- 11 ก.พ. 2561
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
เนื่องในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระนามเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เป็นพระโอรสพระองค์ที่ ๓ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และหม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร เป็นพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และเป็นพระอัยกาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐
ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ วังที่ประทับ หลังจากนั้นจึงเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนราชวิทยาลัยปัจจุบันคือ (โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้วเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นประถม และชั้นมัธยมตามลำดับ ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๔ เสด็จไปศึกษาในประเทศอังกฤษ เป็นนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยม ในประเทศฝรั่งเศส กระทั่งได้รับประกาศนียบัตร Baccalauréat ทั้ง ๒ ภาค ในทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยฝรั่งเศส École Spéciale Militaire de Saint Cyr โดยได้รับยศสิบโทและสิบเอกแห่งกองทัพฝรั่งเศส
พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงศึกษาจนจบหลักสูตร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็นร้อยตรี ตำแหน่งนายทหารนอกกอง สังกัดกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังได้ประจำการในกรมทหารราบฝรั่งเศสหลายแห่งด้วย ขณะเดียวกันได้ทรงรับคำสั่งเป็นนายทหารประจำพระองค์พันเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (ภายหลังคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) และได้เสด็จไปทอดพระเนตรงานในกองทัพฝรั่งเศสอย่างกว้างขวาง และได้รู้จักคุ้นเคยนายทหารผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก
พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงรับราชการทหารจนได้รับพระราชทานยศพันเอก ระหว่างนี้ทรงสร้างตำราทางทหารและสร้างแบบฝึก และวางแผนการป้องกันราชอาณาจักรไว้หลายอย่าง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ทรงได้รับตำแหน่งเลขานุการสภาป้องกันราชอาณาจักร และตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกด้วย
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ทรงออกจากประจำการเป็นนายทหารกองหนุน แล้วย้ายไปรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน อีกสองปีต่อมา ทรงลาออกจากตำแหน่งและเสร็จกลับประเทศไทย ระหว่างนี้ทรงศึกษาวิชาการต่างๆ หลายแขนง เช่น ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ และวรรณคดี
พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งอัครราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ย้ายไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำประเทศเดนมาร์ก และฝรั่งเศส ตามลำดับ จากนั้นก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ประจำสำนักเซนต์เจมส์ อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายในกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงพ้นตำแหน่งเอกอัครราชทูต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระบรมชามาดาธิราชให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระบรมชามาดาธิราชให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ[1] และรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตามลำดับ
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถเริ่มประชวรพระโรคหลอดลมอักเสบ เมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ และยังประชวรพระโรควักกะ (ไต) พิการด้วย จนถึงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ เวลา ๐๗.๔๕ น. ก็สิ้นพระชนม์ ณ วังที่ประทับ พระชนมายุรวม ๕๖ ปี ๑ เดือน ๘ วัน