- 16 ธ.ค. 2561
อย่าเลื่อนผ่าน แป้งฝุ่นโรยตัว เป็นสาเหตุ "มะเร็งรังไข่" จริงหรือ? อย. เผย วิธีใช้แป้งฝุ่นแบบถูกต้อง ไม่เสี่ยงอันตราย
หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับ กรณีที่ศาลสหรัฐฯ พิพากษาให้บริษัทผู้ผลิตแป้งเด็กยี่ห้อดังรายหนึ่ง จ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัวของหญิงรายหนึ่ง ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่ โดยอ้างว่า สาเหตุมาจากการใช้แป้งฝุ่นโรยตัวที่มีส่วนผสมของทัลค์ และบริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้แป้งฝุ่นดังกล่าว
“ทัลค์หรือทัลคัม(Talc หรือ Talcum powder)” เป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวที่พบได้ในแร่ธาตุตามธรรมชาติแบ่งออกเป็น 2 เกรด ได้แก่ เกรดที่ใช้ในอุตสาหกรรม และเกรดที่ใช้ในยา อาหาร และเครื่องสำอาง โดยต้องใช้ทัลค์ที่มีความบริสุทธิ์สูง เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และต้องไม่มีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน (Asbestos) ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตาม ทัลค์เป็นสารที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางระยะเวลายาวนาน และมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ โดยกฎหมายกำหนดให้มีการแสดงคำเตือนที่ฉลากของผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นสำหรับเด็กอายุ ต่ำกว่า 3 ปี ว่า “ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากของเด็ก”
วิธีใช้ที่ถูกต้อง
1. ควรเทใส่มือในปริมาณน้อย ๆ และลูบไล้ที่มือก่อนทาบาง ๆ บนตัว
2. ไม่ควรโรยแป้งที่ตัวโดยตรง
3. สตรีไม่ควรโรยแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้น
4. ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากของเด็ก
สรุปได้ว่า การใช้แป้งที่บริเวณจุดซ่อนเร้นของสตรีจะเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาใด ๆ ที่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าทัลค์จะเป็นสารก่อมะเร็งจริงหรือไม่ ประเทศต่าง ๆ จึงยังคงอนุญาตให้ใช้ทัลค์ในเครื่องสำอางได้
อย่างไรก็ตาม ทัลค์เป็นสารอนินทรีย์ ไม่ถูกย่อยสลายตามธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าโรยแป้งฝุ่นในปริมาณมาก ผงแป้งจะลอยฟุ้งกระจายในอากาศ หากสูดดมเข้าไปเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมเป็นก้อนในปอด ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ ฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการโรยแป้งไปที่ตัวโดยตรง แต่ควรเทใส่มือในปริมาณน้อย ๆ และลูบไล้ที่มือก่อนทาบาง ๆ บนตัว และสำหรับสตรีไม่ควรโรยแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
หากใครที่ซื้อแป้งฝุ่นมาแล้วรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่น่าไว้ใจ สามารถติดต่อ อย. เพื่อให้ตรวจสอบ
สายด่วน อย.1556 หรือ E-mail: [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา