- 03 ส.ค. 2560
รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งปาฏิหาริย์ www.tnews.co.th
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านพุทธทาสภิกขุได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ
ต้องยอมรับว่าปาฐกถาธรรมของท่านพุทธทาสในวันนั้น (สิ่งปิดบังพระพุทธก็คือพระพุทธรูป, สิ่งปิดบังพระธรรมก็คือคัมภีร์, สิ่งปิดบังพระสงฆ์ก็คือคนห่มเหลือง) มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรงถึงขนาดก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากชาวพุทธทั้งในแง่เห็นด้วยและเห็นต่างอย่างกว้างขวาง หลายคนที่ได้ยินได้ฟังในตอนแรกก็ไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย และไม่ชอบใจ จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวกล่าวขานกันในสมัยนั้น บางคนถึงกับกล่าวหาว่าท่าน "จาบจ้วงพระรัตนตรัย" หรือ "รับจ้างคอมมิวนิสต์มาทำลายพุทธศาสนา" เสียด้วยซ้ำ
ถึงวันนี้เวลาก็ผ่านมากว่าหกสิบปีแล้ว หลายคนอาจจะหลง ๆ ลืม ๆ ไป หลายคนก็เกิดไม่ทัน ฉะนั้น เราจะย้อนกลับไปยังใจความของปาฐกถาธรรมในวันนั้นเพื่อทบทวนความเข้าใจกันใหม่อีกสักครั้ง ...
... ตามหัวข้อของธรรมกถาในวันนี้ซึ่งชื่อว่า “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” นั้น เราจะได้พิจารณากันถึง “สิ่งกีดขวาง” เป็นกำแพงมหึมาอยู่ข้างหน้า ซึ่งทำให้เราเข้าถึงพุทธธรรมไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เรามีความภักดีต่อพุทธธรรมหรือต่อศาสนาของเราอย่างเต็มที่อยู่เสมอ
ถ้าเกิดตั้งปัญหาถามขึ้นว่า อะไรเป็นเครื่องปิดบังพระนิพพานอันเป็นตัวพุทธธรรมที่เราประสงค์จะเข้าถึงแล้ว เราจะพบคำตอบว่า “พระพุทธเจ้า” นั่นเองกลับมาเป็นภูเขามหึมาบังพระนิพพาน
สภาพการณ์เช่นนี้กำลังมีอยู่ในจิตใจของพุทธบริษัททั่ว ๆ ไป ซึ่งถ้ากล่าวให้สั้น ๆ ตรง ๆ ที่สุดก็กล่าวว่า ท่านทั้งหลายเข้าไม่ถึงพุทธธรรมก็เพราะว่า “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน” ขวางหน้าท่านอยู่
ตามธรรมดาพุทธบริษัทแต่ละคนต่างก็มี “พระพุทธเจ้าของตน” เป็นเครื่องยึดถือ ถ้าเขายังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง เขาก็ย่อมทึกทักเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าไปก่อน เขาจะต้องมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพระพุทธเจ้าของเขา ใครรู้อะไรเพียงเท่าไหนก็เป็นความจริงของเขาเพียงเท่านั้น เมื่อเขาเข้าใจว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้า สิ่งนั้นก็เกิดเป็น “พระพุทธเจ้าของเขา” ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่ถูกขนานนามว่าพระพุทธเจ้าจึงมีอยู่ในลักษณะและขนาดมาตรฐานต่าง ๆ กัน แล้วแต่ความยึดถือของคนเป็นชั้น ๆ ไป
สำหรับเด็กเล็ก ๆ ถ้าถามว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้าก็จะมีความรู้สึกในตัววัตถุบางอย่าง เช่น พระพุทธรูปในโบสถ์ ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจเป็นตุ๊กตาชนิดหนึ่งก็ได้ ทำด้วยอิฐด้วยปูนหรือทองเหลืองทองคำก็ได้
ทีนี้ก็มาถึงคนโต ๆ เป็นผู้ใหญ่แล้ว กระทั่งคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งมีการกล่าว “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ฯลฯ” อยู่ทุก ๆ คราวที่มีการรับศีลฟังธรรมเทศนา ซึ่งกว่าจะตายก็นับได้ร้อยครั้งพันครั้ง ในปัญหาเดียวกันที่ว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้าของเขา เราก็ยังกล้ากล่าวได้อีกว่าไม่มีเหมือนกันทุกคน ต่างคนหรือต่างพวกล้วนแต่มีพระพุทธเจ้าของตัว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คนที่เข้าถึงพระพุทธเจ้าแต่ในทางวัตถุ ไม่สูงถึงทางจิต ก็ย่อมจะมีความรู้สึกของตัวเองถึงสมัยเมื่อสองพันปีกว่ามาแล้วว่า มีเลือดเนื้อกลุ่มหนึ่ง เดินท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนอยู่ในประเทศอินเดีย และนั่นคือพระพุทธเจ้าแท้ ๆ ซึ่งข้อนี้จะดีไปกว่าที่เห็นเป็นทองเหลืองหรือทองคำที่เขาหล่อเป็นพระพุทธรูปเพียงนิดหน่อยเท่านั้น
ถ้าว่ากันโดยความจริงในด้านวัตถุแล้ว สำหรับเลือดเนื้อกลุ่มนั้นจะเป็นพระพุทธเจ้ามากไปกว่าในก้อนทองเหลืองทองแดงไปไม่ได้เลย มิหนำซ้ำพระองค์เองก็ยังทรงปฏิเสธว่านั่นไม่ใช่ตถาคต
“แม้เขาจะคอยจับมุมจีวรของเราเอาไว้ ไปทางไหนไปด้วยกันทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าไม่เห็นธรรมะแล้วไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย”
พระองค์ทรงปฏิเสธไว้อย่างนี้ ซึ่งเรากล่าวได้ว่าเป็นการตะครุบเอาพระพุทธเจ้าผิดเข้าอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อได้ปฏิเสธพระพุทธเจ้าโดยพระพุทธรูป โดยวัตถุหรือร่างกายของพระองค์เองเสียแล้ว ก็ยังเหลืออยู่แต่ทางจิตใจหรือทางนามธรรมโดยวงกว้าง ซึ่งเป็นการควานหาได้โดยยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นความผิดพลาดก็มีช่องทางมากขึ้นตามส่วน และยิ่งเป็นช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดมีการคว้าพระพุทธเจ้าเอามาในลักษณะที่แตกต่างกันอย่างพิสดารเหลือที่จะคาดหมาย จึงเกิดเป็นการยึดถือเอาตามความรู้ ตามการศึกษาและศรัทธาของตนเอง เป็นพระพุทธเจ้าอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นดวงลอยโชติช่วงก็มี เป็นสายก็มี เป็นสีอย่างนั้น เป็นสีอย่างนี้ สามารถจะอัญเชิญให้ลอยมาที่นั่นที่นี่ได้ อ้อนวอนให้ทำกิจบางอย่างหรือพาไปที่นั่นที่นี่ก็ได้ ถึงกับจัดตั้งอาหารคาวหวานไว้ส่วนหนึ่งสำหรับพระพุทธเจ้าที่เขาเชิญมามากมายหลายแบบจนเหลือที่จะนำมากล่าวให้หมดสิ้นได้
รวมความว่า เขายึดถือเอาสิ่งนั้นเป็นพระพุทธเจ้าของเขา ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าวิถีแห่งพุทธธรรมของเขามาสิ้นสุดลงเพียงนี้
ยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก เราจะสังเกตเห็นได้ว่า แม้ที่สุดแต่ความรักในพระพุทธเจ้าของบุคคลบางคนที่เป็นอริยบุคคลขั้นต่ำ ยังไม่ถึงพระอรหันต์ (เช่น พระอานนท์ในสมัยที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่) ทั้ง ๆ ที่รู้จักลู่ทางแห่งพุทธธรรมอย่างถูกต้อง วิถีแห่งพุทธธรรมของท่านยังไม่วายถูกสกัดไว้ด้วยภูเขา กล่าวคือ “พระพุทธเจ้าที่ท่านยึดถือไว้ด้วยความรักของท่านเอง”
โดยข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราพอจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ปุถุชนสามัญที่สุดขึ้นไปเป็นลำดับจนกระทั่งถึงพระอริยบุคคลชั้นที่รองลงมาจากพระอรหันต์นั้น วิถีแห่งพุทธธรรมของแต่ละคนยังมีภูเขาขวางอยู่ ไม่มีภูเขาอะไรอื่นนอกไปจากความยึดถือเกี่ยวกับตัวตน และไม่มีความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนอะไรอื่นยิ่งไปกว่าความยึดถือในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน ซึ่งสำหรับพุทธบริษัทก็ไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขา” เขายังมีพระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขาอยู่เพียงใดก็แปลว่าเขายังมีความยึดถืออยู่เพียงนั้น
นอกออกไปจากพระพุทธเจ้า เราก็อาจจะกล่าวได้อย่างไม่ผิดอีกเหมือนกันว่า แม้ “พระธรรมของเขา” นั่นเองกลับเป็นภูเขาขวางวิถีแห่งพุทธธรรมของเขา เพราะอาศัยความยึดถือทำนองเดียวกัน
เราต้องไม่ลืมหลักอันเกี่ยวกับความจริงดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สิ่งที่เราเรียกว่าความจริงของเขาก็คือสิ่งเท่าที่เขารู้นั้นเสีย แล้วเราจะพบว่าสิ่งที่เราเรียกว่าธรรมะหรือพระธรรมนั้นถูกคนเรารู้จักและยึดถือไว้ในลักษณะที่ผิดแปลกแตกต่างกันหลายประการด้วยความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นที่สุด เมื่อยึดถือไว้ต่างกันก็มีการโต้เถียงกันว่า นั่นต่างหากเป็นพระธรรม นี่ต่างหากเป็นพระธรรม แล้วแต่ผู้ที่ยึดถือจะมองเห็นของตัวอย่างไร
บางพวกได้ยึดถือเอาเครื่องมือหรือหนทางที่จะปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธธรรมมาเป็นตัวพุทธธรรมเสียเองก็มี ให้พระธรรมเป็นดวงเป็นแสง เลื่อนลอยไปในอากาศ เชิญไปไหนมาไหนได้อย่างพวกที่เชิญพระพุทธเจ้าข้างต้นก็มี ถือเอาเล่มหนังสือหรือมัดพระคัมภีร์เป็นตัวพระธรรมเสียเลยก็มี เป็นการยึดฝ่ายวัตถุเกินไปทำนองเดียวกับเด็ก ๆ ที่ยึดเอาพระพุทธรูปเป็นพระพุทธเจ้า
การที่ถือเอาพระคัมภีร์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นประธานในพิธีสบถสาบานหรืออ้อนวอนเสี่ยงทายต่าง ๆ ก็โดยประสงค์จะให้พระธรรมนั้นเป็นของมีจิตวิญญาณตัวตนขึ้นมาให้ได้เป็นต้น นับว่าเป็นการตะครุบเอาผิดเหมือนกับพวกที่ตะครุบเอาพระพุทธเจ้าผิดมาแล้วเหมือนกัน ต้องการให้นิพพานหรือพุทธธรรมนั้นเป็นบ้านเมืองเป็นโลกอันแสนสุขสำหรับตนจะจุติไปเกิดที่นั่น แล้วก็ตั้งบำเพ็ญสมาธิเพื่อความเป็นอย่างนั้น ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจความยึดถือในด้านวัตถุอันแรงกล้านั่นเอง
ถ้าจะพิจารณาดูในส่วนธรรมะที่เป็นตัววิถีทางการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธธรรม กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะพบว่ากำลังถูกยึดถือขึ้นเป็นภูเขาขวางวิถีทางของตนเองอยู่อย่างเดียวกัน
คนบางเหล่ายึดถือในศีลของตนจนดูหมิ่นผู้อื่น ก่อการแตกร้าว ทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องศีล เพราะความยึดมั่นถือมั่นในศีลด้วยความสำคัญผิด ถือศีลอย่างเครื่องจักร ยึดมั่นทุกตัวอักษรอย่างงมงาย รักษาศีลจนตายก็ไม่เคยปรากฏว่ามีศีลบริสุทธิ์ แล้วตายไปด้วยความเศร้าใจอันนั้น ถ้ามีคนพวกหนึ่งมากล่าวว่า ผู้ที่มีใจตรงแน่วแล้ว การรักษาศีลหรือสมาทานศีลเป็นของไม่จำเป็นเลย เพราะมีศีลอยู่โดยปกติแล้ว คนพวกที่ยึดมั่นในศีลก็จะค้านเสียงแข็ง หาว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถึงกับทะเลาะกันก็ได้
แม้ธรรมปฏิบัติซึ่งเป็นขั้นสมาธินั้นเล่าก็ถูกยกขึ้นถือไว้อย่างเป็นภูเขาสกัดทางตนเองทำนองเดียวกัน เนื่องจากการปฏิบัติขั้นนี้สูงขึ้นพ้นระดับของสามัญชนหรือที่เรียกว่า “ขั้นอุตริมนุษยธรรม” จึงเป็นที่ตั้งของความยึดถือโอ้อวดของผู้ปฏิบัติยิ่งไปกว่าขั้นศีล
ความพอใจหลงใหลในสมาธิของตนตามที่ตนปฏิบัติได้เพียงไรย่อมมีมากพอที่จะให้เผลอสติภูมิใจหรือถึงกับหลงใหลยึดถือ ทั้งพวกที่ปฏิบัติผิดทางหรือปฏิบัติถูกทางก็มีโอกาสที่จะยึดถือเท่ากัน บางคนเจริญสมาธิได้ถึงขนาดที่ได้รับรสอันเยือกเย็นของความสงบอันเกิดมาจากสมาธิก็เป็นเอามากถึงกับยึดถือเอาว่านั่นเป็นพุทธธรรมขั้นสุดที่ตนได้บรรลุถึงเอาเสียทีเดียว แม้อันนี้ก็คือภูเขาซึ่งขวางชนิดหนึ่งเหมือนกัน อันเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องพังทลายไปให้ได้
แต่ว่าความเป็นอยู่จริง ๆ ในหมู่นักสมาธิบางหมู่นั้นยังอยู่ในขั้นหลงยึดเอาสิ่งซึ่งไม่ใช่สมาธิมาเป็นสมาธิตามกฎแห่งธรรมชาติที่ว่า “ความจริงของเขาคือเท่าที่เขารู้และพอใจยึดถือ” ดังนั้นจึงเกิดมีสมาธิอีกประเภทหนึ่งซึ่งหนักไปในทางสี ทางดวง ทางภาพที่มาปรากฏอย่างแปลกประหลาด และมีการเชื้อเชิญอ้อนวอนทำนองเชิญวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ และใช้เป็นเครื่องมือในทางดูเหตุการณ์ ทำนายโชคชะตาต่าง ๆ ตามแต่ประสงค์จะใช้ ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางวัตถุแทนที่จะเป็นวิธีฝึกจิตเพื่อเข้าถึงพุทธธรรมหรือนิพพานตามความประสงค์เดิมของธรรมปฏิบัติระบอบนี้ของพุทธศาสนา
ยิ่งกว่านั้นยังมีคนบางพวกไพล่ไปยึดถือที่รูปของพิธีรีตองต่าง ๆ ที่เป็นบุพภาค (เบื้องต้น) ของการทำสมาธิตามแบบของคณะนั้นคณะนี้ว่าเป็นตัวสมาธิเองก็มี หรือยึดถือกิริยาอาการตามแบบแผนนั้น ๆ ว่าเป็นตัวสมาธิอย่างงมงายทุกตัวอักษรไปเสียก็มี โดยไม่ยอมทำความเข้าใจว่าความหมายอันแท้จริงของสมาธินั้นคืออะไร แม้มีใครมากล่าวว่า เมื่อตั้งจิตได้ตรงแน่วแล้ว สมาธิก็เป็นเองโดยไม่มีพิธี ดังนี้ก็จะค้านเป็นเสียงเดียวกันทีเดียว เขาไม่ยอมเชื่อโดยเหตุที่มีความยึดมั่นถือรั้นในสมาธิของตัวว่าเป็นความจริงอันเด็ดขาด
สำหรับธรรมปฏิบัติที่เป็นขั้นปัญญานั้น ถ้าเป็นปัญญาจริงตามชื่อของมันก็ดีไป แต่ถ้าเป็นปัญญาที่ไม่รู้จักตัวเองซึ่งมีมูลฐานตั้งอยู่บนความจริงของความเชื่อ ความคาดคะเน หรือการเดาไปตามเหตุผลแล้ว ก็เกิดเป็นภูเขาขวางวิถีทางแห่งพุทธธรรมขึ้นเหมือนกัน
อีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุดก็คือว่า เมื่อปัญญาของตนไปสิ้นสุดอยู่เพียงไหนก็บัญญัติเอาเพียงแต่ตรงนั้นว่าเป็นความจริงด้วยบริสุทธิ์ใจของตนและยึดมั่น ดังจะเห็นได้จากการที่มีลัทธิศาสนาและปรัชญาต่าง ๆ เกิดขึ้นและมีอยู่อย่างคับคั่งในโลกนี้ บางลัทธิเป็นปัญญาที่คมเฉียบก็มี แต่ก็ไม่วายที่จะเป็นภูเขากั้นขวางทางอยู่ระหว่างตัวเขากับนิพพาน แม้ในวงการของพุทธศาสนาเองก็มีปัญญา พวกที่เดินไปตามความตริตรึกตามอาการหรือเหตุแวดล้อมจนไปตีวงล้อมขังตัวเองอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งโดยไม่รู้สึกตัว ยืนหยัดเสียงแข็งอยู่ว่าเป็นหนทางที่ถูกต้อง แล้วก็ติดแจอยู่ในแวดล้อมของภูเขาลูกนั้น ออกมาไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุอย่างเดียวกับพวกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือกฎธรรมชาติที่ว่า “ความจริงของเขาคือเท่าที่เขารู้และพอใจ” ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะกล่าวย้ำให้นึกทบทวนอยู่เสมอ ๆ
ปัญญาก็คือแสงสว่าง แต่เหตุไฉนแสงสว่างจึงเป็นเครื่องบังเสียเอง
ทีนี้ก็มาถึง “พระสงฆ์” ซึ่งถ้าเราพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนก็พอจะมองเห็นได้บ้างเหมือนกันว่า ถ้าเกิดมีความยึดมั่นสำคัญผิดแล้ว “พระสงฆ์ของบุคคลผู้นั้น” ก็จะเกิดเป็นภูเขาขวางทางของเขาได้อย่างไม่น้อยกว่าพระพุทธหรือพระธรรมเหมือนกัน
จิตของบุคคลบางคนที่นับถือพระสงฆ์ไปยึดถือที่ผ้าเหลืองก็มี ที่แบบวิธีของการบวชก็มี ที่กิริยาท่าทางอันเคร่งครัดตลอดจนกำหนดชาติตระกูลของผู้ที่บวชนั้นก็มี มีการเลือกพระสงฆ์ที่ตัวจะทำบุญด้วยด้วยวิธีอันแปลก ๆ คนไหนรู้จักเพียงแค่ไหนในลักษณะไหนก็ยึดถือพระสงฆ์ในลักษณะนั้นเพียงนั้น แล้วยังเคยดูหมิ่นผู้อื่นว่าไม่รู้จักพระสงฆ์ไปก็มี
ในที่บางแห่งนับถือพระสงฆ์อย่างผู้วิเศษสำหรับขับผีไล่เสนียดจัญไร หรือเป็นอาจารย์ผู้นำในเรื่องของขลัง อีกทางหนึ่งนับถือในฐานะเป็นสื่อหรือตัวแทนของสวรรค์หรือโลกหน้า ซึ่งล้วนแต่ทำให้หยุดชะงักอยู่ที่ระดับนั้น ไม่มีความเห็นอย่างแจ่มแจ้งรู้จักพระสงฆ์ตามที่เป็นจริง กล่าวคือเห็นแจ้งพุทธธรรมอันเป็นตัวธรรมะที่ทำให้คนเป็นพระสงฆ์ หรือเป็นหัวใจของพระสงฆ์
ความที่ตนมายึดมั่นว่ารู้จักพระสงฆ์แล้วยึดถือพระสงฆ์ในรูปนั้นในลักษณะอย่างนั้นย่อมเป็นเครื่องปิดกั้นทางดำเนินไปสู่ภูมิธรรมขั้นสูงสุดของตนได้ขนาดภูเขาขวางหน้าทีเดียว และตามที่มันเป็นอยู่จริง ๆ ในวงพวกพุทธบริษัทเรา ใครก็ต้องยอมรับว่าลักษณะดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีอยู่จริง ๆ อย่างครบถ้วนในวงพุทธบริษัท และมีได้ตั้งแต่ชั้นที่มีการศึกษาน้อยขึ้นไปจนถึงชั้นที่มีการศึกษามาก หรือเลยขึ้นไปถึงชั้นพระอริยเจ้าขั้นต้น ๆ ที่ยังมีอุปาทานบางอย่างที่ยังตัดไม่ได้ในขณะนั้น ...
จะอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเมื่อกาลเวลาผ่านไป ปฏิกิริยาต่อต้านของชาวพุทธที่มีต่อปาฐกถานี้ก็ค่อย ๆ สงบลง สิ่งที่ท่านพุทธทาสกล่าวในวันนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามิใช่ “มิจฉาทิฏฐิ” หากแต่เป็นความตั้งใจของท่านที่จะชักชวนให้เราชาวพุทธพยายามทำลายสิ่งที่ปิดกั้นไม่ให้เราเข้าถึง “พุทธธรรมที่แท้จริง” บนพื้นฐานของ “สัมมาทิฏฐิ” นั่นเอง
---------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : หนังสือ "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" โดย พุทธทาสภิกขุ