- 10 เม.ย. 2560
รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งปาฏิหาริย์ http://www.tnews.co.th
หลายวันก่อนที่มีข่าวว่า วัดทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม จังหวัดนครปฐม ได้จัดพิธีบรรพชาสามเณรีรุ่นที่ ๑๘ ซึ่งมีอาคันตุกะจากต่างประเทศหลายท่านได้ให้เกียรติมาร่วมในพิธีนั้น แขกสำคัญท่านหนึ่งที่ชาวพุทธไทยควรจะทำความรู้จักกันสักหน่อยก็คือ “พระอาจารย์อานันทะ”
พระอาจารย์อานันทะเป็นพระภิกษุชาวอินเดีย เหตุผลที่ท่านเดินทางมาร่วมพิธีบรรพชาสามเณรีที่ประเทศไทยในครั้งนี้ก็เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถบวชได้ และยังมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ขึ้นใหม่ในดินแดนอินเดียตอนใต้อีกด้วย แต่เนื่องจากว่ากำลังอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ อุปสรรคและผลกระทบต่าง ๆ การบวชพระผู้หญิงจึงยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้นที่วัดของท่าน
ด้วยเหตุนี้ การเข้าร่วมพิธีบรรพชาสามเณรีของพระอาจารย์อานันทะในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ เพราะประโยชน์ที่ท่านจะได้กลับไปก็คือ การมีประสบการณ์ การได้สัมผัสกับบรรยากาศด้วยตนเอง ซึ่งล้วนแต่มีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นบนเส้นทางของพระผู้หญิงให้มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ “หลวงแม่ธัมมนันทา” ได้เน้นย้ำกับพระอาจารย์อานันทะก็คือว่า ถึงแม้จะเป็นเพียงการบรรพชา “สามเณรี” แต่ผู้รับการบวชก็มีความแตกต่างกับ “แม่ชี” หรือ “ตี่ละฉิ่น” (นักพรตหญิงของพม่า) เพราะการบรรพชามีการกล่าวคำขอบวชจากพระอุปัชฌาย์ ซึ่งถือว่าเป็นการบวชแบบหนึ่งของพุทธศาสนาด้วย
[พระอาจารย์อานันทะ]
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า พระอาจารย์อานันทะมีใบหน้าละม้ายคล้ายกับรูปเคารพของ “พระอานนท์” ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในห้องสมุดของวัด ชื่อของท่านทั้งสองก็เขียนคล้าย ๆ กัน
และที่สำคัญ...การที่พระอาจารย์อานันทะสนับสนุนให้พระผู้หญิงบวชได้นี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการกระทำของพระอานนท์ซึ่งเป็นผู้ที่ทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้พระนางปชาบดีบวชเป็นภิกษุณี โดยพระอานนท์พยายามชี้แจงด้วยเหตุผลต่าง ๆ จนกระทั่งพระองค์ยินยอมให้บวชได้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างที่จะต้องปฏิบัติตาม พระนางปชาบดีจึงได้บวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพุทธศาสนา และกล่าวได้ว่า ที่ภิกษุณีสงฆ์กำเนิดขึ้นมาได้ในฐานะพุทธบริษัทสี่ก็เพราะมีพระอานนท์เป็นคุณูปการสำคัญนั่นเอง
[พระอาจารย์อานันทะและหลวงแม่ธัมมนันทาถ่ายรูปร่วมกับรูปเคารพพระอานนท์]
[พระอานนท์]
[พระนางปชาบดีทูลขอพระพุทธเจ้าเพื่อบวชเป็นภิกษุณี]
------------------------------------------------------
ที่มา : https://www.facebook.com/songdhammakalyani.monastery