- 09 ก.ย. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
ชาวต่างชาติที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในสยามนั้นมีมากมาย เนื่องจากในสมัยก่อนเริ่มมีความสัมพันธ์กับต่างชาติ โดยเฉพาะการค้า ทำมห้ชาวต่างชาติเข้ามามีบทบาทกับสยามมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คอนสแตนติน ฟอลคอน ชายชาวกรีกที่เข้ามาในสยามและต่อมาได้มีบทบาทสำคัญคือได้กลายมาเป็นสมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เกิดที่แคว้นเซฟาโลเนีย (ประเทศกรีซ) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๐ โดยมีเชื้อสายของชาวกรีกและเวนิส ฟอลคอนเข้าทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๒๐๕ ฟอลคอนออกจากบ้าน และเดินเรือสินค้าไปค้าขายยังแดนต่าง ๆ
ต่อมาพ.ศ. ๒๒๑๘ เดินทางมายังอยุธยาในฐานะพ่อค้า เนื่องจากฟอลคอนมีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอย่างง่ายดาย ฟอลคอนจึงเรียนรู้การใช้ภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วในเวลาไม่กี่ปีและเข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตำแหน่งล่าม นับเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา เป็นตัวกลางการค้าระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศส ฟอลคอนได้กลายมาเป็นสมุหเสนาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาในเวลาอันรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๒๒๕ ฟอลคอนแต่งงานกับดอญา มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) ซึ่งภายหลัง เป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยหลายอย่าง
นอกจากนี้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ยังเป็นคนที่สมเด็จพระนารายณ์รักยิ่ง เนื่องจากเป็นที่รอบรู้ในเรื่องต่างประเทศ การทูต เป็นคนเฉลียวฉลาดมีไหวพริบดี พูดได้หลายภาษา และรู้จักการวางตัว ซึ่งชาวต่างชาติมักจะกล่าวถึงฟอลคนอนว่ามีสติปัญญายิ่งในทางเดียวกัน ความใกล้ชิดระหว่างเจ้าพระยาวิชเยนทร์และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทำให้เกิดความริษยาขึ้นในหมู่ราชนิกุล ซึ่งส่งให้เกิดผลเสียต่อตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์เองในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต ก็มีข่าวลือว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ต้องการใช้องค์รัชทายาทเป็นหุ่นเชิดและเข้ามาเป็นผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเสียเอง ซึ่งแม้เหตุดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็เป็นข้ออ้างให้พระเพทราชาซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่พอใจกับนโยบายด้านต่างประเทศที่ส่งผลให้มีชาวต่างชาติมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากมาย วางแผนให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปประทับที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ในลพบุรี และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ไว้ใจมอบอำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินให้พระเพทราชาใน พ.ศ. ๒๒๓๑
ฟอลคอนมีความสามารถในทางการทูตและการค้าขาย เป็นผู้สร้างรายได้ให้กับท้องพระคลังหลวงอย่างมากมาย ด้วยการใช้วิธีผูกขาดทางการค้า สิ้นค้าสำคัญอย่าง พริกไทย ไม้หอม เขาสัตว์ งาช้างและของป่าหายากทั้งหลาย ประชาชนคนทั่วไปจะไม่มีสิทธิ์ทำการค้าขายกับชาวต่างชาติได้โดยตรง รัฐบาลจะชื้อสินค้าเหล่านั้นเอาไว้เองทั้งหมด จากนั้นรัฐบาลก็จะตั้งราคาเอาตามใจชอบแล้วนำสิ้นค้านั้นไปชายให้กับชาวต่างชาติ ชาติให้ข้อเสนอที่ดีกว่าจะมีสิทธิ์ในสิ้นค้าที่ดีกว่า หรือได้สิทธิ์ขาดในสิ้นค้านั้นแต่เพียงผู้เดียว ส่วนการรับซื้อสิ้นค้าต่าง ๆ ที่ชาวต่างชาตินำมาขายในนั้น รัฐบาลมีสิทธิ์ในการเลือกซื้อก่อนพ่อค้าเอกชน และมักจะใช้สิ้นค้าอื่นเป็นการแลกเปลี่ยน ไม่ได้ใช้เงินจ่ายเท่าใดนัก ระบบพระคลังสินค้านี้ทำให้ชาวต่างชาติทั้งหลายไม่พอใจนัก แต่เนื่องจากไม่สามารถหาซื้อสินค้าสำคัญได้จากเอกชนคนใดได้ จึงมีความจำเป็นต้องซื้อในระบบพระคลังสินค้าอย่างจำใจ ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ากับการค้าขายกับชาวต่างชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว ฟอลคอนยังกีดกันการค้าขายของชาวมุสลิมจนชาวมุสลิมหมดอำนาจในการค้าขายในน่านน้ำประเทศไทยไปจนเกือบหมด
หลังจาก พระเพทราชา เมื่อกุมอำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ก็จับกุมเจ้าพระยาวิชเยนทร์และผู้ติดตามรวมถึงราชนิกุลองค์ต่าง ๆ และนำไปประหารชีวิตในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๓๑ ในวัยเพียง ๔๐ ปี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบถึงเหตุดังกล่าว พระองค์ทรงกริ้วมาก แต่ไม่มีพระวรกายแข็งแรงเพียงพอที่จะทำการใด ๆ และเสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่วันต่อมา
บรรดาขุนนางได้อัญเชิญ พระเพทราชา ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม หรือ สมเด็จพระเพทราชา และปกครองโดยมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการขับไล่ชาวต่างชาติแทบทั้งหมดออกจากราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา การตีความกันไปต่าง ๆ นานาถึงเหตุจูงใจที่ทำให้สมเด็จพระเพทราชาสั่งจับกุมและประหารชีวิตเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นผลให้จุดยืนของกรีกในประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องที่ยังหาข้อสรุปมิได้ นักประวัติศาสตร์ที่เห็นด้วยกับการกระทำของพระองค์มองเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าเป็นชาวต่างชาติที่ฉวยโอกาสมาใช้อิทธิพลเข้าควบคุมราชอาณาจักรในนามของผลประโยชน์จากชาติตะวันตก แต่นักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นแพะรับบาป เป็นช่องว่างให้สมเด็จพระเพทราชาสามารถเข้ายึดอำนาจจากองค์รัชทายาทได้โดยนำเอาความริษยาและความระแวงที่มีต่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์มาเป็นมูลเหตุสนับสนุน
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : https://www.gotoknow.org
https://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระยาวิชเยนทร์_(คอนสแตนติน_ฟอลคอน)