- 29 มิ.ย. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ราหูอมจันทร์” ซึ่งเป็นเรื่องราวอันมีที่มาจากตำนานของลัทธิศาสนาในอินเดียโบราณ และยังมีเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกของศาสนาพุทธด้วย
แต่มีบุคคลท่านหนึ่งเคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ “พระราหู” ว่าอาจจะเป็นเพียงตำนานที่แต่งขึ้นใหม่ในการเขียนพระไตรปิฎกยุคหลัง ๆ บุคคลท่านนั้นก็คือ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” ซึ่งได้วิจารณ์ประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ “ธรรมวิจารณ์” ของท่าน ดังนี้
“... พระคัมภีร์ของเราเป็นมาอย่างนี้ ของฝ่ายศาสนาอื่นก็คงเป็นเช่นกัน ทางที่ควรเป็นก็เช่นนั้น นับว่าเป็นของนำมาดีอยู่ แต่ในอีกทางหนึ่ง ท่านผู้ทำสังคายนาในปูนหลัง ๆ มิใช่พระอรหันต์ดังกล่าวยกย่องก็อาจเป็นได้ ยิ่งท่านผู้รจนาปกรณ์ยิ่งอาจเป็นผู้มิใช่พระอริยะ เป็นเพียงกัลป์ยาณชนมีอัชฌาสัยงามก็ยังดี ชั้นอรรถกถาปรากฏว่าท่านผู้รจนาเป็นปุถุชนคือคนกิเลสหนาซ้ำเข้าด้วย เป็นฐานะอยู่ที่ความเคยเชื่อถือลัทธิเก่าในพื้นประเทศและลัทธิต่างประเทศอันแพร่มาถึงเข้าครอบงำ รับรองลัทธินั้น ๆ เข้าไว้ในคัมภีร์ของตนด้วยสันนิษฐานว่าเป็นจริง ยิ่งอัชฌาสัยของผู้รจนาเลวทราม ความแห่งปกรณ์ที่แต่งยิ่งจะพึงระคนด้วยลัทธิเหล่านั้น
จันทรคราธและสุริยคราธที่เชื่อกันในครั้งนั้นว่าเป็นเพราะราหูผู้เป็นศัตรูแห่งเทวดาเข้าอมพระจันทร์ พระอาทิตย์ ต้องมีเทพเจ้าผู้มีฤทธิ์กว่าราหูเข้าช่วย ยังมามีในสูตรของเรา และกล่าวว่าราหูต้องปล่อยเพราะพระพุทธานุภาพ ในบัดนี้ วิทยาเปิดเผยความจริงว่าเป็นด้วยอย่างไร มีการคำนวณเวลาจับและเวลาหลุดถูกต้องละเอียดจนนาทีเป็นเครื่องพิสูจน์ ...”
[สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส]
สิ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กล่าวนั้นหมายความว่า แรกเริ่มเดิมที พระไตรปิฎกเกิดจากการรวบรวมของคณะพระอรหันต์ในการสังคายนาครั้งแรกหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ ๆ และเนื่องจากพระอรหันต์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและทันได้เห็นพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่รวบรวมไว้จึงน่าจะถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนมากที่สุด
แต่พอเวลาผ่านมาเนิ่นนาน บุคคลรุ่นหลังที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็อาจจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ คืออาจจะเป็นเพียง “คนดีธรรมดา ๆ” หรือแย่กว่านั้นก็อาจจะเป็น “คนไม่ดี” ก็ได้ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่เนื้อหาของพระไตรปิฎกจะถูกต่อเติมเสริมแต่งโดยบุคคลเหล่านี้ และสิ่งที่ถูกต่อเติมเสริมแต่งเข้ามาใหม่ก็อาจมีได้ทั้งสองแบบ คือ “แบบที่ยังเป็นเรื่องเดียวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า” กับ “แบบที่กลายเป็นคนละเรื่องไปเลย”
แบบหลังนี้สันนิษฐานได้ว่าอาจจะมาจากบุคคลที่ก่อนบวชนั้นเคยนับถือลัทธิศาสนาอื่นมาก่อน เมื่อมาบวชแล้วยังคงได้รับอิทธิพลจากลัทธิศาสนาเดิมอยู่ก็เลยต่อเติมเสริมแต่งสิ่งใหม่เข้ามาในพระไตรปิฎก อย่างเช่นเรื่องของ “ราหู” ที่สมเด็จฯ ได้กล่าวไว้ ซึ่งมีเรื่องราวบันทึกไว้ว่า
“ครั้งหนึ่ง พระจันทร์ (จันทิมเทวบุตร) ถูกพระราหู (อสุรินทราหู) จับตัวไว้...ก็เลยระลึกถึงพระพุทธเจ้าเพื่อขอความช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าจึงกล่าวคาถาให้พระราหูปล่อยพระจันทร์ซะ พอพระราหูปล่อยตัวแล้วก็กระหืดกระหอบไปหาจอมอสูรตนหนึ่ง (อสุรินทเวปจิตติ) ด้วยความหวาดกลัว จอมอสูรจึงถามว่าเป็นอะไร พระราหูตอบว่าตนถูกพระพุทธเจ้าขับไล่ด้วยคาถาจนศีรษะเกือบจะแตกเป็นเสี่ยง!!
เวลาต่อมา พระอาทิตย์ (สุริยเทวบุตร) ก็ถูกพระราหูจับตัวไว้เช่นกัน...ก็เลยระลึกถึงพระพุทธเจ้าเพื่อขอความช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าจึงกล่าวกับพระราหูว่า ‘เจ้าจงปล่อยพระอาทิตย์... อย่ากลืนกินพระสุริยะผู้เป็นบุตรของเรา’ พระราหูก็เลยปล่อยตัวแล้วกระหืดกระหอบไปหาจอมอสูรอีกครั้งด้วยความหวาดกลัว!!”
คำถามก็คือว่า เราจะเข้าใจเรื่อง “ราหูอมจันทร์และอาทิตย์” ในพระไตรปิฎกอย่างไร ... ซึ่งสำหรับสมเด็จฯ ท่านเห็นว่าเป็นข้อผิดพลาดในการบันทึกพระไตรปิฎกอย่างที่ได้วิจารณ์ไว้
คำว่า “วิทยา” ที่สมเด็จฯ เอ่ยถึงในหนังสือของท่านก็คือ “วิทยาศาสตร์” ที่ได้อธิบายให้ความรู้แล้วว่า “จันทรคราส” กับ “สุริยคราส” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากตำแหน่งของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์
จันทรคราสเกิดจากดวงอาทิตย์-โลก-ดวงจันทร์ โคจรมาเรียงกันเป็นเส้นตรง ดวงอาทิตย์ส่องแสงมาที่โลก แล้วเงาของโลกก็ไปบังดวงจันทร์ คนบนโลกก็เลยเห็นเสมือนว่าดวงจันทร์กำลังถูกอะไรสักอย่างอมหรือกลืนเข้าไปในปาก
ทำนองเดียวกัน เมื่อโลก-ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์ โคจรมาเรียงกันเป็นเส้นตรง คนบนโลกก็จะมองไม่เห็นดวงอาทิตย์เพราะดวงจันทร์มาบังเอาไว้ จนทำให้เกิดจินตนาการเรื่องราหูขึ้นมา
ส่วนความเข้าใจตามท้องเรื่องในพระไตรปิฎกและอรรถกถานั้น ราหูเป็นเทพชนิดหนึ่งจำพวกอสูร ส่วนพระจันทร์และพระอาทิตย์ก็เป็นเทพอีกชนิดหนึ่ง ราหูเป็นเทพเกเร เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างก็เกิดอาการหมั่นไส้จึงแกล้งอมเล่น พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็เลยอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าช่วย พระพุทธเจ้าจึงบัญชาให้ราหูปล่อยเทพทั้งสองนั้น ถ้าไม่ปล่อย ศีรษะจะแตกเป็นเสี่ยง
... ... ...
ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องแบบนี้ก็คงไม่ง่ายที่จะตัดสินว่าเราควรเข้าใจแบบไหน หรือจะว่าเป็นปัญหาโลกแตกก็ได้ แต่ถึงเป็นปัญหาโลกแตกก็ยังสมควรที่ชาวพุทธจะช่วยกันพิสูจน์เพื่อหาความจริงกันต่อไป!!
[ราหูอมจันทร์]
[ปรากฏการณ์สุริยุปราคา]
------------------------------------------------------------------------
ที่มา : วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑ (๒๕๕๓)