- 16 ม.ค. 2561
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
แม้ว่าสมเด็จพระบรมราชชนก จะทรงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ไปตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ กระนั้น ก็ทรงมีอุปนิสัยคล้ายคลึง ที่พระราชบิดาถ่ายทอดมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความไม่ถือพระองค์ และไม่ยึดติดกับฐานันดรศักดิ์ วางพระองค์กันเองกับบุคคลรอบข้างเสมอ ดังจะยกข้อความบางตอน จากหนังสือ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท” (เย็นศิระเพราะพระบริบาล) ที่บันทึกไว้โดย “ลัดดาซุบซิบ” เป็นเนื้อหาที่นักเรียนแพทย์พูดถึงความประทับใจที่ตนมีต่อพระบรมราชชนก มีข้อความดังต่อไปนี้
ทุกคราวที่เรียนประวัติศาสตร์ในวันเสาร์ ทูลกระหม่อมจะหอบหนังสือทั้งภาษาไทยและอังกฤษมาเป็นจำนวนมากเสมอเพื่อประกอบเป็นหนังสือที่อ้าวถึง และขณะเดียวกันก็ให้ยืมไปคนละหนึ่งเล่ม โดยให้จับฉลากเพื่ออ่านในเลากำหนดให้ เมื่อครบกำหนดแล้วก็ให้มาเล่าให้ที่ประชุมฟังว่าหนังสือเล่มนั้นกล่าวถึงอะไรมีความสำคัญประการใด ทรงเกณฑ์ให้ยืนแสดงปาฐกถาต่อหน้าที่ประชุมบางเสาร์ก็มีแต่เพียงนักเรียนซึ่งนับว่าเสาร์นั้นโชคดีอย่างยิ่ง แต่บางเสาร์โชคร้ายต้องยืนแสดงต่อพระพักตร์เจ้านาย ต่อหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ บางคราวก็มีชาวต่างประเทศด้วย ท่านเหล่านี้ทูลกระหม่อมเชิญมา เพื่อให้พวกเราหัดมีความกล้าหาญ ในที่ประชุม
นอกจากทรงสอนเองแล้วให้พวกเราผลัดกันแสดง ยังได้ทรงเชิญเจ้านายและผู้ชำนาญการต่างๆ มาทรงแสดง และแสดงปาฐกถาให้พวกเราฟังอีกตลอดปี เกี่ยวกับทั้งไทยและต่างชาติ มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นอาทิ ซึ่งแสดงเทศนาพระราชพงศาวดารติดต่อกันหลายทัณฑ์ อันเป็นแบบฉบับที่ได้รับการยกย่องเป็นแม่บทของพระราชพงศาวดารไทยมาจนบัดนี้ คนอื่นๆ ที่กรุณาไปแสดงตามที่ทรงเชิญไป ที่จำได้มีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี พระกัลยาณไมตรี พระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ พระยาปรีชานุศาษสน์ มร.มิแชล เบรอาล เป็นต้น แต่ละท่านเล่าถึงประเทศที่ได้ผ่านมาและรู้จักดี
มีบางคราวได้ไปยืมสถานที่ของตึกรัฐประศาสน์ (ตึกอักษรศาสตร์เดี๋ยวนี้) ทูลกระหม่อม ได้ทรงพาพวกเราไปชมสถานที่ต่างๆ ในพระนครหลายแห่ง เมื่อไปที่ใด พวกเราก็ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติเราประกอบไปในตัวด้วย ได้ เปิดหูเปิดตา เข้าใจ และเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น โดยทรงอธิบายด้วย พระองค์เองอย่างละเอียดลึกซึ้งถึงรากเดิม เช่นที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ก็ได้ทรงอธิบายให้ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เพราะเหตุใด ทำไมจึงสร้างตรงนั้น ใครเป็นนายช่าง ใครเป็นคนคุมงาน ฯลฯ
