- 27 ก.พ. 2561
ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมายได้ที่ https://www.facebook.com/partiharn99/
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 61 ที่ผ่านมา สมาชิกเฟสบุ๊คชื่อ Thipdhida Satdhathip ได้นำบทความจากเพจน้าหมู บดินทร์ จันทสีคำ ซึ่งเป็นการพูดถึงป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งเป็นสถานที่ ที่เคยเป็นข่าวที่ช้างถูกรถชนบ่อยครั้ง โดยได้ระบุรายละเอียดไว้ดังต่อไปนี้...
รูป และเรื่อง เอามาจากเพจน้าหมู บดินทร์ จันทสีคำ ไม่ได้แชร์ เพราะน้าหมูพิมพ์ลงในคอมเมนท์
จึงขอนำมาแปะเรียงๆต่อ ดังนี้ค่ะ
"ถนนผ่าป่าในพื้นที่รับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ถนนสาย 3259"
“ป่าอ่างฤาไนผืนนี้เป็นแหล่งเลี้ยงช้างตามธรรมชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา”
"ตามเอกสารอ้างอิงจากผลการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของช้างซึ่งเกี่ยวข้องกับผืนป่าแห่งนี้ว่า
ผืนป่าตะวันออกเป็นผืนป่าที่เป็นชายขอบของมหานครสำคัญของไทยตั้งแต่ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี มาถึงยุครัตนโกสินทร์ เฉพาะช่วงกรุงศรีอยุธยายาวนาน ถึง 417 ปี
เป็นธรรมดาว่า ของดี ของสวย ของแพง มักจะหลั่งไหลมาสู่เมืองหลวง เช่นเดียวกับสัตว์ป่าลักษณะดีก็ถูกขนย้าย เข้ามาในเมืองหลวงเช่นกัน โดยเฉพาะสัตว์สำคัญอย่างช้าง
เมื่อเสร็จศึกจะเลี้ยงช้างไว้ในเมืองก็เป็นภาระกับผู้เลี้ยงดู จึงต้องหาพื้นที่ปล่อยให้ช้างหากินเองตามธรรมชาติ ถึงเวลาใช้งานจึงค่อยกวาดต้อนกลับเข้าเพนียด พื้นที่ไหนจะเหมาะเท่าผืนป่าตะวันออกก็ไม่มี เนื่องจากผืนป่าตะวันตกก็ใกล้เขตแดนข้าศึกอย่างพม่ามากไป อีกทั้งผืนป่าตะวันตกไล่ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคตะวันตกอย่างกาญจนบุรี เพชรบุรี
ก็เป็นพื้นที่สู้รบระหว่างไทยกับพม่าบ่อยครั้ง สัตว์ ป่าน้อยใหญ่ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งจากเสียงโห่ร้องรบราฆ่าฟัน ลูกหลงและการถูกล่าเป็นเสบียงทัพ
ขณะที่ด้านตะวันออกของไทยนานๆ จะถูกรุกรานจากเขมรสักครั้ง อีกทั้งยังมีป่าที่ราบและเทือกเขาสำคัญอย่างเทือกเขา สันกำแพงและเทือกเขาจันทบุรี (เทือกเขาจันทบูรณ์)
เมื่อช้างเสร็จศึกป่าทางทิศตะวัน ออกจึงเหมาะสมที่สุดและถูกเลือกเป็นแหล่งปล่อยช้างให้เข้าไปอยู่อาศัยและหากินเองตามธรรมชาติ นักวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องช้างในประเทศไทยเชื่อว่า ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 ช้างต้นที่เป็นทั้งช้างศึกและช้างเผือก ในพระราชวังน่าจะอพยพหนีมาอยู่ยังเขาอ่างฤาไน ซึ่งยังคงมีหลักฐานที่พบและยืนยัน หลักฐานนี้ได้พบในเวลาต่อมา
ช้างที่จะถูกจัดให้เป็นช้างศึกนั้นต้องเป็นช้างพลาย (ช้างเพศผู้) มีลักษณะตรงตามตำราคชลักษณ์คือ รูปร่างใหญ่โตกำยำ หัวกะโหลกหนาและใหญ่ แก้มเต็มสมบูรณ์ หน้าเชิดหลังต่ำ งายาวใหญ่ มีความโค้งและแหลมคมได้ที่ โดยที่ช้างเชือก ที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีและสามารถสู้เอาชนะช้างเชือกอื่นได้ จะถูกเรียกว่า “ช้างชนะงา”
ในอดีตที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่ของอุทยานสามารถบันทึกภาพช้างป่าตัวผู้ ตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะของช้างศึกให้ชื่อช้างตัวนี้ว่า “รถถัง”
และยังพบช้างป่าอีกตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะช้างศึกอีกเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่พบช้างเผือกในรัชกาลที่9 อีกด้วย
จากบันทึกการค้นพบช้างเผือกซึ่งโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริค้นคว้ามายังพบว่า ลักษณะของช้างสำคัญหรือช้างเผือก เป็นลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรม จึงมีการถ่ายทอดกันทางพันธุกรรมจากพ่อ-แม่สู่ลูกได้ “
ในบรรดาช้างสำคัญทั้ง 107 ช้างของราชอาณาจักรไทยนั้น มีอยู่คู่หนึ่ง พบว่า เป็นแม่ลูกกันคือ ช้างสำคัญในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.2091-2111) ทรงได้ช้างสำคัญแม่ลูกจากตำบลป่ามหาโพธิ
ดังนั้นป่าตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จึงยังคงมีหน่วยพันธุกรรมของช้างสำคัญ ที่เป็นเครือญาติกับ “พังแต๋น” และเครือญาติ ของช้างสำคัญ ช้างอื่นที่เคยพบในบริเวณใกล้เคียงที่ถอยร่นจากการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร แล้วอาศัยอยู่ในป่าผืนนี้ในปัจจุบัน”
“พังแต๋น” หรือพระศรีเศวตรศุภลักษณ์ฯ เป็นช้างที่ประสบอุบัติเหตุถูกกระสุนปืนแล้วได้รับการรักษาพยาบาล ต่อมาพบว่าเป็นช้างสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ทรงให้มีพระราชพิธีสมโภช พระราชทานนามและขึ้นระวางในวันที่ 7 พฤษภาคม 2519
" ช้าง " เป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง ที่ยังเหลืออยู่จำนวนมากในผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นมรดกที่ตกทอดอยู่ในผืนป่าแห่งนี้ มาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา จนเหลือมาถึงในปัจจุบันนี้
.
ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เคยเป็นป่าพื้นเดียวกับดงพญาเย็น แต่ป่าดงพญาเย็นก็หมดไปแล้ว ปัจจุบันป่ารอยต่อเองก็เริ่มมีจุดที่ทำให้ผืนป่าแยกออกจากกัน ซึ่งส่งผลกระทบเกิดปัญหาต่างๆ ต่อช้างป่าอย่างมาก
.
คำว่า“มาก”ในที่นี้คือ “มากเกินที่ธรรมชาติที่เหลืออยู่จะรับไหว” ก็เพราะมีช้างมากกว่าปริมาณพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ ในอดีตพื้นป่าภาคตะวันออกมีพื้นที่มากกว่า 5 ล้านไร่ ตอนนี้พื้นที่เหลือเพียง 1.3 ล้านไร่เท่านั้น
.
เมื่ออดีตป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก กินอาณาเขตของพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา-สระแก้ว-จันทบุรี-ระยอง และชลบุรี เดิมเรียกว่าป่า"พนมสารคาม" เป็นป่าที่ถูกบุกรุกทำลายตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา
.
พอประชากรช้างเพิ่มขึ้นปัญหาระหว่างช้างกับคนก็เริ่มขึ้นเช่นกัน และมีสถิติสูงกว่าพื้นที่อื่นๆอีกด้วย หากจะแก้ไขก็ควรมีวิธีการจัดการที่ละมุนละม่อม ก็เพราะช้างเหล่านี้คือลูกหลานช้างมรดกผืนป่าตะวันออก"
อ้างอิงข้อมูลจาก - Thipdhida Satdhathip