- 12 มี.ค. 2561
ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมายได้ที่ https://www.facebook.com/partiharn99/
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ ๑ ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยโรคพระวักกะ พระองค์ได้รับสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช" แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก และว่า "พระพุทธเจ้าหลวง"
พระบารมีของพระองค์ปรากฏให้เราเห็นอยู่หลายครั้ง นอกจากนี้พระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระเกียรติยศส่วนพระองค์ว่าทรงมีพระอภินิหารในทางขอฝน เนื่องจากก่อนวันเสด็จพระบรมราชสมภพ ในกรุงเกิดฝนตกห่าใหญ่ถึง ๓ วัน ๓ คืนเต็ม ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์นัก
ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จแทนพระองค์เป็นประธานในการจุดเทียนชัยในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (ขอฝน) ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และฝนก็จะตกทุกครั้งไป
และในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ก่อนเสด็จสวรรคตไม่นานนัก เมืองเพชรบุรีเกิดฝนแล้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จประทับแปรพระราชฐานอยู่ที่เมืองเพชรบุรีพอดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ตามธรรมเนียม โดยพระองค์จะเสด็จจุดเทียนชัยในพระราชพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังที่เคยทรงปฏิบัติแต่หนหลัง เมื่อเสร็จการพระราชพิธี ฝนก็ตกทั่วทั้งเมืองเพชรบุรีดังพระราชประสงค์ แต่ทว่าคราวนี้ ตกเพียงครู่เดียว ฝนก็หยุด ไม่ตกนานเป็นวันเป็นคืนเช่นทุกครั้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจจะทรงทราบความนัยของปรากฎการณ์นี้ จึงตรัสกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระอิสสริยยศในขณะนั้น) ว่า
"กรมดำรง ฉันหมดบุญแล้ว"
สำหรับ "พระราชพิธีพิรุณศาสตร์" นี้ไม่มีในกฎมณเฑียรบาล แต่ในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดกล่าวว่าเป็นพิธีสำคัญและมีมาแต่โบราณ จะเลิกเสียไม่ได้ พระราชพิธีนี้เมื่อครั้งสุโขทัยเป็นพิธีของพราหมณ์ ต่อมาได้ทำพร้อมกับพิธีสงฆ์ โรงพิธีคล้ายกับโรงพิธีอื่น ๆ เป็นพิธีที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกใหญ่ ลักษณะพิธีพิรุณศาสตร์เป็นพิธีประจำปี เว้นปีใดที่ฝนตกบริบูรณ์
ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ ประวัติศาสตร์สยาม (https://www.facebook.com/pg/Historyofsiam) , https://literaturethai.wordpress.com