- 11 พ.ย. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน น้อมกราบรำลึกวันละสังขาร หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต คงมีพุทธศาสนิกชนชาวไทยน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนามพระครูวินัยธร ภูริทัตโตหรือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เนื่องจากถือกันว่าท่านคือพระบุพพาจารย์แห่งพระวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นศึกษาและปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจังจนบรรลุถึงธรรม โดยท่านจะพำนักอยู่ตามป่าเขาเป็นที่มาของชื่อที่เรียกขานกันว่า พระฝ่ายอรัญวาสี พระธุดงคกรรมฐาน หรือ พระป่า
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หรือนามตามสมณศักดิ์ว่า พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เป็นพระภิกษุผู้เป็นบูรพาจารย์องค์หนึ่งของสายพระป่าในประเทศไทย นับแต่อุปสมบทท่านได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่ สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น "พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า" สืบมาจนปัจจุบัน
พระอาจารย์มั่นมีชื่อเดิมว่า "มั่น แก่นแก้ว" เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๑๓ ปีมะแม ที่บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเมืองใหม่) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายคำด้วง และนางจันทร์ แก่นแก้ว ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ ๒ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า "เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก" ต่อมาหลวงปู่เสาร์ได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่บ้านคำบง นายมั่น จึงเข้าถวายการรับใช้และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ ต่อมาได้เป็นศิษย์ติดตามเข้าเมืองอุบล ครั้นอายุได้ ๒๓ ปีจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเลียบ อ.เมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยมีพระอริยกระวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ภายหลังท่านสงสัยในผู้บวชให้และผ้าสังฆาฏิ หลังจากนั้นเกือบปีพระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร์ สิริจนฺโท) จึงให้ท่านทำทัฬหีกรรมที่แพกลางแม่น้ำมูล โดยพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร์ สิริจนฺโท) และพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นคู่กรรมวาจาจารย์
ภายหลังท่านได้ออกจาริกเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ และธุดงค์เดี่ยวตามสถานที่ต่างๆ และไปศึกษาธรรมะจากพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ผู้เป็นอาจารย์ของท่านอีกท่านหนึ่ง จึงออกจาริกไปอีกหลายที่หลายแห่ง จนกระทั่งถึงที่ถ้ำสาลิกา ใกล้น้ำตกเขาสาริกา จ.นครนายก ท่านได้บรรลุธรรมชั้นอนาคามีที่นั่น
ต่อมาประมาณปี ๒๔๕๐ - ๒๔๕๓ ท่านได้จาริกไปทางจังหวัดลพบุรี ไปพักอยู่ที่เขาพระงามบ้าง ถ้ำสิงโตบ้าง ต่อมา ท่านได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายกนี่เอง ท่านได้ประสบเหตุการณ์ต่าง หลายประการ และเป็นที่ติดใจท่านมาตลอด คือ ขณะที่ท่านไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับถ้ำมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ ท่านวานให้ชาวบ้านพาไปส่งที่ถ้ำดังกล่าว เพราะไม่รู้จักทาง ชาวบ้านเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับถ้ำนั้นให้ฟัง พร้อมกับนิมนต์ให้เลิกล้มความต้งใจที่จะไปถ้ำนั้นเสีย แต่ท่านบอกว่า ท่านไม่กลัว ท่านทดลองพักดู
ขณะที่พักที่ถ้ำสาริกาแห่งนี้ในระยะเดือนแรกๆ ท่านรู้สึกปรกติดี จิตใจสงบ ไม่มีอะไรพลุกพล่าน พอดีคืนต่อๆมา ท่านรู้สึกว่าโรคเจ็บท้องที่เคยเป็นประจำชักกำเริบ และมีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยอาศัยด้วยเหตุว่าท่านได้บำเพ็ญบารมี (กำลังใจในการปฏิบัติที่สั่งสม) ไว้มากในพระบวรพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งสมาธิ พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์ เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความอัศจรรย์ สามวันสามคืน แม้กระทั่งเม็ดทราย พอจิตของท่านอิ่มตัวจากการประพฤติปฏิบัติ ได้เกิดนิมิตลูกสุนัขปรี่เข้าไปดูดนมแม่สุนัข ท่านจึงได้เกิดความสงสัยว่า "ในการพิจารณาขั้นนี้ที่จิตรวมในการพิจารณาแล้ว ไม่น่าจะมีนิมิตแล้ว" เพราะนิมิตจะเกิดจากการปฏิบัติสมาธิที่ยังไม่เป็นวสี (ยังไม่ชำนิชำนาญ) เมื่อท่านเกิดความสงสัย จึงได้พิจารณาจนได้ความว่า ลูกสุนัขที่ได้กระทำการดูดนมแม่หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นตัวท่านเองที่เสวยอัตภาพมาตลอด ๕๐๐ ชาตินั้นเองจึงได้เกิดความสลดสังเวชใจ จึงนำสิ่งที่ได้พบได้เห็นมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า "กายะ ทุกขัง อริยสัจจัง"คือว่าพิจารณาว่ากายเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เกิดความสุขให้เรา แต่ต่อมาท่าเกิดความรู้สึกกังวล จึงใช้ญาณตรวจดูเกิดพบว่าท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ (ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า) จึงค้นลงไปอีกว่าปรารถนาตอนไหน พอเห็นว่าปรารถนาเมื่อสมัยพระศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า จึงเห็นว่าเป็นการเนิ่นช้า ท่านเล่าอีกว่าถอนความปรารถนานั้น มุ่งมั่นความพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ จากนั้นเกิดเหตุในนิมิตว่ามียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ ยักษ์ได้ยอมแพ้และได้เนรมิตรกายกลับเป็นเทพบุตรกล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ในกาลเวลาต่อมาจิตท่านจึงรวม เห็นโลกทั้งโลกราบเรียบเตียนโล่งเสมอด้วยลักษณะทั้งสิ้นภายในจิต
ต่อมาท่านขึ้นไปที่ภาคเหนือจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ๑ พรรษาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เป็นพระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์ ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้หลวงตาปลัดเกตุ เพียงองค์เดียวเท่านั้น ขณะนั้นท่านจึงจำใจรับตำแหน่ง เพราะเห็นแก่ท่านเจ้าคุณอุบาลีผู้นิมนต์ ขณะที่กำลังอาพาธเป็นโรคมะเร็งที่กระดูกตรงขา แต่ต่อมาท่านจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านรำพึงในใจว่า"หากเรายังรับตำแหน่งอยู่ต่อไป ลาภสักการะอาจจะฆ่าการปฏิบัติของเรา อันเป็นเหตุแห่งการฆ่าการประพฤติปฏิบัติก็เป็นได้" ท่านจึงได้สละตำแหน่ง หนีธุดงค์เข้าป่า อาศัยอยู่ตามดอยมูเซอ ถ้ำเชียงดาว ถ้ำพวง ฯลฯ แล้วออกไปพำนักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี และสงเคราะห์อดีตคู่บำเพ็ญบุญในอดีตชาติของท่านชื่อแม่บุญปัน ที่บ้านแม่กอย ต.กลางเวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันวัดป่าแม่กอย ชื่อวัดป่าพระอาจารย์มั่น
ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ท่านบรรลุธรรมชั้นสูงสุดที่ ถ้ำดอกคำ ต.น้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังดอยนะโม ใกล้ดอยแม่ปั๋ง ท่านได้พูดกับลูกศิษย์คือหลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า "ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานกระบุงตะกร้า พอช่วยเหลือพวกท่านและลูกศิษย์ลูกหาได้บ้างเท่านั้น"ท่านได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้บรรลุธรรมสูงสุดเป็นจำนวนมาก ต่อมาพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ได้นิมนต์ท่านให้กลับไปสั่งสอนลูกศิษย์ทางภาคอีสาน โดยท่านได้อาศัยรถไฟสถานีเชียงใหม่ ลงที่จังหวัดนครราชสีมา โดยพำนักที่วัดป่าสาลวัน แล้วลงจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร (ปัจจุบันเป็น อ.โคกศรีสุพรรณ) พอพระภิกษุเข้ามาอยู่ศึกษากับท่านมากขึ้น ท่านจึงดำริว่าจะย้ายที่จำพรรษาไปวัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พอเข้ามาลงหลักปักฐานที่วีดป่าบ้านหนองผือเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ทุ่มเทสอนอุบายการหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวง แก่ลูกศิษย์โดยอุบายทางตรงแลทางอ้อม โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระบิดาพระกรรมฐานแห่งยุค ตำนานชีวิตของท่านถูกกล่าวขานกันไม่รู้จบ เป็นที่ประจักษ์แก่ศิษผู้ไกล้ชิดถึงญาณความรู้ของหลวงปู่มั่นกว้างขวางแม่นยำทุกด้านหาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่ง ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทานุศาสน์ ๔ อย่าง คือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา - แตกฉานในอรรถ
๒. ธรรมปฏิสัมภิทา - แตกฉานในธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา - แตกฉานในภาษา
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา - แตกฉานในปฏิภาณ
โดยปฏิปทาที่ท่านยึดมั่นมาตลอดชีวิตนั้น คือธุดงค์ ซึ่งธุดงควัตรข้อสำคัญที่ท่านสามารถยึดมั่นมาตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต มี ๗ ประการ คือ
๑. ปังสุกุลิกังคธุดงค์ - ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ - ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ - ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ - ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์
๕. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ - ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม
๖. เตจีวริตังคธุดงค์ - ถือใช้ผ้าไตรจีวร ๓ ผืน
๗. อารัญญิกังคะ - ถือละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน
