- 22 ธ.ค. 2560
จากข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ได้สุ่มการตรวจตัวอย่างหมูยอที่วางจำหน่าย ทั่วประเทศจำนวน 5 ชนิด ปรากฏว่าพบสารกันบูดทุกยี่ห้อที่นำมาทดสอบ
หมูยอ.. คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะอยู่คู่คนไทยมานาน ไม่ว่าจะนำไปทานแบบทอด ยำ ส้มตำ ลาบ ฯลฯ ก็อร่อยในแบบฉบับของหมูยอนั้นได้ นอกจากนั้นหมูยอยังเป็นของฝากยอดนิยม เมื่อไปเที่ยวเมืองเหนือ หรืออีสาน ก็จะต้องมีติดไม้ติดมือมาด้วย ยิ่งโลกมันเปลี่ยนไปแล้วตามตลาดหรือร้านสะดวกซื้อก็มีขายอยู่ทั่วไป
จากข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ได้สุ่มการตรวจตัวอย่างหมูยอที่วางจำหน่าย ทั่วประเทศจำนวน 5 ชนิด ปรากฏว่าพบสารกันบูดทุกยี่ห้อที่นำมาทดสอบ และหลายยี่ห้อมีปริมาณสารกันบูด เกินมาตรฐานอีกด้วย โดยสารกันบูดที่พบได้แก่ กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ซึ่งตามกฎของกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้ได้ แต่มีมาตรฐานกำหนดว่าต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เพราะถ้ามากกว่านี้จะเสี่ยงกับการรับสารเคมีของผู้บริโภค อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากเลือกซื้อไม่ระวังอาจได้รับของแถมอย่าง "สารกันบูด" ติดไม้ติดมือกลับมาด้วย
อันตรายมาก หากหมูยอ ไม่มียี่ห้อ ไร้ฉลาก ก็ไม่ควรบริโภคเนื่องจากถ้าเป็นรายเล็กๆ ต้องมานั่งทำระบบคุณภาพต่างๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น คนเหล่านี้จึงหาวิธีผลิตอาหารให้ผู้บริโภคอย่างที่เราคาดไม่ถึง นึ่งในนั้นที่ผู้ผลิตคิดถึงก็คือ สารบอแรกซ์ หรือน้ำประสานทอง นั่นเอง
เปิดความรู้รอบตัว... ทำไมอาหารจึงบูด เน่า เฉา เสีย
ธรรมชาติของอาหารเกือบทุกชนิด เมื่อเก็บไว้นานๆ ย่อมเปลี่ยนสภาพ จากของสดใหม่กลายเป็นเน่าเสีย เพราะจุลินทรีย์ในอากาศที่รายล้อมตัวเราอยู่ ทั้งในรูปของแบคทีเรีย ยีสต์ หรือเชื้อรา เมื่อใดที่จุลินทรีย์เหล่านี้ปะปนลงไปในอาหาร นั่นหมายความว่ากระบวนการเน่าเสียได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งหลังจากที่จุลินทรีย์ใช้อาหารเป็นที่อยู่อาศัย เจริญเติบโต แพร่พันธุ์ ไปจนถึงการขับถ่าย โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นส่วนสำคัญให้อาหารเปลี่ยนสภาพ ไม่ว่าจะเป็นสี กลิ่น หรือรสชาติเปลี่ยนไป การเน่าเสียเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กระบวนการถนอมอาหารจึงเกิดขึ้น ทั้งการใช้ความร้อน ความเย็น ความเค็ม การฉายรังสี หรือแม้แต่สารเคมีสังเคราะห์ที่เรียกกันทั่วไปว่าสารกันบูด ที่เราเคยได้ยินกันมา
ส่วนอันตรายจากสารกันบูด
สารกันบูดแต่ละชนิดที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เนื่องจากผ่านการทดสอบทางด้านพิษวิทยาและการประเมินความปลอดภัยแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าอาหารที่คุณซื้อใส่สารกันบูดในปริมาณที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับชนิดอาหาร แม้สารกันบูดบางชนิดจะระเหยได้เมื่อผ่านความร้อน แต่การบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดเป็นประจำอาจส่งผลให้ร่างกายขับออกไม่ทัน กลายเป็นสารพิษตกค้างสะสมทำให้ป่วยได้
วิธีหลีกเลี่ยง
1. เลือกซื้ออาหารที่มีบรรจุภัณฑ์ และมีฉลาก ระบุผู้ผลิต สถานที่ผลิตชัดเจน ระบุวันผลิต และวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ มีเครื่องหมายและเลขสารบบอาหารของ อย. 2. เลือกซื้ออาหารกับแหล่งจำหน่ายที่มีระบบการตรวจสอบสินค้าที่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดจำเป็นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ได้แก่ หมูยอ ลูกชิ้น ควรเลือกซื้อกับผู้จำหน่ายที่มีการใช้ความเย็นในการควบคุมอุณหภูมิสินค้า 3. บริโภคอาหารหลายชนิดหมุนเวียนกันไป เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารพิษตกค้าง
4. รับประทานผักผลไม้สดเป็นประจำ นอกจากใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย วิตามินบางชนิดและสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติยังทำปฏิกิริยาต้านการเกิด มะเร็งได้
5. หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ
6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีสดเกินไป เช่น เนื้อสัตว์สีแดงสด เพราะสีสันน่ากินเหล่านั้นล้วนมาจากสารตรึงสี ก่อเกิดมะเร็ง 7. ปรุงอาหารสดใหม่รับประทานเอง ควรทำอาหารกินเองบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงมีความสด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี