จงรักภักดีแต่พูด "คำธรรมดา" จ่อผิด ม.112 ??? ไม่ใช่แค่เรื่อง "สนธิญาณ-กสทช." !!! บทความพิเศษโดย เวทิน ชาติกุล

ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมายได้ที่ https://www.facebook.com/partiharn99/

หนึ่งวันหลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ในห้วงยามที่ทุกคนกำลังช็อค ในห้วงยามที่ทุกคนกำลังเศร้าโศก ได้ปรากฏบทความขึ้นหนึ่งในเฟสบุค บทความที่ชื่อ "สูงสุดสู่สามัญ" ที่เขียนโดยคุณ "บุญชัย เทียนวัง" สถาปนิกที่มีชื่อเสียง บทความที่ผมอยากให้อ่านบางช่วงบางตอนช้าๆชัดๆอีกครั้ง
"...สูงสุดสู่สามัญ สำหรับผู้ชายคนนั้นแล้ว ผมมักจะชอบพิจารณา "เขา" โดยไม่ได้มียศถาบรรดาศักดิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง พิจารณาเขาอย่างคนธรรมดาสามัญทั่วไป ผมไม่ได้บอกว่าวิธีนี้มันดีหรอกนะ แต่มันทำให้ผมมองเขาได้รอบด้านและเข้าใจ สิ่งที่เขาทำอย่างเป็นเหตุเป็นผล และที่สำคัญ คือ มันทำให้ผม "เข้าถึงเขาทางความคิด" ได้มากขึ้น
ผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุแค่ 2 ขวบ โตมากับพี่สาว พี่ชาย ถูกเลี้ยงมาอย่างธรรมดาโดยแม่สามัญชนที่เป็นอดีตเด็กกำพร้าด้วยเหมือนกัน ผมเชื่อว่าด้วยเพราะแม่ของเขานี่แหละ ที่หล่อหลอมเขาให้โน้มเอียงมาทางคนธรรมดามากกว่าสถานภาพพิเศษที่มีคนหยิบยื่นมาให้
เขาใช้ชีวิตวัยเด็ก ท่ามกลางการกวาดล้างครั้งใหญ่ทางการเมือง ญาติสนิทมิตรสหายในตระกูลของเขาถูกตีแตกพ่าย กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ทรัพย์สินถูกยึดไปเป็นอันมาก พี่ชายเขาถูกผลักดันขึ้นมาให้เป็น "ผู้นำในเชิงสัญลักษณ์" ตั้งแต่อายุแค่ 8 ขวบ โดยคณะทหารที่พึ่งปฏิวัติเสร็จสิ้นไปไม่นาน มีอำนาจเต็มที่ และต้องการปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จ นั่นน่าจะเป็นเรื่องที่ชวนอกสั่นขวัญแขวนสำหรับครอบครัวเขามากอยู่นะ ครอบครัว ซิงเกิลมัม ที่ต้องคอยประคับประคองลูกๆ ทั้ง 3 ให้ก้าวผ่านระหกระเหินแห่งสมรภูมิชีวิต...
เช้าวันหนึ่งตอนเขาอายุ 18 พี่ชายที่เขารักใคร่ก็มาจากไปก่อนวัยอันควร ตกหัวค่ำวันเดียวกัน น้ำตายังไม่ทันเหือดแห้ง เขาก็ถูกกดดันให้มารับภาระหนักหน่วงแทน ทุกอย่างคงจะฉุกละหุกทุลักทุเล เขายอมรับอย่างไม่อายว่า ไม่เคยอยากได้ตำแหน่งนี้...อยากแต่จะเป็นน้องชายเท่านั้น ผมคิดว่ามันยากนะ ที่จะจินตนาการได้ว่า ในช่วงเวลานั้น เค้าจะรู้สึกอย่างไร เขาคงไม่ได้มีเวลาไตร่ตรองนานนักหรอก แต่ด้วยความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เค้าจำต้องสลัดทิ้งสถานภาพ "น้องชาย" ไว้เบื้องหลัง กล้ำกลืนความโศก แล้วก้าวเดินขึ้นไปรับตำแหน่งนั้น ด้วยตั้งปณิธาณไว้ว่าจะทำหน้าที่ให้ได้ดีที่สุด ด้วยคุณธรรม..."

จงรักภักดีแต่พูด \"คำธรรมดา\" จ่อผิด ม.112 ??? ไม่ใช่แค่เรื่อง \"สนธิญาณ-กสทช.\" !!! บทความพิเศษโดย เวทิน ชาติกุล

"บุญชัย" เขียนไว้มากกว่านี้ แต่ผมตัดตอนมาให้อ่านแค่นี้ ใครอยากอ่านที่เหลือสามารถไปอ่านต่อได้ตามลิงค์ข้างล่าง สิ่งที่ควรทราบต่อก็คือบทความข้างต้น มีคนกดถูกใจ 10,000 คนขึ้นไป คงมีการแชร์ออกไปอีกมากมาย ทีนี้ลองไปดูครับว่าคนที่อ่านเขารู้สึกอย่างไร
"ขอแชร์เก็บไว้นะคะ ขอบคุณที่เขียนบทความเพื่อพระองค์ท่าน มีคุณค่า มีความหมาย และงดงามเหลือเกินค่ะ"
"ขออนุญาตเก็บไว้เล่าให้ลูกฟังนะคะ"
"กินใจเหลือเกิน..อ่านมา5รอบแล้ว..น้ำตาไหลไม่หยุด...มันคือความจริงใช่มั้ยที่พระองค์ท่านจากเราไปแล้ว...ถึงวันนี้แล้วในใจยังไม่อยากยอมรับความเป็นจริง...ในสมองมีแต่ภาพพระองค์ท่านวนเวียนอยู่ตลอดเวลา..รู้ซึ้งถึงคำว่าตรอมใจเป็นอย่างไร.."
"วันนี้วนเวียนอ่านบทความนี้ทั้งวัน...มันใช่..มันโดนใจมากๆๆ..คนเขียนเข้าไปนั่งในใจของคนทั้งประเทศ"
นี่แค่บางส่วนของความเห็นที่ได้อ่านบทความของบุญชัยเท่านั้น ทุกคนที่ได้อ่านล้วนซาบซึ้งประทับใจกับบทความที่คุณบุญชัยเขียนยกย่อง พระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่มีใครคิดหรือเข้าใจว่าคุณบุญชัยทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติแม้ว่าในบทความมิได้ใช้คำราชาศัพท์เลยแม้แต่น้อย

ที่นี้มาดูที่ "สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม" พูดใน สนธิญาณฟันธง ตรงประเด็น ตอน พระราชาแห่งพระราชาทั้งปวง(2) เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 17.00 น. ที่ กสทช.ระบุว่ามีเนื้อหาซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ "โดยใช้คำพูดในลักษณะที่ไม่เหมาะสม"
คุณผกามาส : คุณผู้ชมคะ สัปดาห์นี้เรายังอยู่กับพี่ต้อย คุณ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม พูดคุยกันถึงเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช คุยกันต่อ พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่าน ทรงขึ้นครองราชย์
คุณสนธิญาณ : ครับ… ย้ำนะครับว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ที่ต้องย้ำวันที่วันนี้นะครับ โดยทั่วไปน่าจะเป็นวันที่จะต้องชื่นชมเฉลิม ฉลอง แต่ในความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น แน่นอนครับจะมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ นั้นก็คือการสูญเสียพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ผ่านมานะครับ แต่การสูญเสียของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 นะครับ เราต้องกลับมาดูกันว่ามันเป็นความสูญเสียที่เกินท่าจิตใจของคนทั่วไปจะรับได้ ที่บอกว่าเกินที่จิตใจของคนทั่วไปจะรับได้เนี่ยนะครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาบที่ 8เนี่ยนะครับหลังจากขึ้นครองราชแล้วก็ ยังทรงศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงบรรลุนิติภาวะก็ได้เสด็จ ระหว่างนั้นก็ได้เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นระยะ แต่ครั้งสำคัญคือในวันที่ 5 ธันวาคม 2488 เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นพระมหากษัตริย์ที่ ทรงบรรลุนิติภาวะแล้วก่อนหน้านั้น ยังเป็นยุวกษัตริย์ กลับมาก็ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกร ประชาชนคนไทย แซ่ซ้องต้อานรับด้วยความชื่นชมยินดีนะครับ ไม่ว่าเสด็จไปทางไหน ก็จะมีพระอนุชา เสด็จติดตามด้วยเสมอ
ภาพเหล่านี้ผมไม่ต้องบรรยายนะครับ ประชาชนคนไทยเห็นในโลกโซเชียล พี่น้องเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่กันมาด้วยความผูกพัน ไม่ต้องนับว่าความรักที่เราเห็นผ่านรูป วีดีโอต่างๆเนี่ยนะครับมันมีความลึกซึ้งขนาดไหน แต่ความลึกซึ้งที่ผมเรียนย้ำเนี่ยนะครับ เป็นความลึกซึ้งของลูกกำพร้า ที่มีแม่เลี้ยงเดี่ยว แม้จะอยู่ในฐานะของความเป็นเจ้า อยู่ในฐานะพระบรมวงศานุวงษ์ชั้นสูง แต่ก็ถูกเลี้ยงอย่างเด็กธรรมดา
กลับมาประเทศไทย...ก่อนหน้าที่จะมีหมายกำหนดการจะเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วันคือในวันที่ 13 มิถุนายน ตามหมายกำหนดการ วันที่ 9 มิถุนายน ก็เกิดเหตุอันสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นแผ่นดินไทย นี่แหละครับจึงเป็นที่มาของพระราชนิพนธ์ประวัติศาสตร์ ผมย้ำนะครับว่าเป็นพระราชนิพนธ์ประวัติศาสตร์ เรื่องเมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งว่า “ไม่เคยคิดที่จะเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินเลย คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น”
แน่นอนครับ พี่ที่รักผูกพัน ย่อมเป็นสิ่งที่เหลืออื่นใด นี่คือ หัวจิต หัวใจ ของพระองค์ท่านในวันที่ขึ้นครองราชย์ อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนว่าหลังจากที่พระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ ด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวในพระราชหฤทัยแล้ว พระองค์ที่คิดจะครองราชเพื่อจะทำหน้าที่ในช่วงระยะ มีบันทึก ในหนังสือ ภปร. ที่จัดทำเพื่อทูลเกล้าถวายสมบัติพระราชฐานเป็นที่ระลึกในวันเฉลิมพระชนพรรษา เมื่อปี พ.ศ.2511 ได้บันทึกเอาไว้ว่า เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า พระองค์จะครองราชสมบัติเพียงชั่วระยะเวลาจัดงานพระบรมศพให้งดงาม สมพระเกียรติเท่านั้น เพราะพระชนมายุเพียง18พรรษา ไม่ทำให้ทรงรู้สึกว่ามีกำลังพระทัยจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้โดยตลอด ณ วันนั้นพระองค์มีพระชนมายุ เพียง 18 พรรษา เป็นเด็กวัยรุ่นอายุเพียง 18 ปี ที่สูญเสียพี่ไป และพระองค์ท่านจะต้องแบกรับพระหน้าที่ของแผ่นดิน จุดเปลี่ยน มีนิดเดียว ซึ่งพระองค์ท่านได้บันทึกไว้เอง
จุดเปลี่ยนนี้พวกเราหลายคนได้รับรู้ ลองพิจารณาดูว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนหรือไม่? ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ซึ่งเป็นที่จะเสด็จกลับไปสวิตเซอร์แลนด์ ครอบครัวมากันพร้อมหน้า แม่ และลูกทั้ง3 พี่สาว พี่ชาย น้องชายคนเล็ก แต่ตอนเสด็จกลับเหลือแต่เพียง แม่ พี่สาวและน้องชายคนเล็ก ในความรู้สึกที่บอกว่าเป็นจุดเปลี่ยน
พระองค์ท่านได้บันทึกพระราชนิพนท์เอาไว้ “วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาลงจากพระที่นั่ง พร้อมกับแม่ลาเจ้านางฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง ก็ไปยัง วัดพระแก้วเพื่อ นมัสการลาพระแก้วมรกต ลาพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านางฝ่ายหน้าลาข้าราชกาลทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก้ไปขึ้นรถยนต์ ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นฝ่าฟูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้า และแววตาที่ชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรัก และความห่วงใย
อันเป็นภาพที่อยากรับสั่งให้กับเขาทุกคนถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัยและขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสียมีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย นี่คือความในใจ ในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านนะ พอรถแล่นไปไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจ ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อเปิดมาดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่ อร่อยมาก ตามถนน ผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ประชาชนเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปอย่างช้าที่สุดถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆเข้าพระกรรณ ว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน”
คุณผกามาศ : คำนี้
คุณสนธิญาณ : นี่คือจุดเปลี่ยน พระองค์ท่านนึกในใจ “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร” ผมว่าเป็นถ้อยคำที่คนไทยทุกคน
คุณผกามาศ : จดจำได้ดีค่ะ
คุณสนธิญาณ : และตลอดระยะเวลาที่พระองค์ครองราชย์ ถ้อยคำนี้ที่พระองค์ตอบประชาชน นั่นคือสิ่งที่ได้ประจักษ์ยืนยัน

กล่าวสรุปให้อีกครั้งหนึ่งก็คือ ด้วยเนื้อหาทั้งหมดที่เล่าถึงในหลวงด้วยความซาบซึ้ง และจงรักภักดีเป็นเจตนา แต่ กสทช. กล่าวว่ามีการ "ใช้คำพูดไม่เหมาะสม" ปรากฏดังข้อความต่อไปนี้
1.พี่น้องเล่นกันมาตั้งแต่เด็กๆอยู่กันมาด้วยความผูกพัน (นาทีที่ 04.40 )
2. เป็นความลึกซึ่งของลูกกำพร้า ที่มีแม่เลี้ยงเดี่ยว ( นาทีที่ 05.02 )
3.แต่ก็ถูกเลี้ยงอย่างเด็กธรรมดา (นาทีที่ 05.12 )
4.เป็นเด็กวัยรุ่นอายุพียง 18 ปี ที่สูญเสียพี่ไป (นาทีที่ 07.44)
ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สนธิญาณพูดโดยไม่ใช้ "คำราชาศัพท์" นั่นเอง
ไม่เพียงแค่นั้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ยังระบุด้วยว่า "เห็นสมควรส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป"
ซึ่งแม้ไม่ระบุว่าจะดำเนินคดีข้อหาอะไรหรือสนธิญาณทำผิดกม.มาตราไหน แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่ากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรื่องนี้ก็คือ มาตรา 112
พูดง่ายๆก็คือ กสทช.กำลังมองว่า "สนธิญาณ" พูดถึงในหลวงออกสื่อโดยไม่ใช้คำราชาศัพท์ เข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 112 ใช่หรือไม่?
ทั้ง "บุญชัย" และ "สนธิญาณ" ต่างพูดถึงพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์เหมือนกัน แต่ฝ่ายหลังจ่อถูก "เล่นงาน" จากองค์กรที่ควบคุมดูแลสื่อของประเทศ ด้วยข้อกล่าวหาที่คิดได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อสถาบันเบื้องสูงรุนแรงเช่นเดียวกับที่พวกคิดล้มเจ้าล้มแผ่นดินได้กระทำ
ผมจะไม่อ้างตรรกะทำนองว่า ถ้า "สนธิญาณ" ผิดแล้ว "บุญชัย" จะผิดด้วยข้อหาแบบเดียวกันไปด้วย เพราะการอ้างแบบนั้นมันดูถูกสติปัญญาของประชาชนคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากไป
แต่ผมจะบอกว่า ในสองกรณีที่ยกมานั้น ชาวบ้าน ประชาชน คนทั่วไป วิญญูชน มีความคิด สติปัญญา มีวิจารณญาณที่ "แยกแยะ" ได้ว่า การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยใช้ "คำธรรมดา" แต่ "เจตนา" เพื่อให้ชาวบ้าน คนทั่วไปได้ซึมซาบเข้าใจความคิด ความรู้สึกของพระองค์ท่านที่ก็มีสุข-ทุกข์ไม่ต่างจากเราทั่วไปแต่พระองค์ท่านทรงเสียสละแบกรับพระราชภาระเอาไว้มากกว่าเราไม่รู้กี่เท่า แบบนี้เขาเรียก "จงรักภักดี" หรือ "แสดงความอาฆาต มาดร้าย"
ดังที่มีเสียงสะท้อนว่า
"เคยมีคนหนึ่งเขียนถึงพระองค์แบบมองอย่างคนธรรมดา เขาก็มาลงสื่อ อย่างนี้มีต้องผิดหมดเหรอค่ะ คนจะผิด มันต้องดูเจตนา การที่คนเราจะอธิบายให้คนอื่นซึ่งอาจเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ค่อยเข้าใจศัพท์แสงมากนัก คำอธิบายอาจไม่ชัดเจน คิดว่า กสทช ไปปิดช่องที่มันมีเจตนาโจมตีสถาบันไม่ดีกว่าเหรอคะ มีให้เห็นออกหลายอัน อย่าทำให้คนเข้าใจผิดๆ นะคะ"
"งง..!..เป็นคนนึงที่ดูรายการนี้ค่ะ..โดนได้ไง..เข้าใจในการสื่อสารเพื่อให้คนฟังคนดูอย่างเราเข้าใจได้ง่ายซึ้งแฝงไปด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่านอย่างสุดหัวใจเราคนฟังคนดูก็เช่นเดียวกันหาได้หมิ่นเกรีตรพระองค์ท่านรึก็เปล่า..สื่อสารอย่างบริษุทธิ์ใจ..โน่นค่ะไอ้พวกหมิ่นพระองค์ท่านมันนอนสบายอยู่ต่างประเทศไปจับมันให้ได้ก่อนเถอะ!"
ประชาชนที่คิดไตร่ตรอง วิญญูชน เขาแยกแยะได้ แต่องค์กรที่ควบคุมดูแลสื่อของประเทศ กลับแยกแยะไม่ได้ ทั้งๆที่แต่ละคนนั่งกันอยู่ตรงนั้นก็กินเงินเดือนกันคนละหลักแสน หลักหลายแสน

ทีนี้มาดูว่า การพูด "คำธรรมดา" กับในหลวงนั้น พระองค์ท่านเองจะตรัสว่าอย่างไรกับเรื่องแบบนี้
ตามที่บันทึกไว้ใน "หนังสือพระราชอารมณ์ขัน" โดย วิลาศ มณีวัต ระบุว่า
"เมื่อครั้งหนึ่งในหลวง ร. ๙ ทรงเสด็จไปทรงงานในที่แสนไกล ผู้ใหญ่บ้านได้เกณฑ์ชาวกะเหรี่ยงมูเซอที่เพาะปลูกพืชไร่ ให้นำผลผลิตมาถวายในหลวง จากนั้นก็ทำการซักซ้อมคำราชาศัพท์กันยกใหญ่ ดูเหมือนว่ากะเหรี่ยงจะจำคำราชาศัพท์ได้แล้วจึงบอกว่า “ได้แน่นอน ในหลวงต้องไม่เสียพระทัยแน่นอน”
เมื่อถึงวันที่ในหลวงทรงเสด็จมาตรวจงาน กะเหรี่ยงก็ได้ถวายของให้กับในหลวง ร.๙ แต่ด้วยความตื่นเต้นทำให้นึกคำพูดไม่ออก ไม่รู้ว่าต้องพูดอะไรดี จึงพูดออกไปว่า
“อ่ะ อันนี้ให้มึง อันนี้ให้เมียมึง ส่วนอันนี้ให้ลูกๆ มึง”
ในหลวง "ทรงพระสรวล" แล้วตรัสตอบว่า “ขอบใจนะ”
หรือกรณีที่รู้จักกันดีเรื่องหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธท่านได้พูดกับในหลวง เรื่องเล่านี้อาจมีการต่อเติมเสริมแต่งกันภายหลัง แต่ที่สามารถตรวจสอบได้นั้น เป็นคำบอกเล่าของ นายรักษ์ ด่านสกุล อดีต สส.โคราช 3 สมัย ที่ได้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยได้เล่าว่า ในหลวงได้เรียกให้ตนเข้าเฝ้าขณะรับเสด็จฯ เมื่อวันที่ 11 มค. 2538 ตนจึงได้ขึ้นไปเข้าเฝ้าบนพระอุโบสถ ด้วยความประหม่าจึงพูดอะไรไม่ออกไม่รู้จะใช้คำพูดอย่างไรกับพระเจ้าแผ่นดิน แต่เมื่อถึงเวลาอยู่ หน้าพระพักตร์ ซึ่งหลวงพ่อคูณท่านก็ยืนอยู่ด้วย พระองค์ทรงให้พูดตามปกติ
หรือดังที่ หลวงพ่อคูณท่านตอบลูกศิษย์ที่เป็นห่วง กลัวว่าหลวงพ่อคูณท่านจะพูดราชาศัพท์ไม่ได้ เรื่องนี้หลวงพ่อท่านบอกเองว่า "จะไปยากอะไร ก็พูดว่าขอถวายพระพรมหาบพิตร หรือไม่ก็ถวายพระพรคุณโยม ท่านสบายดีหรือ...ท่านคงจะไม่ถือ เพราะท่านเป็นจอมปราชญ์ พูดอย่างไรกับท่าน ท่านก็ย่อมรู้ดี”

ประเด็นที่พูดเรื่อง "กสทช. แบนรายการสนธิญาณ" นี้ไม่ได้อยู่ที่ตัว "สนธิญาณ" ถูกแบน ซึ่งล่าสุด สื่อมวลชนที่จงรักภักดีมากที่สุดคนหนึ่งก็ได้ประกาศออกสื่อแล้วว่าจะยุติการจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ตลอดชีวิต
แต่อยู่ที่การกระทำที่ของ กสทช. ถ้าเป็นไปด้วยเหตุผลที่ว่า "ไม่พูดราชาศัพท์=หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" จริงแล้ว เรื่องนี้จะไม่ใช่แค่เรื่อง "กสทช.กับ สนธิญาณ" แต่จะเป็นประเด็นที่ฝ่ายที่คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์จ้องรอจังหวะขยายผลในวงกว้างถึงกรณีอื่นๆที่มีการกระทำผิดจริงตาม ม.112 อยู่แล้ว เพราะพวกนี้เป็นพวกที่อ้างมาตลอดว่า "ต้องยกเลิก กม.ม.112 เพราะเป็น กม.ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ "กลั่นแกล้ง" และ "ใส่ร้าย" ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง"
ที่ตลกร้ายไปกว่านั้นก็คือ เรื่องแบบนี้มาขึ้นในช่วงเวลานายทหารที่จงรักภักดี ที่รักพระเจ้าอยู่หัวมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นนายกรัฐมนตรี

จงรักภักดีแต่พูด \"คำธรรมดา\" จ่อผิด ม.112 ??? ไม่ใช่แค่เรื่อง \"สนธิญาณ-กสทช.\" !!! บทความพิเศษโดย เวทิน ชาติกุล
-----
อ้างอิง
https://m.facebook.com/story.php…
https://www.thairath.co.th/content/759422
http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/197156