- 03 ก.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
อาตมา “พระบุญชุ่ม ญาณสังวโร” จำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง รัฐเชียงตุง เขตพม่า ในพรรษาที่ ๒ อาตมาได้นิมิตเห็นหลวงปู่แก่เฒ่าองค์หนึ่งอายุประมาณ ๘๐-๙๐ ปี มาเทศน์ให้ฟัง ตอนที่อาตมาได้เข้ากรรมปฏิบัติไม่พูด ๗ วัน ท่านเทศน์สอนเรื่องการปฏิบัติให้มีสติและให้อยู่สันโดษ มีขันติ เมตตา และความเพียร ให้ถึงความพ้นทุกข์ ให้ดับเสียสิ้นชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ให้ถึงซึ่งพระนิพพานเป็นที่สุด ท่านเทศน์เป็นภาษาบาลี และแปลเป็นภาษาไทยให้ฟังอย่างชัดเจน แล้วท่านก็เทศน์สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท และเทศน์ให้ฟังอีกหลายอย่าง อาตมารู้สึกปีติและอิ่มเอิบในรสพระธรรมของท่าน อาตมาจึงนึกถึงหลวงปู่องค์นั้นเสมอว่าท่านนั้นเป็นใคร และยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ได้แต่กราบขอพรท่านตลอดทุกวัน
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
ต่อมาไม่นาน หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ท่านเป็นอาจารย์องค์สุดท้ายของอาตมา ที่ท่านได้ส่งตัวอาตมาไปทำความเพียรที่ภูเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล แล้วท่านก็ไปรับกลับมาบวชพระที่เชียงใหม่ และอาตมาก็มาจำพรรษาที่พม่า พอดีอาตมามาทำบุญคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๓๑ อาตมาได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่โง่นได้โปรดเมตตามารับเครื่องไทยทานในวันที่ ๔ หลวงปู่โง่นค้างคืนที่วัดพระธาตุดอนเรือง ท่านได้เอ่ยถึง หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่าเป็นพระที่มีเมตตาองค์หนึ่งในพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นพระอริยบุคคลองค์หนึ่ง อาตมาได้ยินก็อิ่มเอิบปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะไปกราบไหว้บูชาพระองค์นั้น
หลวงปู่ดู่ กับ พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร ในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร
“หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ” เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔
ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณเด็กข้างวัด luangpudu.com)
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
พอดีอาตมาได้ไปทำบุญวันคล้ายวันเกิดหลวงปู่โง่น พอเสร็จก็ขออนุญาตหลวงปู่โง่นเพื่อไปกราบหลวงปู่ดู่ หลวงปู่โง่นก็อนุญาต และเขียนจดหมายกำกับไปด้วย พอไปถึงวัดสะแกก็เข้าไปกราบหลวงปู่ดู่ ท่านกำลังนั่งรับแขกอยู่ที่กุฏิไม้ พอได้เห็นหลวงปู่ดู่ก็นึกขึ้นได้ เหมือนในนิมิตตอนเข้ากรรม (หลวงปู่เฒ่าองค์นั้นก็คือหลวงปู่ดู่นั่นเอง) เกิดรู้สึกเหมือนดังพ่อลูกที่จากกันไปนานๆ จึงก้มกราบขอพรท่าน ท่านก็ให้พรแล้วยังถวายผ้าไตรกับพระพุทธรูป ๒ องค์ รูปเหมือนหลวงปู่ทวด ๑ องค์แก่อาตมา และอาตมาก็ถวายน้ำผึ้งและยา ท่านยิ้มแย้มมีเมตตาที่สุด อาตมาเอาพระบรมสารีริกธาตุน้อมถวายหลวงปู่ดู่ ท่านพูดว่า “เราเพิ่งพูดเรื่องพระธาตุเมื่อตะกี้ บัดนี้ท่านเอาพระธาตุมาถวาย เป็นนิมิตหมายมงคลยิ่ง” หลวงปู่ก็ให้พรด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบ อาตมาได้เอาพระธาตุอีกส่วนหนึ่งและลูกประคำให้หลวงปู่ปลุกเสกอธิษฐานจิต
หลวงปู่โง่น โสรโย
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
ท่านมีลูกศิษย์หนุ่มคนหนึ่งอายุประมาณ ๒๖ หลวงปู่ถามลูกศิษย์ว่า “สว่างไหม เห็นชัดไหม มองไปให้ลึกๆ” ลูกศิษย์ก็ตอบว่า “เห็นแล้ว สว่างแล้ว” หลวงปู่จึงปลุกเสก หลับตาอธิษฐานพระธาตุและลูกประคำ แล้วท่านก็บอกว่า “พระธาตุนี้ไปอยู่มาหลายแห่งแล้ว เคยอยู่ที่พระธาตุนครปฐม และพระธาตุนครพนม” หลวงปู่ท่านสั่งให้เก็บรักษาและบูชาให้ดี อาตมาจึงกราบนมัสการลาหลวงปู่กลับวัดพระธาตุดอนเรือง อาตมาระลึกถึงบูชาพระคุณหลวงปู่อยู่มิได้ขาด
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
ต่อมาไม่นาน อาตมาก็ได้ไปกราบหลวงปู่อีกครั้ง หลวงปู่ท่านก็แนะนำสั่งสอนให้เร่งความเพียร หลวงปู่คงอยู่ไม่นาน อาตมาก็กลับวัดมาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของหลวงปู่ด้วยความอุตสาหะ ยังนึกอยู่ในใจว่า ถ้ามีโอกาสตั้งใจจะกลับไปวัดสะแกอีกเพื่อไปอุปัฏฐากหลวงปู่ดู่ อยู่อีกไม่นาน อาตมาก็ได้ยินข่าวว่าหลวงปู่ท่านละสังขารเสียแล้ว เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง อาตมารู้สึกสังเวชและเสียดายหลวงปู่อย่างมาก ที่ท่านมีเมตตาอบรมสั่งสอนอาตมาซึ่งชีวิตนี้หาไม่ได้อีกแล้ว จึงนึกถึงมรณสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ปลงเข้าไปในไตรลักษณ์เป็นกฎธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อาตมาจึงอธิษฐานตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของหลวงปู่ทุกอย่าง ให้ถึงความพ้นทุกข์พระนิพพานเป็นที่สุด
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
ครูบาบุญชุ่มยังได้เล่าอีกว่า ท่านได้เขียนบันทึกความรู้สึกในใจของท่านไว้ใน หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีความตอนหนึ่งว่า “.....หลวงปู่ท่านมรณภาพสิ้นไป เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างส่องแจ้งในโลกได้ดับไป อุปมาเหมือนดังดวงประทีปที่ให้ความสว่างไสวแก่ลูกศิษย์ได้ดับไป ถึงแม้พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้มรณะไปแล้ว แต่บุญญาบารมีที่ท่านแผ่เมตตา และรอยยิ้มอันอิ่มเอิบยังปรากฏฝังอยู่ในดวงใจอาตมา มิอาจลืมได้ ถ้าหลวงปู่มีญาณรับทราบ และแผ่เมตตาลูกศิษย์ลูกหาทุกคน ขอให้พระเดชพระคุณหลวงปู่เข้าสู่พระนิพพานเป็นอมตะแด่ท่านเทอญ อาตมาขอกราบคารวะพระเดชพระคุณหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ด้วยความเคารพสูงสุด.....”
คาถาบูชา พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโรมหาโพธิสัตว์
นะโม โพธิสัตโต ญาณสังวะโร นะโมพุทธายะ ปูชนิยานัง อิติภะคะวา สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะโรคา สัพพะอันตะรายา วินาสันติ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง สัพพะสิทธิ ภะวันตุเม
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
คำแปล
ขอนอบน้อมวันทาบูชาพระโพธิสัตว์เจ้ามีนามว่า ญาณสํวโร ด้วยบารมีแห่งพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทุกข์ทั้งหลาย ภัยพิบัติทั้งหลาย โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย และอันตรายทั้งหลาย จงพินาสไป สูญไป เสื่อมไป จากข้าพเจ้า ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืน มีผิวพรรณวรรณะอันผ่องใส มีความสุขกายสบายใจ มีพละกำลังกายใจแข็งแรงสุภาพดี ทั้งหลายเหล่านี้ จงประสิทธิ บังเกิดแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลด้วยเทอญ
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม
อ่านเพิ่มเติม... "พระคาถาธรรมราช"พระคาถาที่ใหญ่กว่าคาถาทั้งปวง
ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูล
ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ”
http://www.dhammajak.net
ครูบาบุญชุ่มครูบาสายล้านนาสายป่ากรรมฐาน