- 16 พ.ค. 2562
บอระเพ็ด เป็นสมุนไพรที่ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไป เป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ พาดอยู่ตามกิ่งไม้ ไม่จำเป็นต้องปลูกหรือรดน้ำพรวนดินให้ เก็บมาใช้เป็นยาก็ง่าย หมอยาอีสานเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า เครือเขาฮอ มีอยู่สองชนิดที่คล้ายกัน ชนิด
บอระเพ็ด เป็นสมุนไพรที่ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไป เป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ พาดอยู่ตามกิ่งไม้ ไม่จำเป็นต้องปลูกหรือรดน้ำพรวนดินให้ เก็บมาใช้เป็นยาก็ง่าย หมอยาอีสานเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า เครือเขาฮอ มีอยู่สองชนิดที่คล้ายกัน ชนิดที่มีตุ่มตามเครือยาวเรียกว่า บอระเพ็ด และชนิดที่ตุ่มสั้นเรียกว่า ชิงช้าชาลี หรือเครือหางหนู
สมุนไพรทั้งสองชนิดนี้เป็นพี่น้องกันและใช้แทนกันได้ พ่อหมอในทุกภาคนิยมใช้บอระเพ็ดมากกว่า เพราะเชื่อว่ามีฤทธิ์ยาแรงกว่า 2 เท่า บอระเพ็ดมีรสขมมาก และมีการนำมาใช้เป็นยาอย่างแพร่หลาย ไม่มีหมอยาพื้นบ้านหรือหมอแผนไทยคนไหนไม่ใช้บอระเพ็ดเข้ายา จนเป็นที่มาของคำว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา นั่นเอง
เถาบอระเพ็ดมีรสขมเย็น จึงใช้แก้ไข้ทุกชนิด แก้ร้อนในได้ดีมาก แก้พิษฝีดาษ เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้โรคกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย ลดน้ำตาลในเลือด ที่นิยมกันมาก คือ เป็นยาอายุวัฒนะ คนล้านนาฝานเถาเป็นแว่นๆ กินกับน้ำผึ้งแก้ไข้ หรือดองในน้ำผึ้งกินบำรุงกำลัง หรือทุบแล้วแช่น้ำผสมน้ำผึ้งดื่มแก้หวัด
หมอยาเมืองเลยนำบอระเพ็ดมาทำเป็นยาลูกกลอนกินเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้เจริญอาหาร บำรุงกำลัง ใช้เป็นยาตัวเดียว หรือใช้ร่วมกับยาตัวอื่นๆ เป็นตำรับได้ ตำรับที่นิยมกันนั้นตั้งชื่อผูกคำให้คล้องจองกันว่า ..”สุกในดิน ปีนหง่าไม้ ไง้ธรณี สีบ่อเศร้า เฒ่าบ่อเป็น”.. ซึ่ง สุกในดิน หมายถึง ขมิ้นชัน ปีนหง่าไม้ หมายถึง บอระเพ็ด ไง้ธรณี คือ หัวหญ้าแห้วหมู สีบ่อเศร้า คือ รากต้นสีซมซื่น (เขยตาย) เฒ่าบ่อเป็น คือ รากย่านาง ให้เอาสมุนไพรทั้งห้านี้มาตากแดดให้แห้งแล้วบดเป็นผง ใช้น้ำผึ้งเป็นกระสายปั้นเป็นลูกกลอน กินเช้าเย็นหรือวันละสามเวลา พ่อหมอบอกว่ากินเป็นประจำจะแข็งแรงสดใส มีน้ำมีนวลเหมือนดังชื่อสมุนไพรคือ สีบ่อเศร้า เฒ่าบ่อเป็น ช่วยแก้เจ็บหลังเจ็บเอวได้ด้วย
แม่บ้านสมัยก่อนนำบอระเพ็ดมาแช่อิ่ม โดยเลือกเถาที่ไม่แก่จัด มาตัดเป็นท่อนๆ ลอกผิวด้านนอกแล้วผ่าข้างใน ดึงไส้ออก แช่ลงในน้ำซาวข้าวที่ใส่เกลือ แล้วนำไปลวกพอหายขม เสร็จแล้วแช่น้ำเกลืออีกที จากนั้นก็ต้มกะให้พอเคี้ยวได้ แล้วจึงล้างด้วยน้ำเย็น เสร็จสรรพก็นำไปแช่ในน้ำเชื่อมให้อิ่มตัว ช้อนขึ้นผึ่งให้แห้ง เก็บใส่ขวดโหลไว้รับประทานได้นานๆ วิธีนี้เหมาะกับคนที่ชอบกินขนมจุบจิบ ก็มากินบอระเพ็ดแช่อิ่มแทน ได้น้ำตาลน้อยกว่ากินขนม แถมยังมีประโยชน์
พระธุดงค์ภาคอีสานก็นิยมเคี้ยวบอระเพ็ดสดๆ วันละ 2 องคุลีเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ หมอชาวบ้านบางคนเวลาครั่นเนื้อครั่นตัวก็ควักขึ้นมาเคี้ยวตุ้ยๆ หน้าตาเฉย มีสรรพคุณแก้ไข้ เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย
บอระเพ็ด ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านฤทธิ์ AChE ที่เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม เพราะฉะนั้นจึงช่วยป้องกันความชราของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้
ชาวบ้านทุกภาคนิยมใช้บอระเพ็ดเพื่อคุมเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มีคนไข้โรคเบาหวานหลายคนที่มีประสบการณ์ด้วยตนเองจากการกินบอระเพ็ดเป็นประจำ แล้วทำให้การคุมน้ำตาลดีขึ้น โดยเชื่อว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่ธาตุไฟหย่อน สมุนไพรของขมอย่างบอระเพ็ดจะไปล้อมตับ ช่วยไม่ให้ตับร้อนเกินไปในการสร้างธาตุไฟเพื่อการย่อยและการเผาผลาญ ตับก็จะสร้างไฟได้อย่างปกติ ดังนั้น สมุนไพรที่มีรสขมจึงไปดูแลตับให้ทำหน้าที่ได้เป็นปกติ
การศึกษาวิจัยในทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่า ของขมๆ หลายชนิดสามารถที่จะลดน้ำตาลในเลือดได้ เช่น มะระ มะระขี้นก พืชตระกูลไทร เป็นต้น แต่บอระเพ็ดเป็นสมุนไพรรสขมที่หาได้ง่ายที่สุด ในมาเลเซียและเกาะบอร์เนียวก็ใช้บอระเพ็ดกับคนเป็นเบาหวานเช่นกัน
มีการศึกษาในห้องทดลองโดยนำสารสกัดเถาบอระเพ็ดด้วยน้ำไปทดลองในหนู ทั้งหนูปกติและหนูที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน พบว่า เมื่อผสมสารสกัดในน้ำดื่มขนาด 4 กรัม/ลิตร ให้หนูกินเป็นเวลาสองสัปดาห์ เมื่อทดสอบด้วยกลูโคสทอเรอแลนซ์เทส(glucose tolerance) อันเป็นการวัดความสามารถของร่างกายในการใช้น้ำตาล การทดสอบนี้จะเป็นการวินิจฉัยโรคเบาหวาน และภาวะเสี่ยงต่อเบาหวาน พบว่าดีขึ้นกว่าก่อนให้ยา แสดงว่ามีผลลดน้ำตาลในเลือด และพบว่าหนูมีปริมาณอินซูลินเพิ่มมากขึ้นด้วย
จากการวิจัยพบว่า สารสกัดบอระเพ็ดกระตุ้นให้เซลล์ตับอ่อนของหนูขาวและคนหลั่งอินซูลิน ฤทธิ์ในการลดเบาหวานของบอระเพ็ดน่าจะมาจากกระบวนการกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินนั่นเอง และมีการศึกษาผลของสารสกัดบอระเพ็ดในการลดความดันโลหิต โดยทดลองฉีดสารสกัดบอระเพ็ดเข้าไปในหลอดเลือดดำของหนูขาวใหญ่ ก็พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้จริงๆ
บอระเพ็ด ยังเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้รักษาอาการปวดเมื่อย แก้อักเสบ <ตาวิน ตุ้มทอง> นิยมใช้บอระเพ็ดเป็นยาแก้ปวดเส้น ปวดเอ็น คลายเส้น คลายเอ็น โดยใช้แก่นขี้เหล็กป่า แก่นขี้เหล็กบ้าน เครือเขาฮอ(บอระเพ็ด) และแก่นขี้เหล็กสาร(ชุมเห็ดเทศ) อย่างละสองสามกีบนำมาต้มกิน วันละ 4-5 ครั้ง ครั้งละหนึ่งหรือสองแก้ว หรือกินแทนน้ำก็ได้ กินสักสามหม้อก็ดีหาย คนล้านนาใช้เข้ายาร่วมกับเพชรสังฆาต เป็นยารักษาอาการปวดกระดูก
นอกจากนี้ ในตำรายาไทย มีตำรับรักษาอาการปวดเมื่อยที่เข้าบอระเพ็ดหลายตำรับ มีทั้งยากิน ยาประคบ และยาอาบ การศึกษาวิจัยแผนใหม่ก็พบว่า บอระเพ็ดมีฤทธิ์แก้อักเสบได้ดีทีเดียว
ข้อควรระวัง
-สมุนไพรรสขมจัด เช่น บอระเพ็ด ชิงช้าชาลี แห้ม ย่านาง ถ้ากินในขนาดสูงๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติของตับได้ ควรกินในขนาดที่คนโบราณกินเท่านั้น
-ถ้าใช้ไปแล้วมีอาการมือเท้าเย็น แขนขาหมดเรี่ยวแรง ตาเหลือง ให้หยุดรับประทาน เนื่องจากอาจเกิดตับอักเสบ ดังนั้น ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
ตำรับยา
1.ยาลดความดัน ใช้บอระเพ็ดกับบัวบกน้ำหนักเท่ากัน ตำผงทำเป็นลูกกลอนกินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น จะช่วยปรับและควบคุมลมในร่างกาย ช่วยปรับเส้นประสาท
2.ยาลดเบาหวาน แก้ไข้ เจริญอาหาร นำเถาบอระเพ็ดมาตัดเป็นท่อนเล็กๆ ตากให้แห้ง แล้วนำมาคั่วด้วยไฟอ่อนๆ แล้วบด ชงประมาณหนึ่งช้อนชากับน้ำอุ่นแล้วดื่ม หรืออาจจะใส่แคปซูลเพื่อความสะดวกในการรับประทาน
3.ยาบอระเพ็ดบำรุงร่างกาย แก้ปวดเมื่อย ให้เอาบอระเพ็ดตำให้ละเอียด ละลายน้ำผึ้งกินวันละ 1 ช้อนกาแฟ รับประทานประจำทุกวัน
4.ยาอายุวัฒนะ ใช้บอระเพ็ด(ราก, ต้น, ใบ) เมล็ดข่อย หัวแห้วหมู เมล็ดพริกไทย เปลือกต้นทิ้งถ่อน เปลือกต้นตะโกนา อย่างละเท่ากันนำมาบดเป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอนเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานก่อนนอน ครั้งละ 2-3 เม็ด
5.ยาริดสีดวงทวาร ใช้หัวขมิ้นชัน 1 ถ้วย หัวขมิ้นอ้อย 1 ถ้วย บอระเพ็ด 1 ถ้วย เกลือ 1 ถ้วยครึ่ง ต้นพมาต้มรวมกัน ใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ควรเติมการบูร 1 สลึง
6.ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ใช้บอระเพ็ด 5 ส่วน มะขามเปียก 7 ส่วน เกลือ 3 ส่วน น้ำผึ้งพอควร นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วรับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา
7.ยาสระผม รักษาอาการคันศีรษะ นำเถาบอระเพ็ดหั่นบางๆ นวดเอาน้ำมาสระผม
อ้างอิงข้อมูลจาก : หนังสือบันทึกของแผ่นดิน 8 สมุนไพรชะลอวัยไกลโรค โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร