- 22 ก.ค. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
ความปรารถนาในพระโพธิญาณของพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นที่ปรากฏให้พวกเราได้เห็น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งเสร็จศึกอะแวหวุ่นกี้ปี ๒๓๑๙ ก็ได้ทรงโปรดให้มีงานบุญใหม่พระราชพิธีบังสุกุลพระอัฐิของพระมารดา พระเจ้าตากฯ ก็ทรงอธิษฐานว่า
“เดชะผลทานบูชานี้ ขอจงยังพระลักขณะ พระปิติทั้ง๕ จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า และอย่าได้อันตรธาน และพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดขึ้น ขอจงบังเกิดภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้น อนึ่งขอจงเป็นปัจจัยแก่พระบรมภิเษกสมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า”
ซึ่งความจริงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่พระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกและพระองค์เดียวที่มีความปรารถนาในพระโพธิญาณ เช่นเดียวกับ พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย (ผู้รจนาคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง) และแน่นอนว่าในรัชสมัยแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ได้มีการจัดทำ “สมุดภาพไตรภูมิ” เช่นเดียวกัน
สมุดภาพไตรภูมิสมัยธนบุรี ฉบับกรุงเบอร์ลิน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเอเชีย (Museum für Asiatische Kunst) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
สมุดภาพไตรภูมิบุราณ ฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ นับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของเมืองไทย ด้วยหากคลี่ออกไป ก็จะมีความยาวถึง ๓๔.๗๒ เมตร เขียนภาพสีอย่างวิจิตรบรรจงลงในหน้ากระดาษสมุดทั้งสองด้าน หลายสิบภาพที่ปรากฏอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับนี้ มีความงดงามน่าชมเป็นอย่างยิ่ง ยากที่จะหาสมุดภาพไตรภูมิฉบับอื่นใด ให้ยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่านี้ได้
ในการเขียน " สมุดภาพไตรภูมิ " ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ดำเนินการจัดทำกันอย่างประณีตพิถีพิถันกวดขันกันเป็นพิเศษ รวมความว่า พระราชประสงค์ในการจัดทำสมุดภาพไตรภูมิบุราณฉบับนี้ ก็เพื่อให้มหาชนทั้งหลายได้มีความเข้าใจในเรื่องนรกสวรรค์ได้ถูกต้องตรงตามพระบาลี แล้วจะได้พากันตั้งหน้าประกอบแต่กรรมดีละเว้นกรรมชั่ว ต้องด้วยคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาสืบไป
สมุดภาพไตรภูมิทำนองเดียวกันนี้ ที่ได้โปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นมีอยู่ถึง ๒ ฉบับด้วยกัน อีกฉบับหนึ่งขณะนี้เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันตะวันตก ซึ่งได้ซื้อไปจากเมืองไทย ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ สมุดภาพไตรภูมิทั้งสองฉบับนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นได้อย่างเด่นชัด ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น นอกจากจะทรงเป็นพระผู้กู้ชาติกู้เอกราชให้แก่บ้านเมืองเราแล้ว ยังทรงเป็นผู้กอบกู้การช่างศิลปกรรม กู้พระศาสนาและจริยธรรมของชนในชาติอีกด้วย (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 6-7, 93-94)
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึง สมุดภาพไตรภูมิสมัยธนบุรี ฉบับกรุงเบอร์ลิน นี้ไว้ใน พระนิพนธ์ “สาส์นสมเด็จ”ของท่าน ว่า..
"....เมื่อไปถึงเมืองเบอร์ลิน หม่อมฉันให้ถามที่หอสมุดสำหรับเมืองเช่นนั้นอีก พวกเยอรมันก็รับด้วยความยินดีขอบใจ และจัดห้องให้ตรวจเช่นเดียวกับที่เมืองอังกฤษ แต่ตรวจกันวันเดียวก็เสร็จ เพราะหนังสือไตรปิฎกที่เจ้าปิยะว่า เยอรมันได้ซื้อไปราคา ๑,๐๐๐ บาท เขาก็เอามาอวด เขายกย่องเป็นยอดสมุดหนังสือไทยที่เขามี แต่ประหลาดใจที่ไม่พบหนังสือเรื่องซึ่งไม่มีฉบับในเมืองไทย แม้หนังสือไตรภูมิที่ว่านั้นก็เป็นหนังสือฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี มีบานแผนกและฝีมือเขียนรูปภาพเหมือนอย่างหนังสือไตรภูมิฉบับที่คุณท้าววรจันทร์ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อตั้งหอพุทธศาสนสังคหะหมดทุกอย่าง คือฝีมือเดียวกันทั้ง ๒ เล่ม แต่ผิดกันเป็นน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ด้วยฉบับที่เยอรมันได้ไปในปกกระดาษของเดิมยังอยู่บริบูรณ์ แต่ฉบับที่คุณท้าววรจันทร์ถวายนั้นใบปกเป็นรอยลอกชั้นนอกออกทั้ง ๒ ข้าง น่าสันนิษฐานว่าฉบับคุณท้าววรจันทร์เดิมเห็นจะมีใบปกประดับมุกเป็นตัว “ฉบับหลวง” ฉบับที่เยอรมันได้ไปทำแต่ใบปกกระดาษมาแต่เดิม น่าจะเป็นฉบับรองทรง...."
อสูรกาย
นรกภูมิ
มหานครนิพพาน
พระอริยบุคคล 8 จำพวก ได้แก่ พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผล พระอนาคามิมรรค พระอนาครมิผล
พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล
มารผจญ
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานเห็นเทวฑูต ทั้ง 4
ที่มา : http://3king.lib.kmutt.ac.th/KingTarksinCD/chapter13/page20.html สมุดภาพไตรภูมิสมัยธนบุรี ฉบับกรุงเบอร์ลิน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเอเชีย (Museum für Asiatische Kunst) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ภาพจาก : (Deutsche Digitale Bibliothek) https://www.deutsche-digitale-bibliothek.de/item/CZY2WFMZSOO37EEEDMG4X2SKZFZSSG4K?query=Bilderhandschrift+Traiphum&isThumbnailFiltered=true&rows=20&offset=0&viewType=list&firstHit=CZY2WFMZSOO37EEEDMG4X2SKZFZSSG4K&lastHit=lasthit&hitNumber=1
หนังสือ ธรรมะของพระเจ้าตาก โดย เวทิน ชาติกุล
sookjai.com/index.php?topic=163043.0
นิทรรศการพลังแผ่นดิน อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม https://www.facebook.com/Signnagas