- 21 ม.ค. 2561
รู้จริง... รู้แจ้ง... ทุกเรื่องราวพระอริยสงฆ์ http://www.tnews.co.th
นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือเรียกกันว่า "ครูเอื้อ" เป็นทั้งนักร้อง นักประพันธ์เพลงและหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการเพลงไทยสากล โดยริเริ่มก่อตั้ง สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งมีผลงานมากมายจนนับไม่ถ้วนเป็นที่คุ้นเคยของผู้ฟังมากว่าครึ่งศตวรรษ เช่น เพลงเทศกาล/ประจำจังหวัด/สถาบันการศึกษา/สดุดี/ปลุกใจ ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า ๒,๐๐๐ เพลง เช่น รำวงลอยกระทง ,รำวงเริงสงกรานต์ ,นางฟ้าจำแลง ฯลฯ
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
ใน พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล จากการเสนอของ กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก
นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ครูเอื้อ นักร้อง นักแต่งเพลง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ" มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน ได้แก่
๑.หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒.นางเอื้อน แสงอนันต์
๓.นายเอื้อ สุนทรสนาน
เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ แล้วจึงมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า)และวิชาดนตรีทุกประเภท(ภาคบ่าย) ครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และ อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์
หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พระเจนดุริยางค์เห็นว่า มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และ แซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ เป็นต้นมา
ต่อมาได้เรียนดนตรีกับ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทะยะกร) เริ่มทำงานในกรมมหรสพ และได้ร้องเพลง “ในฝัน” ในภาพยนตร์เรื่อง “ถ่านไฟเก่า” เป็นครั้งแรก ต่อมาได้ตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ขณะทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน มีผลงานเพลงกว่า ๑.๐๐๐ เพลง ครอบคลุมทั้งเพลงเทศกาล เพลงสถาบัน เพลงรัก เพลงสะท้อนสังคม และอื่น ๆ อีกมากมาย
ตลอดระยะเวลา ๔๒ ปีของการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนักและอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะ ๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๒ มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย คือ เพลงพรานทะเล
ตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา สุขภาพทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ ๗๑ ปี ๒ เดือน ๑๑ วัน
ที่มา สารานุกรมเสรี และguru.sanook.com