- 05 มิ.ย. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
เมื่อวันที่ (5มิ.ย.60) เพจ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ได้เผยว่า ได้ทำการขุดพบกำแพงเมืองโบราณ ที่จังหวัดสงขลา สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โบราณสถานกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันตกบริเวณถนนนครนอก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา การดำเนินการได้ขุดพบโครงสร้างอิฐขนาดกว้าง ๖๐ เซนติเมตรจำนวน ๒ แนว ก่อตัดแนวกำแพงเมืองซึ่งทำด้วยหิน ซึ่งมีผลให้เกิดช่องว่างในลักษณะของช่องประตู โดยแนวอิฐดังกล่าวมีระยะห่างจากกัน ๑๙๖ เซนติเมตร และบริเวณใกล้ขอบแนวอิฐด้านทิศตะวันตก ปรากฏแนวอิฐก่อเชื่อมแนวอิฐทั้งสองในลักษณะธรณีประตู ทั้งนี้บริเวณขอบของธรณีประตูนี้ได้ขุดพบเสาไม้จำนวน ๒ ต้น โดยเสาไม้ต้นหนึ่งมีครกเหล็กซึ่งใช้รองรับบานประตูสวมอยู่ด้านบน
จากการศึกษาเอกสารชีวิวัฒน์ พระนิพนธ์ในจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงษาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเสด็จประพาสเมืองสงขลาใน พ.ศ.๒๔๒๗ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประตูเมืองสงขลาไว้ตอนหนึ่งว่า "...มีประตูเมืองเปนซุ้มใหญ่โดยรอบ ๑๐ ประตู กว้างประมาณ ๖ ศอก สูง ๓ วา ซุ้มเปนหลังคาจีน ทำนองเปนหอรบ บานประตูมีบานลักด้วย แลมีประตูอีก ๑๐ ประตู เปนประตูช่องกุฏิกว้าง ๔ ศอก สูง ๕ ศอก.." และจากการตรวจสอบแผนที่เมืองสงขลา สมุดไทยเลขที่ ๙๖ แผนที่เมืองสงขลาและระยะทาง ซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นใน พ.ศ.๒๓๘๒ เปรียบเทียบกับตำแหน่งพื้นที่ซึ่งดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีอยู่ในขณะนี้พบว่าตำแหน่งที่พบโครงสร้างอิฐดังกล่าวตรงกันกับตำแหน่งของประตูช่องกุดที่อยู่ระหว่างประตูเมืองใหญ่สองประตูคือประตูสุรามฤทธิ์ และประตูศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ และความกว้างของช่องประตูที่พบคือ ๑๙๖ เซนติเมตรนั้นใกล้เคียงกับความกว้างของช่องประตูที่ระบุไว้ในเอกสารชีวิวัฒน์ว่าประตูช่องกุดกว้าง ๔ ศอก (๒๐๐ เซนติเมตร)
สร้างเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง สู่ความรุ่งเรือง และความมั่งคั่งของเมืองท่า จนถึงเมืองท่องเที่ยว
จากการขยายตัวของเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภค ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่บริเวณสงขลาฝั่งแหลมสน เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงเขา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเมืองรวมถึง อาจเป็นอุปสรรคของการขยายตัวเป็นเมืองท่าในอนาคต ซึ่งจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ น่าจะเป็นข้อได้เปรียบ แต่เนื่องจากมีพื้นที่ในแนวราบไม่เพียงพอ จึงทำให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ที่ตำบลบ่อยาง (สถานที่ปัจจุบัน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 ซึ่งเมืองใหม่ที่สร้างขึ้น ก็ยังคงรักษาความเป็นเมืองท่าไว้อย่างเดิม โดยในเบื้องต้นของการสร้างเมือง พระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) ได้เริ่มสร้างป้อม กำแพงเมืองยาว 1200 เมตร และ ประตูเมือง สิบประตู ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 หลังจากนั้นจึงได้วางหลักเมือง (ไม้ชัยพฤษ์พระราชทาน) และสมโภชน์หลักเมืองในปี พ.ศ. 2385 และเรียกบริเวณพื้นที่นี้ว่า "เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง" ก่อนที่พระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง) จะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2408
ถัดจากนั้น พระยาคีรี ลำดับต่อมา ได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาต่อ และ ได้ดำเนินการพัฒนาสงขลาในลักษณะเมืองกันชนระหว่างเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองมุสลิมที่อยู่ทางตอนใต้ของสงขลา และ เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนิกชน โดยเมืองสงขลาได้อยู่ภายใต้การปกครองของสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งมี นายเหยียง แซ่เฮา เป็นต้นสกุล รวมเจ้าเมืองสายสกุล ณ สงขลาที่ปกครองเมืองสงขลา บ่อยาง ดังนี้
ลำดับที่ 1. พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) พ.ศ. 2360 – 2390 ผู้เริ่มสร้างเมืองสงขลา บ่อยาง
ลำดับที่ 2. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง ณ สงขลา) พ.ศ. 2390 – 2408
ลำดับที่ 3. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) พ.ศ. 2408 – 2427
ลำดับที่ 4. พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม ณ สงขลา) พ.ศ. 2427 – 2431
ลำดับที่ 5. พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) พ.ศ. 2431 – 2439
หลังจากเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาได้ประมาณปีเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จราชดำเนินมายังเมืองสงขลา และได้พระราชทานเงินบางส่วนเพื่อสร้างเจดีย์ บนยอดเขาตังกวน [35] ระหว่างปี พ.ศ. 2437-2439 เมืองสงขลาได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยตั้งมลฑลนครศีธรรมราช ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และ หัวเมืองแขกอีก เจ็ดเมือง โดยมี พระวิจิตร (ปั้น สุขุม) ลงมาเป็นข้าหลวงพิเศษว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่ว่าการอยู่ที่เมืองสงขลาบ่อยาง และลดบทบาทเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคการปกครองแบบเจ้าเมืองไปด้วย ทั้งนี้เจ้าเมืองคนสุดท้ายในสายสกุล ณ สงขลา ที่ปกครองเมืองสงขลามามากกว่า แปดรุ่น ต่อมาประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนการปกครองอีกหลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยยกเลิกระบบเดิมทั้งหมด และยกระดับสงขลา ขึ้นเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย
ที่มาจาก : เพจ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร