- 24 ก.ค. 2562
อาถรรพวันพระ?! “ปล่อยผี – ปล่อยของ” 2 ความเชื่อลี้ลับที่มักจะเกิดขึ้นในวันพระ
เสียงกรีดร้องโหยหวนด้วยความหิวโหยของ “เปรต” ดังขึ้นมาเป็นระยะๆ ท่ามกลางความมืดสลัวของท้องฟ้าในยามราตรีกาล สลับกับเสียงกู่ร้องของนกแสกสอดผสานแว่วมาตามสายลม ทำเอาผู้คนขวัญผวาเมื่อถึงคืนวันพระ เพราะเชื่อกันมาว่านอกจากจะเป็นวันทำบุญรักษาอุโบสถศีลแล้ว ยังเป็นวันที่เหล่าวิญญาณทั้งหลายจะออกมาขอส่วนบุญส่วนกุศล ความเชื่อนี้อาจจะแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น
โดยสืบเนื่องตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยว่าวันพระนั้น ถือเป็นพิเศษในทางพระพุทธศาสนา เรียกวันพระ อีกชื่อหนึ่งว่า “วันธรรมสวนะ” หรือ วันอุโบสถ เป็นวันแห่งการถือศีล ฟังธรรม ประกอบคุณงามความดีในคติพุทธ โดยในเดือนหนึ่งจะมีวันพระอยู่ทั้งหมด ๔ วันได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด
สมัยก่อนหากถึงวันพระ พุทธศาสนิกชนก็มักจะเดินทางไปที่วัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา จวบจนในปัจจุบันพุทธศาสนิกชนก็ยังคงให้ความสำคัญกับวันพระ หลายคนถือเอาวันพระเป็นวันของการถือศีล เป็นวันทำบุญใส่บาตร และอื่นๆอีกมาก วันพระจึงเป็นวันสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีความเชื่อเกี่ยวกับอาถรรพ์ของวันพระที่มักจะเกิดเหตุ 2 ประการ คือ
วันปล่อยผี บางท้องถิ่นจะมีความเชื่อว่า วันพระเป็นวันปล่อยผี หรือปลดปล่อยดวงวิญญาณ อีกทั้งเชื่อว่า ในวันพระ ในวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำ ยมโลกจะงดการทรมานสัตว์ที่ได้รับโทษทัณฑ์หนึ่งวันและเปิดโอกาสให้สัตว์นรกเหล่านั้นสามารถรับบุญจากมนุษย์ได้ จึงทำให้เชื่อว่าในวันพระใหญ่จะมีวิญญาณออกมามากมายกว่าปกติ เพื่อมาขอส่วนบุญกับมนุษย์ จึงเป็นที่เล่าขานกันในสมัยโบราณว่ามักจะมีเปรตออกมากรีดร้อง มาขอส่วนบุญในวันพระ ขณะที่ในบางความเชื่อก็ว่า ในยมโลกจะหยุดทรมานสัตว์นรกเท่านั้นแต่ไม่ได้ปล่อยให้ออกมา ส่วนในมหานรก หรือนรกขุมใหญ่ สัตว์นรกก็ยังคงรับกรรมของตนตามปกติ อย่างไรก็ดี ความเชื่อนี้ เป็นสิ่งที่คนสมัยก่อนบอกเล่าสืบมา เพื่อให้ลูกหลานได้ทำบุญถือศีลในวันพระ แล้วอุทิศบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือวิญญาณทั้งหลายที่ไม่ใช่ญาติก็ตาม ซึ่งการอุทิศบุญให้วิญญาณ ก็เป็นการทำบุญอีกประการหนึ่งเช่นกัน
วันปล่อยของ โดยความเชื่อแล้วการปล่อยของของผู้ที่เล่นวิชาทางไสยศาสตร์ จะมีทั้งปล่อยของในวันอังคาร วันเสาร์ หรือไม่ก็วันโกน วันพระ เพื่อไม่ให้ของนั้นเข้าตัว เพราะหากไม่ปล่อยของ ก็จะเกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง ทำให้ตนเองต้องมีอันเป็นไปต่างๆนานา จึงต้องปล่อยของออกไป โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องทำใส่ใคร คือปล่อยออกไปแล้ว ก็สุดแท้แต่เวรกรรมของผู้ใดที่จะโดนของนั้นๆ เรียกว่า ลมเพลมพัดนั่นเอง ซึ่งคนที่จะถูกลมเพลมพัด โดนของที่ถูกปล่อยมาได้ จะต้องมีวาระกรรมที่มาถึงตัวแล้วเท่านั้น จะหลบอย่างไรก็หลบไม่พ้น และต้องหาทางแก้หรือการถอนของกันต่อไป แต่หากผู้ใดยังไม่มีวาระกรรมที่จะมาถึงก็จะไม่ถูกลมเพลมพัด ขณะเดียวกันก็มีวิธีป้องกันตามที่คนโบราณบอกไว้ เช่น หากวันพระวันโกน มีเสียงดังอะไรเกิดขึ้น ก็อย่าไปทัก เพราะอาจจะเป็นของที่ถูกปล่อยออกมา หากไปทักเข้าของนั้นก็อาจจะเข้าตัวได้
เข้าวัดฟังธรรมในวันพระ ป้องกันสิ่งเลวร้าย ดังนั้นเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีและอาถรรพ์ต่างๆ คนสมัยก่อนจะให้ความสำคัญกับวันพระ คือ ในวันพระจะงดกิจทั้งปวง ทั้งการทำงาน การเดินทางไกลต่างๆ เข้าวัดฟังธรรมอย่างเดียวเท่านั้น ความเชื่อในเรื่องนี้ที่ได้ยินได้ฟังสืบต่อกันมา ก็เพื่อจูงใจให้คนเข้าวัด ถือศีล ทำความดี ละเว้นความชั่ว เป็นการสร้างบุญให้เกิดแก่ตนเอง โดยไม่ต้องหวังพึ่งเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพราะบุญกุศลเท่านั้น จะเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากสิ่งไม่ดี ขณะเดียวกันสมัยก่อนผู้คนบางส่วน เชื่อว่า วันพระเทวดาไม่อยู่ เพราะ เทวดาจะมาฟังธรรมที่ธรรมสภาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทวดาจึงไม่อาจมาดูแลปกป้องมนุษย์ได้ ทำให้คนสมัยก่อนหยุดทำงานในวันพระ แม้แต่ใบไม้สักใบก็จะไม่เด็ดออกจากต้น โรงฆ่าสัตว์ต่างๆก็จะหยุดทำลายชีวิต โดยเฉพาะในวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำ จะเคร่งครัดเป็นพิเศษ เพื่อละเว้นจากการทำความชั่ว รักษาศีล เข้าวัดฟังธรรม เพื่อปกป้องตนเองให้พ้นจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย
สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับวันพระนั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นที่ได้ยินได้ฟังมา ส่วนจะเชื่อหรือไม่ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคล หากแต่พิจารณาแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เพราะได้โน้มน้าวชักจูงให้คนทำความดี ละเว้นความชั่ว เพียงแค่ไม่กี่วันในหนึ่งเดือนก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำ เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของใครหลายคนที่อยากทำความดีในทุกๆวัน ไม่ใช่เฉพาะวันพระเท่านั้น?!
เครดิตภาพ : วัดป่าโนนวิเวก, Napapawn