สุดท่านขุนอินก็สิ้นชีวิตเพราะสังขารทนพิษบาดแผลไม่ไหว พระสมุหกลาโหม เดินทางกลับเข้ากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้งพระองค์ทรงทราบความ ก็เสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดนำทองคำ 100 ชั่งเป็นพระเกศมาลาของพระพุทธไสยาสน์ และทรงสร้างซ่อมแซมวิหารที่ชำรุดทรุดโทรม หลังกรุงศรีแตกครั้งที่หนึ่ง จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อของพระพุทธไสยาสน์ให้เป็น พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูลนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
วัดขุนอินทประมูลและพระนอน พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล กลายเป็นวัดโบราณสำคัญที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่เริ่มสร้างวัดสมัยพระยาเลอไท ทำให้มีพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา อาทิ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมาเมื่อ พ.ศ. 2296 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในปี พ.ศ. 2221 และ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9เสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินต้นในปี พ.ศ.2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518
ที่มา sites.google.com ขุนอินทประมุล