ย้อนรอยมหาสงครามเอเชียบูรพา แนวที่ ๕ กับจารกรรมในเมืองนครศรีธรรมราช

ย้อนรอยมหาสงครามเอเชียบูรพา แนวที่ ๕ กับจารกรรมในเมืองนครศรีธรรมราช

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ ๗๐ ถึง ๘๐ ปีก่อน ในเมืองนครศรีธรรมราช ถ้าใครจะถ่ายรูป ก็คงต้องไปที่ร้าน มาลู ซึ่งเป็นร้านถ่ายรูปเพียงร้านเดียวในนครศรีธรรมราชที่จัดได้ว่ามีฝีมือดีที่สุด ใช้กระดาษและน้ำยาอัดล้างดีที่สุด คนชั้นกลางจึงนิยมปถ่ายรูปที่ร้านนี้กันมาก


ส่วนพวกกลุ่มพ่อค้าที่มีฐานะหน่อย  ก็จะมีกล้องถ่ายรูปของตัวเอง แต่ก็ต้องอาศัยการอัดล้างจากร้านมาลูเช่นกัน ร้านมาลูที่ว่านี้ 


แต่ใครจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว นายมาลูคนนี้คือหน่วยสืบราชการลับหรือจารกรรมของญี่ปุ่นที่เรียกว่า แนวที่ ๕ ที่มาทำการจารกรรมเฉพาะ ในเมืองนครศรีธรรมราช ก่อนวันที่  ๘  ธันวาคม  พ.ศ . ๒๔๘๔


ก่อนที่ทหารญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่ท่าแพนั้น  หน่วยจารกรรมญี่ปุ่นในเมืองนครศรีธรรมราชมีด้วยกันดังนี้

๑. ไทยดิสเปนซารี  หรือร้านนายมาลู ทานากะ
๒.  บริษัทสุนทรวานิช หรือ ร้านโกโต คอนซือ ที่รับซื้อแร่ที่มาเช่าห้องแถวเชิงสะพานราเมศวร์
๓.  บริษัทเคียวแอไค  รับเหมาก่อสร้างถนนสายนคร- ปากพนัง

 

ย้อนรอยมหาสงครามเอเชียบูรพา แนวที่ ๕ กับจารกรรมในเมืองนครศรีธรรมราช

 

ร้านมาลู ที่เป็นทั้งร้านถ่ายรูป และร้านทำฟัน

 

นายมาลู ทานากะ เป็นชาวญี่ปุ่น  มีภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่น  แต่คนไทยเรียกแม่ศรี  มาอยู่ที่เมืองนคร ตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ

 

คุณลุงนิเวส อัจจิมางกูรซึ่งยุวชนทหารหน่วยฝึกที่ ๕๕ ที่ได้ออกสนามรบจริงในวันญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก และเป็นลุงของผู้เขียนได้บันทึกและเล่าให้ฟังว่า สมัยเรียนอยู่โรงเรียนเบญจมาราชูทิศ สนามหน้าเมือง ก็ได้อาศัยอยู่ที่วัดเสาธงทอง ซึ่งใกล้กับร้านนายมาลู 

 

  ย้อนรอยมหาสงครามเอเชียบูรพา แนวที่ ๕ กับจารกรรมในเมืองนครศรีธรรมราช

ยุวชนทหารนิเวส อัจจิมางกูร

 

“ร้านมาลูเป็นร้านถ่ายรูปและร้านทำฟันมานานแล้ว บริเวณร้านนั้นตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินฝั่งตะวันตกหน้าวัดเสาธงทองติดต่อกับวัดวังตะวันตก คิดว่าเป็นแผนจารกรรมของญี่ปุ่นที่วางไว้ระยะยาวที่จะเปิดสงครามมหาเอเชียบูรพา

 

โดยส่งนายมาลูมาทำจารกรรม  กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น คงวางแผนไว้นานแล้ว ก่อนที่นายพลเอกฮิเดกิ โตโจ เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากเจ้าชายโคโนเอะเป็นแน่  
     

โดยส่งจารกรรมชาวญี่ปุ่นมาตั้งรกรากและประกอบอาชีพถ่ายรูป  ทำฟันเป็นอาชีพ บังหน้า ส่วนหน้าที่ของมาลูที่แท้จริง คงจะมาศึกษาภูมิประเทศทั่วไปของเมืองนครศรีธรรมราชตลอดถึง การคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำแล้วส่งรายงานไปยังประเทศญี่ปุ่น”

ย้อนรอยมหาสงครามเอเชียบูรพา แนวที่ ๕ กับจารกรรมในเมืองนครศรีธรรมราช

ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก

 

แต่ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่ท่าแพในวันที่ ๘  ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  การคมนาคมที่จะมาเมืองนครศรีธรรมราชมาได้เพียง ๒  ทาง  คือ  ทางรถไฟและทางเรือ  ผู้ที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ จะต้องขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราชแล้วไปต่อรถด่วนที่สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง
 

การคมนาคมทางน้ำ  จะต้องลงเรือเล็กที่ท่าแพแล้วไปขึ้นกลไฟที่ปากน้ำปากพูนเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ  โดยมีบริษัทที่รับส่งสินค้าจากเรือใหญ่ ๒  บริษัท คือ  บริษัทกิมหลีเชียง  และ ตันหยิดเส็ง   ทั้ง  ๒  บริษัทนี้คือบริษัทบวรพาณิชย์ และ บริษัทนครพันธุ์

นายมาลูที่รัฐบาลญี่ปุ่นส่งมาสืบราชการลับ คงมาศึกษาภูมิประเทศ การคมนาคมและอื่นๆ  ของเมืองนครมานานแล้วตามแผนยุทธการของญี่ปุ่นที่วางไว้ระยะยาว คงถ่ายภาพประกอบรายงานการเคลื่อนไหวต่างๆ  ในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบ   และคงเป็นผู้วางแผนติดต่อยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นที่ตลาดท่าแพ 
 

เมื่อ ๘   ธันวาคม   พ.ศ.  ๒๔๘๔  ได้มีคนเห็นมาลูเดินอยู่บริเวณตลาดท่าแพซึ่งเป็นท่าเรือเล็กๆ  ของจังหวัดนครศรีธรรมราช   ผู้ที่จะเดินทางไปต่างอำเภอต้องมาลงเรือที่ท่าแพ  เพราะมีเรือโดยสารประจำ ส่วนผู้ที่จะโดยสารเรือไปกรุงเทพฯ หรือสิงคโปร์ ก็ต้องลงเรือที่ท่าแพแล้วไปขึ้นเรือกลไฟใหญ่ที่ปากน้ำปากพูน


ญี่ปุ่นได้ใช้เรือบรรทุกทหารเข้ามาทางปากน้ำปากพูน  และเข้ามาตามลำคลองปากพูน
ซึ่งเป็นคลองเดียวกันกับคลองท่าแพ เมื่อวันที่  ๘   ธันวาคม   พ.ศ.  ๒๔๘๔   เวลาที่ทหาร
ญี่ปุ่นลงจากเรือใหญ่มาขึ้นเรือระบายพลอันเป็นเรือเล็ก คงเป็นเวลาตอนกลางคืน และคง
จะหลงทางเข้าปากน้ำปากพูนทั้งๆ ที่ปากน้ำปากพูนมีกระโจมไฟที่เห็นแสงแต่ไกล

ย้อนรอยมหาสงครามเอเชียบูรพา แนวที่ ๕ กับจารกรรมในเมืองนครศรีธรรมราช

ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบริเวณบ้านท่าแพ ใกล้กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ เนื่องจากยกพลขึ้นบกผิดตำแหน่ง เลยมีความยากลำบากในการเคลื่อนที่ 

 

แต่เนื่องจากฝนตกหนักในตอนนั้น จึงทำให้เข้าปากน้ำปากพูนล่าช้ากว่ากำหนด เมื่อทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ ก็ได้ปะทะกับทหารไทยในตอนเช้าตรู่


สถานที่ที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกคือตลาดท่าแพนั้นอยู่ติดกับกองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๑๕  ขณะนั้นมี  ส.อ. ผ่อง  เป็นผู้รักษาการณ์ ป.  พัน  ๑๕ ได้นำทหารกองรักษาการณ์ออกไปปะทะเป็นหน่วยแรก

 

ส.อ. ผ่องถูกยิงที่สะโพก แล้วหลังจากนั้นก็มีกำลังหนุนของทหารไทยจากหน่วยต่าง ๆ  ตำรวจ และยุวชนทหารหน่วยที่  ๕๕  เข้าช่วยรบ เป็นผลให้การสู้รบถึงขั้นตะลุมบอน  ทหารญี่ปุ่นได้เสียชีวิตทหารเป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนทหารไทยเสียชีวิตทั้งนายทหาร  นายสิบ  พลทหาร  รวมแล้ว  ๓๙  นาย

 

ขณะที่ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหารในการบังคับบัญชาของ พลตรีหลวงเสนาณรงค์กำลัง
สู้รบกับญี่ปุ่นที่ท่าแพในตอนเช้าตรู่นั้น

 

จะเป็นคำสั่งของ  พ.ต.ต. ขีด ศิริศักด์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชหรือว่า  พ.ต.อ. หลวงแสงนิติสาสตร์  ผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ท่านใดก็ท่านหนึ่ง ได้ออกคำสั่งให้ ส.ต.ท. พะวง  วัฒนนิพัทธ์ พร้อมด้วยตำรวจลูกแถวให้ไปควบคุมนายมาลู ซึ่งถือเป็นชนชาติศัตรู

 

นายมาลูและภรรยายินยอมให้จับกุมโดยดี  ส.ต.ท. พะวง จึงควบคุมนายมาลูกับแม่ศรีไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช  โดยนำไปควบคุมไว้ที่เรือนพยาบาลซึ่งอยู่หลังสถานีตำรวจสมัยนั้น 

 

เมื่อทางรัฐบาลได้มีคำสั่งหยุดยิงแล้ว จึงได้เลิกควบคุมมาลูและภรรยา ครั้นสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ยุติลงเมื่อ ๑๖  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๔๘๘  นายมาลูได้ย้ายการทำมาหากินจากเมืองนครศรีธรรมราชไปอยู่หาดใหญ่ ทราบต่อมาภายหลังว่า นายมาลูถูกคนร้ายแทงเสียชีวิต ส่วนแม่ศรีผู้เป็นภรรยา เมื่อมาลูเสียชีวิตได้ข่าวว่าเดินทางกลับญี่ปุ่น

 

เรียบเรียงจากสัมภาษท์ และบทความ

นิเวส อัจจิมางกูร

“แด่ป๋าของลูก” ดร.  เย็นใจ  เลาหวณิช

นายน้อม ถาวรโด

แช่ม ช่องสกุล