- 23 พ.ค. 2562
อากาศร้อนแบบนี้พาหงุดหงิดหัวใจ ลองมาหาตำรับสมุนไพรดีๆ ใช้ดับร้อน บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น เบิกบานรับหน้าร้อนกันดีกว่า
อากาศร้อนแบบนี้พาหงุดหงิดหัวใจ ลองมาหาตำรับสมุนไพรดีๆ ใช้ดับร้อน บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น เบิกบานรับหน้าร้อนกันดีกว่า
วันนี้เราจะมาแนะนำตำรับสูตรสมุนไพรทำใช้เอง ที่ทั้งหาง่าย นำมาใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์ สำหรับเป็นตัวช่วยคลายร้อนได้ดีในสภาพอากาศร้อนๆแบบนี้ กับ "สูตรน้ำลอยดอกมะลิ" เย็นชื่นใจ ดับกระหาย คลายร้อน
มะลิ : ตำรายาไทย “ดอกมะลิ” รสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แต่อย่าใช้มากเกินไป เพราะจะแสลงกับโรคลมจุกเสียดแน่น ช่วยนอนหลับ
น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ ใช้ในการกระตุ้นระบบประสาทสำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้าทางจิตใจ ง่วง เฉื่อยชา อ่อนเพลีย ช่วยปรับอารมณ์และสภาพสมดุลของจิตใจให้ดีขึ้น บรรเทาอาการปวดศีรษะในผู้ที่มีความเครียด ความกลัว บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
ทางเภสัชวิทยาพบว่า ดอกมะลิ มีฤทธิ์สงบประสาท และทำให้นอนหลับ โดยน้ำคั้นจากรากสดมะลิลา 1-8 กรัม ต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง หนู กระต่าย และสุนัข มีผลในการสงบประสาท ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวน้อยลง และทำให้นอนหลับ (จึงควรระมัดระวังในการใช้ เพราะการใช้มากเกินไปจะทำให้สลบได้)
มีงานวิจัยระบุว่า การใช้มะลิในการทําสปาและสุคนธบําบัด ส่งผลช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้รู้สึกสดชื่นและบรรเทาความเครียด แต่ไม่ควรใช้ที่มีความเข้มข้นมากเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะกลิ่นหอมแรงเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืดวิงเวียนและคลื่นไส้ได้ นอกจากนี้ดอกมะลิยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีการนํามะลิแห้งมาชงเป็นชาหรือแต่งกลิ่นของใบชาให้ กลิ่นหอมอ่อนๆ อีกด้วย
สำหรับสูตร น้ำลอยดอกมะลิ จะมีขั้นตอนและวิธีการทำอย่างไรนั้น มาติดตามกันได้เลย แนะนำว่าใช้เป็นมะลิที่เราปลูกเองจะปลอดภัยที่สุด หมดห่วงเรื่องสารเคมีปนเปื้อนแน่นอน
วิธีทำ
เก็บดอกมะลิตูมตอนเช้า ห่อด้วยใบตองเก็บไว้จากนั้นต้มน้ำสะอาดใส้ภาชนะที่มีผาปิด เตรียมไว้ เมื่อเวลาหกโมงเย็น (ช่วงเย็นๆ) ให้นำดอกมะลิมาเด็ดกลีบเลี้ยงออกใส่ลงในน้ำที่เตรียมไว้ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน เช้ามาให้รีบช้อนดอกมะลิออก จะได้น้ำลอยดอกมะลิ กลิ่นหอมหวานเย็นชื่นใจ
ทริค
หากแช่ดอกมะลิไว้จนสายจะทำให้ดอกมะลิจมน้ำ กลีบดอกจะช้ำ ทำให้เหม็นเขียวได้
เอกสารอ้างอิง
1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 1 น้ํากระสายยา. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด (มหาชน), 2556: 94 หน้า.
2. Kunhachan P, Banchonglikitkul C, Kajsongkram T, Khayungarnnawee A, Leelamanit W. Chemical composition, toxicity and
vasodilatation effect of the flowers extract of Jasminum sambac (L.) Ait.“G. Duke of Tuscany”. Evid Based Complement Alternat
Med 2012;2012:471312
3. Hongratanaworakit T. Stimulating effect of jasmine oil on humans. J Thai Trad Altern Med 2010; 8(2): 27.