- 06 เม.ย. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
มีเรื่องเล่าขานก่อนที่จะมาเป็น “ภูกระดึง” จังหวัดเลย อุทยานแห่งชาติที่อุดมสมบูรณ์ จนเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติของนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินป่า ตำนานกล่าวว่า สมัยก่อนชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงกระดึงแว่วดังมาจากยอดภู ซึ่งคำว่ากระดึง มาจากคำว่า “กระดิ่ง” หรือที่ชาวจังหวัดเลยเรียกว่า “ระฆังใหญ่” โดยมีบันทึกเรื่องเล่าบ้านศรีฐาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างจากเชิงเขาภูกระดึง ประมาณ 3 กม.เศษ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเมืองลับแลหรือ เมืองบังบดบนภูกระดึง เรียบเรียงและเผยแผ่โดย คุณชุนคำ จิตจักร ใจความว่า
“คนแต่เก่าก่อนที่ หมู่บ้านศรีฐาน เล่าว่า ในยามวันโกณวันพระจะได้ยินเสียงกระดิ่งดังมาจากภูเขาสูงใหญ่แห่งนี้ เสียงดังก้องกังวานจนได้ยินกันทั่ว ผู้คนพากันสงสัยนักว่าเสียงอะไรกันหนอเพราะบางครั้งก็มีเสียงฆ้องกลองมโหระทึกขับประโคมอย่างครึกครื้นเหมืนมีงานบุญ บางคนรู้มาก็ยืนยันว่ามีคนอาศัยอยู่บนภูเขานั่นจริงๆและลงมาแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้กับชาวบ้านอยู่เสมอ คนที่อยากรู้ก็แอบตามหลังไปแต่พอพวกนั้นรู้ตัวก็เดินเร็วมาก พอเห็นหลังไวๆก็วับๆหายไปเสียแล้ว”
“ จากบันทึกของ คุณครูชื่นอารมณ์ จันทร์พินิจรัตน์ ครูใหญ่โรงเรียนภูกระดึง และนายสุทธิ จำปามา เล่าว่า “...ในที่สุดก็มีชาวบ้านขึ้นไปพบแหล่งเกิดของเสียงจนได้และมีการบอกเล่ากันต่อๆไปว่ามีกระดิ่งใหญ่อยู่บนเขา มีคนพวกหนึ่งอาศัยอยู่ ยิ่งทำให้นักเดินป่าและพรานสมัครเล่นทั้งหลายกระหายที่จะพิสูจน์ความจริง ฉะนั้น เมื่อถึงวันธรรมสวนะจึงมีผู้แอบขึ้นไปบนภูเขาคอยแอบดูพวกบังบดมาชุมนุมกันเพื่อทำบุญกุศลแล้วนำมาเล่าสืบต่อไปว่า มีระฆังใหญ่แขวนอยู่ประตูโขง ถ้ำจอมพลเก่า(นักทัศนาจรสมัยนี้คงไปเที่ยวถ้ำจอมพลกันบ้างแล้ว) ระฆังใบนี้มีขนาดใหญ่มาก เสียงดังกังวานไพเราะยิ่งนัก พวกบังบดอยู่ที่บริเวณใดๆบนภูเขาก็สามารถได้ยินและมาร่วมชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงทุกครั้ง ฉะนั้น ไม่นานก็มีคนมือบอนไปลองตีระฆังบ้างแล้วแอบดู พวกบังบดได้ยินเสียงระฆังก็พากันรีบเดินทางมาอย่างเร่งร้อนแต่เมื่อสอบถามกันแล้วปรากฏว่าพวกเขาไม่ได้ตีระฆัง ทั้งนี้เพราะเขามีเวรตีระฆัง พวกบังบดจึงรู้ว่าคงมีมนุษย์พื้นล่างขึ้นมาตีระฆังเล่นเสียแล้วจึงพากันกลับที่พัก”
“ส่วนคนบนพื้นล่าง ความกระหายใคร่รู้ทำให้สองสามีภรรยาผู้หนึ่ง คือ พ่อโซ้น ทิดบุญ กับภรรยา (พ่อโซ้น คือ พ่อใหญ่ ตา ทิด เรียกผู้ผ่านการบวชเรียนคงกร่อนและเพี้ยนจากบัณฑิตคือผู้รู้นั่นเอง) ดั้นด้นไปจนพบที่อยู่อาศัยของพวกบังบด แต่เนื่องจากว่าเขาเคยได้รับความช่วยเหลือจากคนบนพื้นล่างเสมอในการแลกเปลี่ยนสิ่งของจึงไม่ทำอันตราย แต่ก็กักบริเวณและยึดตัวไว้มิให้กลับลงมา แต่นานวันเข้าสองสามีภรรยาก็ไม่สามารถปรับตัวอยู่ตามสภาพของพวกบังบดได้ จึงส่งกลับลงมาแล้วเก็บระฆังนั้นเสีย แต่นั้นมาเสียงระฆังก็เงียบหายไปจากภูเขาลูกนี้...”
ขอบคุณข้อมูลจาก : ชุนคำ จิตจักร https://sites.google.com/site/asianmount/xaseiyn-phuthr-rm/phukradung
เครดิตภาพ : ก.นัยจัน และ บอม บางขุนศรี