ทุกคราวที่ทรงพาพวกเราไป ทูลกระหม่อมมิได้ทรงถือพระองค์เลย (พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ทรงกระทำประหนึ่งบิดาต่อบุตร จะเห็นได้ เช่น ทรงนำรถพระที่นั่งสีเลือดหมูตอนเดียวมารับพวกเราไปด้วยเสมอ ในเวลานั้น พวกเรามิได้สนใจว่าเป็นรถยี่ห้ออะไร รู้แต่อย่างเดียวคือพยายามแย่งกันขึ้นนั่งร่วมรถพระที่นั่ง เพื่อฟังรับสั่งที่ไพเราะและดูพระพักตร์ที่อิ่มเอิบแจ่มใส และรู้สึกว่าพระองค์ก็ทรงมีความสุขที่ได้ทรงแสดงออกซึ่งความเมตตากรุณาอันนั้นต่อศิษย์ บางคราวพวกเรานั่งไปในเบาะอันเดียวกับพระองค์ท่าน และเปิดที่นั่งข้างหลังลงไปนั่งอีก ๒-๓ คน
นอกจากรถพระที่นั่ง ยังมีรถสองแถวส่วนพระองค์ตามติดมาคอยรับศิษย์ที่ยังเหลือต้วมเตี้ยมอยู่ตามไปอีก ความไม่ถือพระองค์นี้ ยังมีบางคราวที่พวกเราบางคนได้พลั้งเผลอเลินเล่อ เดินออกประตูชนพระองค์ท่านโดยบังเอิญ หรือพูดล่วงเกินหยาบคายเลยเถิดไป โดยนึกว่าเพื่อนเอามือมาเกาะไหล่ ซึ่งที่แท้เป็นพระหัตถ์ของทูลกระหม่อมทรงวาง เมื่อพวกเรากำลังง่วนดูสัตว์ประหลาดในกล้องจุลทรรศน์อยู่ พระองค์ท่านกลับทรงพระสรวลเห็นเป็นของขัน ตรงข้ามกับพวกเรา พอหันไปเห็นเป็นพระองค์ท่านก็ตกใจจนหน้าซีด เหงื่อแตก เป็นภาพที่ลืมได้ยาก
"ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจ เป็นที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์ "
(พระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนก)
ปี ๒๔๖๗ ในขณะที่ทรงสอนประวัติศาสตร์ทั้งสองชั้น ทูลกระหม่อมทรงสอนชีววิทยานักเรียนปีสองด้วย เรายังจำภาพพระมหากรุณาและความไม่ถือพระองค์ไม่หาย โดยที่ทรงหิ้วชะลอมใส่กบมาเพื่อให้พวกเราชำแหละศึกษาด้วยพระองค์เอง เรื่องทรงหิ้วชะลอมนี้พวกเรา (เคยอยู่ตรงใกล้มุมด้านเหนือหอนักศึกษาแพทย์ชายเดี๋ยวนี้) ทรงพบหญิงชราคนหนึ่ง หิ้วชะลอมพะรุงพะรังเพื่อเดินทางรถไฟ ได้ทรงตรงไปขอแกมแย่งชะลอมนั้น มาทรงถือให้พวกเราเลยต้องไปขอรับจากพระองค์ท่านมาถือให้อีกทอดหนึ่ง การทีทรงเอื้อเฟื้อคนชราและคนพิการ ทรงปฏิบัติเป็นประจำ และทรงสอนพวกเราด้วยการกระทำมิได้เว้น ดั่งวันหนึ่ง เมื่อร่วมข้ามฝากจากท่าพระจันทร์ไปศิริราชในเรือจ้าง ในเรือนั้นมีคนไข้หน้าตาอิดโรยอยู่ด้วย พอถึงท่า พวกเราเด็กๆ ก็รีบกรูจะขึ้นบก ได้ทรงฉุดชายเสื้อไว้ และรับสั่งโดยปราณีเบาๆ ว่ารอให้คนไขขึ้นเสียก่อน เมื่อพวกเราชุดแรกได้ข้ามฟากไปหอพัก “โรงม้า” (โรงแถวยาวหลังคามุงจาก-หอพักสมัยก่อน) ที่ศิริราชแล้ว ยังได้ทรงคิดตามไปเยี่ยมที่พัก และทรงถามทุกข์สุขอยู่เสมอว่าพวกเราอยู่กินและขับถ่ายกันอย่างไร ทูลกระหม่อมทรงรักษาวิชาแพทย์และนักเรียนแพทย์เป็นพิเศษเมื่อตอนเราเข้าเรียนใหม่ๆ รับสั่งเสมอว่า
“อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวยก็เป็นอย่างอื่น ไม่ใช่แพทย์”