- 13 ธ.ค. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
หม่อมไกรสร เดิมคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ และเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ทรงเป็นต้นราชสกุล พึ่งบุญ และ สกุล อนิรุทธเทวา ทรงรับใช้ราชการเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบตลอดรัชกาล ภายหลังถูกลดพระอิสริยศักดิ์ให้เป็นหม่อม ท่านเป็นพระราชวงศ์คนสุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
หม่อมไกรสรเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ธิดาพระจักรีเมืองนครศรีธรรมราช พระองค์เจ้าไกรสรประสูติเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๔ ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้นสองค่ำ ปีกุน สัมฤทธิศก จ.ศ.๑๒๑๐ พระประวัติเมื่อทรงพระเยาวน์นั้น ก.ศ.ร. กุหลาบบันทึกไว้ว่า "พระองค์ท่านเปนจอมปราชญ์ จินตะกระวีบัณฑิตย์ ชาติ์ราชตระกูลสุริยวงศ์อันประเสริฐ" และจากวารสารภาษาอังกฤษที่ชื่อ Siam Repository กล่าวถึงความโดดเด่นโดยเฉพาะด้านการศาสนาและโหราศาสตร์ ว่า "ทรงมีความรู้ทางด้านพุทธศาสนาอย่างดีเยี่ยม เหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ" ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ ๒ จึงทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นรักษรณเรศร กำกับกรมสังฆการี ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ทรงกำกับกรมวังและอธิบดีกรมพระคชบาลต่อจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐา
นอกจากนี้หม่อมไกรสร เมื่อยังทรงเป็นกรมหมื่นรักษรณเรศรได้ทรงงานเคียงคู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ และในฐานะพระปิตุลาหรือ "อา" ทรงงานรับใช้ราชการเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบตลอดรัชกาล โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหลวงรักษ์รณเรศ และโปรดให้กำกับกรมวัง ผลงานของหม่อมไกรสร ทรงมีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางทั้งในทางการตัดสินคดีความ กำกับกรมวัง ดูแลการจ่ายเบี้ยหวัดประจำปีของพระราชวงศ์และขุนนาง
ในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ หม่อมไกรสรเป็นตุลาการชำระความคดีเจ้าจอมอิ่มกับพระสุริยภักดี ซึ่งแม้จำเลยทั้งสองคนจะไม่เคยพบกันคุยตัวต่อตัว แต่มีพ่อสื่อแม่ชักเป็นตัวกลางให้ทั้งสองคน แต่ก็ได้รับพิพากษาประหารชีวิตทั้งชายหญิง
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกเกี่ยวกับหม่อมไกรสร มีประเด็นคำพิพากษา คือ หม่อมไกรสรประพฤติกำเริบ ทำตนเทียมเจ้าในงานลอยกระทง เกลี้ยกล่อมเจ้านาย ขุนนางและซ่องสุมกองทหารรามัญไว้เป็นพวกพ้อง แต่ถูกสอบสวนว่าซ่องสุมผู้คนไว้มากเพื่อคิดกบฏหรือไม่ หม่อมไกรสรตอบปฏิเสธว่า "ไม่ได้คิดกบฏ" แต่เมื่อถามว่า หากเปลี่ยนแผ่นดินเมื่อไหร่ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร ตุลาการในสมัยนั้นจึงมีคำตัดสินออกมาส่วนหนึ่ง ว่า "...กรมหลวงรักษ์ณรเรศมีความผิด ต้องลดอิสริยศักดิ์สมญาเป็นหม่อม ตลอดทั้งวงศ์วาน..."
นอกจากนี้มูลเหตุอีกอย่างหนึ่งที่พระองค์เจ้าไกรสรถูกถอดอิสริยยศคือ ทรงเลี้ยงโขนผู้ชายไว้มากมาย บรรทมอยู่แต่กับพวกโขนละคร ไม่บรรทมกับพวกหม่อมห้ามในวังเลย รัชกาลที่ ๓ มีรับสั่งให้เอาพวกโขนละครมาไต่สวน ได้ความสมกันว่า
"...ทรงเป็นสวาทกับพวกละคร ไม่ถึงกับชำเรา แต่เอามือพวกละครและมือของพระองค์ท่านกำคุยหฐานของทั้งสองฝ่ายจนภาวธาตุเคลื่อน..."
หลังจากที่ รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดให้ถอดยศกรมหลวงรักษ์ ลงเป็นสามัญชนเรียก หม่อมไกรสร แล้ว หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๑๐ ตรงกับวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ รวมพระชันษา ๕๖ ปี และเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้
(แท่นหินประหาร หม่อมไกรสร ที่วัดปทุมคงคา)
ปัจจุบันนี้ยังมีแท่นหินที่ประหารท่านอยู่ที่วัด มีเรื่องเล่ากันว่า หม่อมไกรสรท่านเป็นคนดุ เมื่อท่านถูกนำใส่ถุงแดง ให้เพชรฆาตทุบ เนื่องด้วยท่านเคยกำกับดูแลเรื่องประหารมาก่อน เพชรฆาตคงเกร็งที่ต้องมาทุบผู้เคยเป็นนาย เลยทุบไม่ถูกจุดตายตรงคอต่อ มีเสียงดังลั่นมาจากในถุงผ้าว่า
"ไอ้พวกนี้ กูสอนไม่จำ"
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมไกรสร
เพจ การเมือง ประวัติศาสตร์ชาติไทย