ท่านชาญฉลาดเชี่ยวชาญการดักใจ ทรมารกิเลสของบุคคลต่างๆได้เป็นเลิศ และมีญาณหยั่งรู้จิตใจผู้อื่นได้รวดเร็ว ทำให้ศิษทั้งหลายต่างเกรงกลัวสำรวมในการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ท่านจะเน้นให้ลูกศิษถือสัลเลขธรรมเป็นเครื่องดำเนินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะสนทนาปราศรัยอะไรจะไม่ห่างจากสัลเลขธรรม ๑๐ ประการเลย ซึ่งประกอบด้วย อัปปิจฉตา(ความมักน้อย) สันตุฏฐิตา(สันโดษ) อสังคณิกา(ความไม่คลุกคลีมั่วสุม) วิเวกตา(ความสงัดวิเวก) วิริยารัมภะ(ความเพียร) ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ(ความหลุดพ้น) วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น)
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง ที่ได้ไปศึกษ่าข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านเล่าให้ฟังว่า การใช้ภาษานั้น พระอาจารย์มั่นนั้นแตกฉานมากสามรถเทศน์คำว่า นโม เพียงคำเดียวได้เป็นเดือนๆ ยิ่งคำว่า มหา ท่านก็เทศน์ สนุกมาก ครั้งหนึ่งมีพระสององค์จากกรุงเทพฯ ไปหาท่าน ปรากฏว่า พระสององค์มีความรู้แตกฉานในพระคัมภีร์หนังสือวิสุทธิมรรค ท่านพระอาจารย์มั่นก็สอนว่า
"วิสุทธิมรรคนั้นมีอะไร มีศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ นิเทศนี้คืออะไร ก็คือนิทาน เป็นนิทานเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ความจริงของศีล สมาธิ ปัญญาหรอก ถ้าต้องการรู้ความจริง ต้องปฏิบัติให้มีขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน"
ท่านพระอาจารย์มั่น มีความละเอียดมากในการสอนลูกศิษย์ เวลาพระองค์ไหนป่วยแล้วขอยา ท่านจะว่า นี่จะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือเอาศาสนาพุทธหรือศาสนายากันแน่ แต่ถ้าองค์ไหนป่วย แล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตียนอีกว่า ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก ฟังดูแล้วดูเหมือนลูกศิษย์ต้องโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ความหมายของท่านคือ ขอปราบทิฏฐิของลูกศิษย์ในเรื่องนี้ เพราะความดีไม่ได้อยู่กับการฉันยาหรือไม่ฉันยา แต่อยู่กับการใช้ปัญญาพิจารณาทุก นั้นต่างหาก
หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ละสังขารเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ อายุ ๗๙ ปี ๕๖ พรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส ซึ่งต่อมาอัฐิของท่านได้แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุในหลายที่ได้มีการแจกตามจังหวัดต่างๆที่ได้ส่งตัวแทนมารับ วาระนิพพาน ณ วัดป่าสุทธาวาส หลังจากที่ท่านพักอาพาธที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ ๑๑ วันแล้ว คณะศิษย์นุศิษย์ได้อาราธนาองค์หลวงปู่มั่นนอนในเปลพยาบาลแล้วนำท่านขึ้นรถเพื่อมาพัก ณ วัดป่าสุทธาวาส ออกเดินทางแต่เช้าถึงวัดป่าสุทธาวาสประมาณเกือบ ๑๒ นาฬิกา จากบันทึกของหลวงตาทองคำ จารุวณฺโณผู้อุปฐากองค์หลวงปู่มั่นในช่วงอาพาธได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่องค์ท่านมรณภาพไว้ในหนังสือ " บันทึกวันวาน " ไว้ดังนี้
"... จากพรรณานิคม ถึงวัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เกือบ ๑๒ นาฬิกา เพราะทางหินลูกรังกลัวจะกระเทือนมาก ท่านฯ ก็หลับมาตลอด นำท่านฯ ขึ้นกุฏิ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดก็มี ผู้เล่า ท่านวัน ท่านหล้า ผู้จัดที่นอนให้ท่านฯ ได้ผินศีรษะไปทางทิศใต้ ปกติเวลานอนท่านฯ จะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ด้วยความพะว้าพะวัง จึงพากันลืมคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางศีรษะของท่านฯเวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. เศษ ท่านฯ รู้สึกตัวตื่นตื่นขึ้นจากหลับ แล้วพูดออกเสียงได้แต่อือๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านฯ ประสงค์สิ่งใด มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ที่นั้น เห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนต์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้น มากันเต็มกุฏิ เท่าที่สังเกตดู ท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แต่อยากจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ท่านพลิกตัวไปได้เล็กน้อย ท่านหล้า ( พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต ) คงเข้าใจ เลยเอาหมอนค่อยๆ ผลักท่านไป ผู้เล่าประคองหมอนที่ท่านหนุน แต่ท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จะเป็นการรบกวนท่านฯ ก็เลยหยุด ท่านฯ ก็เห็นจะหมดเรี่ยวแรง ขยับต่อไปไม่ได้ แล้วก็สงบนิ่ง ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต้องเงี่ยหูฟัง ท่านวันได้คลำชีพจรที่เท้า ชีพจรของท่านเต้นเร็วชนิดรัวเลย รัวจนสุดขีดแล้วก็ดับไปเฉยๆ ด้วยอาการอันสงบ"
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/พระครูวินัยธรมั่น_ภูริทตฺโต