- 24 พ.ค. 2562
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เมืองไทยอุณหภูมิสูงที่สุด ตอนนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่คนบ่นว่าอากาศร้อน โลกร้อน บางคนถึงกับเพลีย หรือบางคนทนไม่ไหวถึงกับเป็นลมไปเลยก็มี
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เมืองไทยอุณหภูมิสูงที่สุด ตอนนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่คนบ่นว่าอากาศร้อน โลกร้อน บางคนถึงกับเพลีย หรือบางคนทนไม่ไหวถึงกับเป็นลมไปเลยก็มี ทราบบ้างว่าอาการดังกล่าว จัดเป็นโรคอย่างหนึ่งที่มากับความร้อน คือ โรคเพลียความร้อน (Heat exhaustion)
เป็นโรคที่เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงหรือจากการออกกําลังกายหนักจนทําให้อุณหภูมิ (core temperature) ในร่างกายสูงมากกว่า 37 องศาเซลเซียส แต่น้อยกว่า 40 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิของร่างกายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะเรียกว่า โรคลมแดด" (Heat Stroke) หรือ โรคอุณหพาต หรือ "โรคลมเหตุร้อน" ซึ่งจะมีอาการคล้ายคลึงกันกับ โรคเพลียความร้อน แต่โรคลมแดดจะมีความรุนแรงมากกว่า และอาจทำให้เสียชีวิตได้
โรคลมแดด เกิดจากร่างกายไม่สามารถเคลียร์หรือขับความร้อนออกจากร่างกายได้ ความร้อนจึงสะสมในร่างกาย ระอุในตัว
ความร้อนมาจากไหน….. มาจาก
-ภายนอก : สภาพอากาศภายนอก
-ภายใน กระบวนการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งจะเพิ่มขึ้นในคนที่ใช้แรงมาก ออกกำลังกาย ขาดสุราเฉียบพลัน ไทรอยด์เป็นพิษที่ควบคุมไม่ดี การเสพติดยาบ้า/โคเคน
ร่วมกับการขับความร้อนจากร่างกายไม่ดี เช่น ขาดน้ำ จึงไม่มีเหงื่อที่ระเหยเอาความร้อนออกมาจากร่างกายได้เพียงพอ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิต หรืออาจกินยาลดความดันโลหิต ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี แรงดันเลือดไม่เพียงพอที่จะไปเลี้ยงที่ผิวหนังสำหรับระบายความร้อนได้ดีพอ หรือการได้ยาขับปัสสาวะรักษาโรคประจำตัว (ไม่แนะนำให้หยุดยาเอง)
การระบายความร้อนของร่างกายตามปกติซึ่งต้องใช้น้ำในร่างกายเป็นส่วนใหญ่
-เหงื่อ (ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุด และมีต่อมเหงื่อช่วยระบายของเสีย ช่วยไตอีกแรง และช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างาย ต่อมเหงื่อทั้งหมดมีประมาณ 2 ล้านต่อม มีมาก ที่สุดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และน้อยที่สุดที่หลังและขา )
-ปัสสาวะ
-ลมหายใจ
-เส้นเลือดขยาย เพื่อให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆ ดีขึ้น เช่น หัวใจ ตับ ไต สมอง ปรับตัวจากการที่ร่างกายเสียน้ำ เช่น ระบายความร้อนเป็นเหงื่อขับไปที่ผิวหนัง ชีพจรเต้นเร็ว แต่ถ้าขาดน้ำ ชีพจรจะเต้นเร็วมากขึ้นไปอีก หัวใจทำงานหนัก หรือถ้าเส้นเลือดขยายมากไป ก็อาจทำให้เกิดอาการมึนศีรษะ เวียนศีรษะตามมา หมดสติได้ หรือไตวายจากการเสียน้ำได้
กลุ่มเสี่ยง
ผู้ที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนติดต่อกันนานๆ เช่น กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร นักวิ่ง ทหารเกณฑ์ที่ฝึกหนักในอากาศร้อนจัด หรือเกิดในคนสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ (Bed Ridden) ผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติด เช่น โคเคน แอมเฟตามีน หรือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์
ออกกำลังกายอย่างหนัก
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดน้ำอยู่แล้ว เช่น ท้องเสีย อาเจียน ใช้ยาขับปัสสาวะ
สาเหตุหลักที่ทำให้ลมแดด เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากทำให้อวัยวะสำคัญๆ เสียหาย เช่น ไตวาย คือ การสูญเสียน้ำในร่างกายเป็นจำนวนมากจากการเสียเหงื่อ และไม่ได้รับน้ำชดเชยอย่างพอเพียง
อาการของโรคลมแดด
โรคลมแดดไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่สัมผัสกับอากาศร้อน แต่เกิดขึ้นจากการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นเวลานานหรือใช้กำลังกายในอุณหภูมิที่ร้อนสูง ซึ่งเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น อาจเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนแรง คลื่นไส้ หน้าซีด หน้ามืด เป็นลม ตัวร้อนจัด เมื่อยล้า เกิดตะคริว วิตกกังวล สับสน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น สับสน พูดไม่ชัดเจน กระสับกระส่าย หรือเห็นภาพหลอน สังเกตได้ว่าเมื่อสัมผัสผู้ที่มีอาการจะพบตัวร้อนมากและมีผิวสีแดงกว่าปกติ (flushing) หากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดการชักเกร็ง โคม่า เพ้อ ช็อค ไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้อลายสลาย อวัยวะต่างๆ เกิดการล้มเหลว เช่น ไตล้มเหลว เซลล์ตับตาย กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย
แนวทางการรักษาโรคลมแดด
ผู้ป่วยโรคลมแดดควรได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเป้าหมายของการรักษาคือการลดอุณหภูมิภายในร่างกายของผู้ป่วย โดยรีบมาอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ปลดเสื้อให้ระบายอากาศให้ดีหากรัดตึง ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว หากมีสติ ให้รีบดื่มน้ำ จะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาก็ได้ หากไม่ได้สติ ให้รีบเรียกรถพยาบาล อย่าเพิ่งป้อนน้ำ เดี๋ยวสำลัก การใช้น้ำพรมตามร่างกายและใช้พัดลมเป่าให้น้ำระเหย แทนเหงื่อให้ระเหยความร้อนออกมา ใช้ผ้าเย็นประคบตามรักแร้ คอ หลังและขาหนีบทั้งนี้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาโดยทันที อาจเกิดอาการที่รุนแรงและบางครั้งอาจไม่กลับมาเป็นปกติได้ ยิ่งผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษานานเท่าใด โอกาสในการเสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
เคล็ดลับในการหลีกเลี่ยงโรคลมแดด
หากอยู่ในที่อุณหภูมิสูง สามารถหลีกเลี่ยงโรคลมแดดได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
-ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายสามารถทำตัวให้เย็นลงได้ตามธรรมชาติผ่านทางเหงื่อ
-หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
-สวมใส่เสื้อผ้าที่เบาบางและไม่รัดแน่นจนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่เย็นอย่างเหมาะสม
-อย่าออกกำลังกายมากเกินไปในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ให้ทำงานที่ใช้กำลังมากที่สุดในตอนเช้าหรือตอนเย็นเมื่ออุณหภูมิเย็นลง
-หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแดดจัด รวมถึงการนั่งในรถยนต์ที่จอดไว้ถึงแม้จะเปิดกระจกทิ้งไว้หรือจอดรถยนต์ไว้ในที่ร่มก็ตาม โดยเฉพาะการปล่อยให้เด็กเล็กอยู่ตามลำพังในรถ เพราะอุณหภูมิในรถยนต์สามารถร้อนจัดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
เมนูอาหาร-เครื่องดื่ม น้ำ
ช่วยป้องกันโรคลมแดดได้ หรือหากเกิดขึ้นแล้วสามารถบรรเทาอาการลมแดด ช่วยทำให้ร่างกายเย็นขึ้น
เมนูอาหาร
เช่น แกงจืดฟักเขียว แกงจืดตำลึง แกงจืดมะระยัดไส้
เมนูของหวาน
เช่น เฉาก๊วย สละลอยแก้ว
เครื่องดื่มสมุนไพรฤทธิ์เย็น เช่น
- น้ำย่านาง มีฤทธิ์เย็น ช่วยปรับสมดุลความร้อน
- น้ำใบบัวบก แก้ร้อนในกระหายน้ำ เพิ่มการไหลเวียนเลือดได้ดี บำรุงสมอง
- น้ำตรีผลา เป็นยาปรับธาตุในหน้าร้อน ช่วยล้างพิษ ต้านมะเร็ง
- น้ำมะพร้าว มีเกลือแร่และน้ำตาลฟรุกโทส ช่วยแก้อ่อนเพลียได้ไว
- น้ำว่านกาบหอย แก้ไอร้อนในปอด แก้ฟกช้ำภายใน
- น้ำใบเตย ช่วยบำรุงหัวใจ
- น้ำเก๊กฮวย แก้ร้อนใน บำรุงหัวใจ บำรุงสายตา
- น้ำแตงกวา แก้กระหาย ทำให้ร่างกายสดชื่น ช่วยนอนหลับ
- น้ำว่านหางจระเข้ แก้กระเพาะลำไส้อักเสบ รสชาติอร่อยยิ่งขึ้นหากใส่วุ้นว่างหางจระเข้ในน้ำใบเตย