- 10 ก.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2535 ในหลวงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่พรุแฆแฆตะวันตก อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ระหว่างทางเสด็จฯ กลับทรงพบลุงคนหนึ่ง นุ่งโสร่งตัวเดียว ไม่สวมเสื้อ คุยกันก็ทราบว่าชื่อลุงวาเด็ง ปูเต๊ะ เป็นเจ้าของสวน ในหลวงรับสั่งกับลุงเป็นภาษามลายูว่าจะมาขุดคลองให้ ลุงก็ดีใจมาก ทรงถามลุงหลายเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ละแวกนั้น ไม่ว่าจะถามอะไรลุงก็ตอบได้หมด ทรงชมลุงว่า เก่ง จำทุกที่ที่ผ่านไปได้ แล้วทรงเปิดดูแผนที่ที่นำมาด้วย แล้วตรัสว่าลุงรู้จริง ไม่โกหก ทุกสิ่งที่ลุงบอกมีอยู่ในแผนที่ของพระองค์แล้ว พอในหลวงใกล้จะเสด็จฯ กลับ ลุงก็บอกว่าไม่มีอะไรจะถวายเลย ผลไม้ในสวนเพิ่งเก็บขายได้เงินมาก็ซื้อเครื่องสูบน้ำ ทั้งสวนเหลือทุเรียนผลเดียวแถมยังดิบ ข้าราชการเลยยุให้ถวายเครื่องสูบน้ำ ลุงก็รีบบอกทันทีว่า “ถอดเอาขึ้นรถไปเลย ขอถวายพระเจ้าอยู่หัว”
ความจริงใจที่มีต่อกัน ก่อให้เกิดเป็นมิตรภาพระหว่างในหลวงกับราษฎรธรรมดาคนหนึ่งที่พูดภาษาไทยไม่ได้เลย จนพระองค์ขนานนามให้ลุงวาเด็งเป็นหนึ่งในพระสหาย
ตั้งแต่นั้นมาลุงจะส่งผลไม้มาถวายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทุเรียน ลองกอง จำปาดะ ถึงหน้าผลไม้เหล่านี้ทีไรลุงจะนึกถึงในหลวงตลอด ถ้าพระองค์มาที่นี่ ก็ถวายที่นี่ ถ้าพระองค์ไม่ได้มา ลุงก็จะส่งถวายไปทาง EMS ซึ่งในบางปีผลไม้ก็เน่าก่อนจะไปถึงมือในหลวง แต่ก็ทรงได้รับทราบถึงความปรารถนาดีจากพระสหาย
ครั้งหนึ่งในหลวงทรงพระประชวร ลุงเป็นห่วงอยากจะไปเฝ้า เมื่อลุงได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินี ลุงก็ทูลขอนามบัตรเพื่อจะได้เข้าวังได้ พระราชินีก็ตรัสว่าไม่มีนามบัตร แต่จะให้คนพาเข้าไป จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ก็โทรศัพท์ไปบอกลุงว่าในหลวงทรงให้เข้าเฝ้าฯ ได้ ชาวบ้านรู้ว่าลุงจะไปหาในหลวงก็ฝากซาลาม หรือฝากความปรารถนาดีไปถึงพระองค์กันเยอะมาก ตามประเพณีของอิสลามเมื่อใครฝากซาลามแล้วต้องบอก ถ้าไม่บอกต้องไปส่งคืน ลุงก็ซาลามแด่ในหลวงจนครบ พระองค์ก็ตรัสขอบใจ จากนั้นก็ทรงฝากซาลามกลับไป ก่อนลุงจะกลับยังทรงย้ำอีกด้วยว่า "ต้องบอกให้หมดนะพระเจ้าอยู่หัวรู้เรื่องแล้วเดี๋ยวบอกไม่หมดอีก" ลุงจึงต้องกลับมาซาลามให้กับชาวบ้านทุกคนที่ฝากซาลามไป
สายสัมพันธ์นี้ดำเนินมายาวนาน ลุงวาเด็งคิดถึงในหลวงทุกปี ส่งผลไม้มาถวายไม่เคยขาดจนอายุ 96 อันเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต