- 05 พ.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
การกระทำที่ไม่ดี ชั่วช้า เลวทราม อันเป็นที่รังเกียจของสังคม ที่เรียกกันคนประเภทนี้ว่าเป็น “คนถ่อย” นั้น ไม่ได้วัดกันที่ชาติกำเนิดว่าเกิดในตระกูลต่ำหรือสูง แต่ดูจากการกระทำอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นต้องเดือดเนื้อร้อนใจ
พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ปรากฏใน วสลสูตรที่ ๗ http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7292&Z=7379
ที่ว่าด้วยเรื่องคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย
สาเหตุที่พระองค์แสดงธรรมในเรื่องนี้อันเนื่องมาจากครั้งหนึ่งที่พระองค์ได้เสด็จบิณฑบาตร ณ นครสาวัตถี
ขณะนั้นอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล จึงได้พูดขึ้นมาว่า “หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนโล้น หยุดอยู่ที่นั่นแหละสมณะ หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนถ่อย ฯ”
พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามกลับไปว่า “ดูกรพราหมณ์ ก็ท่านรู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยหรือ ฯ”
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ปฏิเสธว่าไม่รู้จัก พระพุทธองค์จึงได้ตรัสพระคาถาประพันธ์ อันว่าด้วยคนถ่อย หรือ ธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย ดังนี้
๑. คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว มีทิฐิวิบัติ และมีมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย
๒. คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว แม้หรือเกิดสองหนไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๓. คนเบียดเบียน เที่ยวปล้น มีชื่อเสียงว่า ฆ่าชาวบ้านและชาวนิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๔. คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ได้อนุญาตให้ ในบ้านหรือในป่า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๕. คนที่กู้หนี้มาใช้แล้วกล่าวว่า หาได้เป็นหนี้ท่านไม่ หนีไปเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๖. คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของ เพราะอยากได้สิ่งของพึงรู้ว่า เป็นคนถ่อย ฯ
๗. คนถูกเขาถามเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุแห่งตนก็ดี เพราะเหตุแห่งผู้อื่นก็ดี เพราะเหตุแห่งทรัพย์ก็ดี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๘. คนผู้ประพฤติล่วงเกิน ในภริยาของญาติก็ตาม ของเพื่อนก็ตาม ด้วยข่มขืนหรือด้วยการร่วมรักกัน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๙. คนผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๐. คนผู้ทุบตีด่าว่ามารดาบิดา พี่ชายพี่สาว พ่อตาแม่ยายแม่ผัวหรือ พ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๑. คนผู้ถูกถามถึงประโยชน์ บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์พูดกลบเกลื่อนเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๒. คนทำกรรมชั่วแล้ว ปรารถนาว่าใครอย่าพึงรู้เราปกปิดไว้ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๓. คนผู้ไปสู่สกุลอื่นแล้ว และบริโภคโภชนะที่สะอาดย่อมไม่ตอบแทนเขาผู้มาสู่สกุลของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๔. คนผู้ลวงสมณะ พราหมณ์หรือแม้วณิพกอื่น ด้วยมุสาวาท พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๕. เมื่อเวลาบริโภคอาหาร คนผู้ด่าสมณะหรือพราหมณ์และไม่ให้โภชนะ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๖. คนในโลกนี้ ผู้อันโมหะครอบงำแล้ว ปรารถนาของเล็กน้อย พูดอวดสิ่งที่ไม่มี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๗. คนเลวทราม ยกตนและดูหมิ่นผู้อื่น ด้วยมานะของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๘. คนฉุนเฉียว กระด้าง มีความปรารถนาลามก มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่ละอาย ไม่สะดุ้งกลัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๙. คนติเตียนพระพุทธเจ้า หรือติเตียนบรรพชิต หรือคฤหัสถ์สาวกของพระพุทธเจ้า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๒๐. ผู้ใดแลไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญาณว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นแลเป็นคนถ่อยต่ำช้า เป็นโจรในโลกพร้อมทั้งพรหมโลก คนเหล่าใดเราประกาศแก่ท่านแล้วคนเหล่านั้นนั่นแล เรากล่าวว่าเป็นคนถ่อย ฯ
พระพุทธองค์ทรงกล่าวต่อไปว่า “บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติแต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ท่านจงรู้ข้อนั้นฯ”
ตามที่ยกมาข้างต้น เป็นเพียงการย่อความเท่านั้น ท่านผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ปรากฏใน วสลสูตรที่ ๗ http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7292&Z=7379
สรุปใจความสำคัญคือ การเป็นคนถ่อยนั้น สาเหตุไม่ได้เกิดมาจากชาติกำเนิด ไม่ว่าจะเกิดในตระกูลที่ดีหรือไม่ดี ไม่ได้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนถ่อยหรือไม่? เพราะความถ่อยเกิดมาจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น…ถ้าไม่อยากถูกเรียกว่าคนถ่อย ก็จงถอยห่างจากลักษณะการกระทำทั้ง ๒๐ ประเภท นั้นให้จงได้
อ้างอิงข้อมูลจาก : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ วสลสูตรที่ ๗ http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=25&A=7292&Z=7379
เครดิตภาพ : Napapawn