- 11 ก.ย. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
การจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศหรือพระเมรุ เป็น ราชประเพณี ที่แฝงคติความเชื่อแบบพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพซึ่งสถิตบนเขาพระสุเมรุ อันล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ และเมื่อจุติลงมายังมนุษย์โลกเป็นสมมุติเทพ เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ เพื่อเป็นการส่งพระศพ พระวิญญาณกลับสู่เขาพระสุเมรุดังเดิม ทั้งนี้ความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุปรากฏในไตรภูมิ เป็นเรื่องของภูมิจักรวาล มีลักษณะเป็นที่อยู่ของเทวดา ตีนเขาเป็นป่าหิมพานต์
อนึ่งจากความคิดนี้จึงได้จำลองพระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุและสัตบริภัณฑ์เพื่อส่งเสด็จสู่ทิพยวิมาน โดยสถานที่ประกอบพิธีเดิมนั้นมักเรียกกันว่า ทุ่งพระเมรุ ซึ่งปัจจุบัน คือ ท้องสนามหลวง
สำหรับรูปปั้นพญาครุฑ ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ พญาครุฑ ตามตำนาน กล่าวว่าครุฑคือสัตว์หิมพานต์อย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่สัตว์สามัญธรรมดา ครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ เพราะพญาครุฑเป็นสัตว์กึ่งเทพ ซึ่งมีอำนาจเทียบเท่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นพาหนะของพระนารายณ์อย่างหนึ่งในเมืองไทยเรานับถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ เป็นองค์นารายณ์อวตารจึงมีการใช้ธงรูปครุฑ และมีครุฑเป็นสัญลักษณ์ประจำแผ่นดิน สามารถพบเห็นรูปครุฑได้จากเอกสารต่าง ๆ ของทางราชการ และนับว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นเอกสารศักดิ์สิทธิ์ หากราชการผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ใดมีความสุจริตจงรักภักดีต่อแผ่นดิน องค์พระมหากษัตริย์ และหน้าที่ของตน
องค์พญาครุฑก็จะส่งพลังปกป้องให้มีความสุข ความเจริญในหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีเกร็ดความเชื่อว่าหากที่ใดมีอาถรรพ์แรงท่านให้นำเอาตราครุฑไปติดจะทำให้อาถรรพ์นั้นเสื่อมสลายไปในที่สุด ตราครุฑล้างอาถรรพ์ได้จึงเป็นที่เชื่อถือกันมาตลอดและได้รับความเคารพบูชาว่าเป็นของสูง เสมือนหนึ่งตัวแทนแห่งองค์พระประมุข ผู้ใดมีสัญลักษณ์ครุฑ รูปครุฑบูชาไว้ย่อมได้อานิสงส์มาก อาทิ มีความเจริญแก่ตัวเองและครอบครัวเป็นต้น ดังนี้แล้วครุฑจึงเป็นของสูงที่เราควรรู้ควรบูชาอย่างหนึ่ง คนโบราณมีความเชื่อสืบกันมาว่า “ครุฑ” นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง มหาอำนาจ อย่างเด็กผู้ใดที่เกิดมาแล้วมีลักษณะปากคล้ายพญาครุฑท่านว่าคนผู้นั้นจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมาเกิด ภายภาคหน้าจะได้เป็นใหญ่เป็นโต สมเด็จเจ้าแตงโม พระสังฆราชพระองค์หนึ่งท่านก็มีลักษณะปากดังครุฑปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญาดี และได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชในที่สุด เรื่องครุฑนี้คนโบราณจึงเชื่อถือกันมาก แม้เครื่องรางที่เกี่ยวกับครุฑก็เป็นเครื่องรางที่มีความหมายมีอานุภาพโดดเด่นหลายประการ
นอกจากนี้ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงได้มีการสร้างรูป ครุฑพ่าห์ (หรือ พระครุฑพ่าห์) หมายถึง ครุฑซึ่งเป็นพาหนะ เป็นรูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น
จากการที่ไทย ใช้ตราครุฑเป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า ธงมหาราช เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ธงมหาราชนี้เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น
สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ ๓ ลำคือเรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค และ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๙
เนื่องจากเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่สถิตย์ของเทพยดาทั้งหลาย เมื่อเรามีคติความเชื่อว่า คนที่ตายแล้วจะกลับไปสู่สวรรค์ ... ความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุมีพูดถึงในไตรภูมิ เป็นเรื่องของภูมิจักรวาลซึ่งเป็นความเชื่อในพุทธศาสนามีลักษณะเป็นที่อยู่ของเทวดา ตีนเขาเป็นป่าหิมพานต์ ทั้งนี้จากความคิดเรื่องนี้จึงได้จำลองพระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุและสัตบริภัณฑ์เพื่อส่งเสด็จสู่ทิพยพิมาน โดยสถานที่ประกอบพิธีเดิมนั้นมักเรียกกันว่า ทุ่งพระเมรุ ซึ่งปัจจุบันคือ ท้องสนามหลวง
นอกจากนี้การจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศ เป็นราชประเพณีที่แฝงคติการเมืองไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ เป็นการถวายพระเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตล่วงแล้ว ยังเป็นการประกาศความมั่นคงของบ้านเมือง ด้วยเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยแสดงพระบรมเดชานุภาพให้เห็นว่า จะทรงปกครองแผ่นดินให้ผาสุกร่มเย็น
ทั้งหมดนี้ตามความเชื่อแบบพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ซึ่งสถิตบนเขาพระสุเมรุ อันล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ และเมื่อจุติลงมายังมนุษยโลกเป็นสมมติเทพ เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ เพื่อเป็นการส่งพระศพ พระวิญญาณกลับสู่เขาสุเมรุดังเดิม
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมศิลปากร
https://th.wikipedia.org/wiki/พระเมรุมาศ
https://th.wikipedia.org/wiki/ครุฑ
http://www.pictaram.org/post/BXZM4pPBZyK น.ณ.กรุงธนบุรี ( @khunchaiyod9t ) อ้างอิงข้อมูลและภาพถ่ายจาก คุณ Aksorn Pichai
ขอบคุณภาพจาก : เพจ หอประติมากรรมต้นแบบ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร , IG @donmintcorleone