- 22 ม.ค. 2561
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
ที่วัดคุ้งตะเภา หมู่ ๔ ต.คุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นายเอกสิทธิ์ พรหมน้อย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลคุ้งตะเภา (ทต.) นายสมชาย สำเภอทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ และคณะกรรมการวัด ได้ติดตามดูความคืบหน้า
หลังพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา พร้อมพระสงฆ์ และทีมช่างได้ดำเนินการแกะต้นตะเคียน และต้นสะเดา เป็นรูปท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก พระเจ้าตากสินมหาราช และพระพุทธรูปไม้ปางสุโขทัย เพื่อเตรียมนำประดิษฐานบริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภา เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้สักการะ เนื่องจากวัดดังกล่าวติดกับถนนทางหลวงหมายเลข ๑๑ อุตรดิตถ์-พิษณุโลก ที่สำคัญวัดแห่งนี้ในอดีต เมื่อปี ๒๓๑๓ หรือ๒๔๘ ปีที่ผ่านมา เป็นฐานทัพปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี ของพระเจ้าตากสินมหาราชที่มีพระยาพิชัยดาบหักเป็นทหารเอกคู่บารมี
สืบเนื่องจากเมื่อ ปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติภัยแล้ง ระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดต่ำสุด ชาวบ้านตำบลคุ้งตะเภา ได้พบตะเคียนทองขนาดใหญ่ ๔ คนโอบ อายุกว่า ๑๐๐๐ ปี จำนวน ๒ ต้นโผล่ขึ้นเหนือแม่น้ำน่าน จึงทำพิธีตามความเชื่อนำต้นตะเคียนทองแฝด มาเก็บไว้ที่วัดคุ้งตะเภา จากนั้นก็มีประชาชนหลั่งไหลจากทั่วสารทิศ มากราบไหว้ขอโชคลาภ ทางพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ระบุว่าหากทิ้งไว้เนิ่นนานไปต้นตะเคียนทองก็จะผุพังตามไปตามกาลเวลา จึงให้นำต้นตะเคียน ต้นแรกมาแกะเป็นรูปพระยาพิชัยดาบหัก ในชุดนายทหารสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะ ยืนถือดาบ ๒ ข้างขนาดใหญ่เป็น ๒ เท่าของคนปัจจุบัน ส่วนต้นที่ ๒ แกะเป็นพระพุทธรูปปรางสุโขทัย ขนาดหน้าตัก ๑.๖๐ เมตร สูง ๒ เมตร นอกจากนี้ทางวัดยังได้รับบริจาคต้นสะเดาขนาด ๓ คนโอบอายุกว่า ๖๐ ปีและได้นำมาแกะเป็นพระเจ้าตากสินมหาราชในชุดนำกองทัพออกศึกที่พระตำหนักค่ายหาดสูง หรือวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน
ในครั้งเข้าตี ชุมนุมเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรีได้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๓ ทั้งนี้หากงานแกะเสร็จสมบูรณ์ จะเป็นแห่งเดียวหรือแห่งแรก ที่แกะพระพุทธรูปและรูปท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหักจากไม้ต้นตะเคียน ๑๐๐๐ ปี และจะไปนำไปประดิษฐานที่ศาลาปฏิบัติธรรมของวัดเปลี่ยนจากประชาชนแห่กราบไหว้ต้นตะเคียนเพื่อขอโชคลาภ มาเป็นกราบไหว้พระพุทธรูปและพระยาพิชัยดาบหักแทน พร้อมจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานไว้หน้าวัดคุ้งตะเภา ติดถนนสายเอเชีย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในการกอบกู้เอกราช เมื่อปี ๒๓๑๓ นอกจากนี้วัดคุ้งตะเภายังพบกับโบราณวัตถุ ซากอิฐเจดีย์เก่าแก่ ศาลพระเจ้าตาก โบราณวัตถุ เครื่องลายคราม ถ้วยชามไห อายุกว่า ๓๐๐ ปีจำนวนมาก นับว่าเป็นอีกหนึ่งร่องรอยแห่งประวัติของ “พระเจ้าตากสินมหาราช”และ "พระยาพิชัยดาบหัก" ที่ชวนแวะศึกษาและท่องเที่ยวต่อไป
พระยาพิชัยดาบหัก ขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในชั้นเชิงการต่อสู้ ทั้งมือเปล่าแบบมวยไทย และอาวุธแบบกระบี่ กระบอง เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๔ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ
เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ
ภายหลังข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย ๒ ครั้ง ในการรบครั้งที่ ๒ พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"
อ่านข่าวเพิ่มเติม สู้ด้วยใจจนดาบหัก!! เปิดพระราชพงศาวดาร ตำนานการรบเพื่อชาติ "พระยาพิชัยดาบหัก" ทหารเอกพระเจ้าตากสินฯ สามารถเอาชนะข้าศึกจนแตกพ่าย!!
ขอบคุณข้อมูลและคลิปจาก : พิดโลกนิวส์ https://www.facebook.com/pitloknews/