- 24 ก.ย. 2561
จากเรื่องเล่านางยักษ์ผู้ถวายทานด้วยสลากภัต… กำเนิดประเพณีบุญข้าวสาก มากด้วยอานิสงส์?!
แรงบุญแห่งวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ที่ถือว่าได้ว่าเป็นบุญแห่งการอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบรรพบุรุษ ญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งจัดขึ้นในทุกๆปี ทางภาคอีสานเรียกประเพณีนี้ว่า “บุญข้าวสาก” หรือเรียกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สลากภัต” และในแต่ละภาคก็จะมีชื่อเรียกและกรรมวิธีที่กระทำแตกต่างกันไปตามความเชื่อที่ถือปฏิบัติกันมา โดยในปีนี้ ประเพณีบุญข้าวสากตรงกับวันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2561
“สลากภัต” เป็นการถวายทานแด่สงฆ์ด้วยวิธีการจับสลาก หรือ เป็นทานที่ถวายตามสลาก ส่วน คำว่า “สาก” (ประเพณีบุญข้าวสากของชาวอีสาน) ก็มีที่มาจากคำว่า “สลาก” นั่นเอง.. โดยวิธีการจับสลากนั้นมีอยู่สองรูปแบบคือ เขียนชื่อหรือหมายเลขของผู้ที่ประสงค์จะถวายสลากลงในแผ่นกระดาษ แล้วให้พระสงฆ์จับ หากพระรูปใดจับได้ของผู้ใด ผู้นั้นก็จะถวายเครื่องไทยทานแก่พระรูปนั้น อีกวิธีหนึ่งคือ การเขียนเลขประจำตัวของพระสงฆ์แต่ละรูปใส่กระดาษแล้วให้ญาติโยมเป็นผู้จับ หากจับได้ของพระรูปใดก็จะถวายกับพระรูปนั้น แต่โดยส่วนมากแล้วสำหรับ “ประเพณีบุญข้าวสาก” จะใช้วิธีแรกคือการให้พระสงฆ์จับสลาก
ก่อนวันพระขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะจัดเตรียมสิ่งของต่างๆทั้งอาหารแห้ง ข้าวต้มมัด สบู่ ยาสีฟัน ของใช้จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ มาทำการห่อใส่ชะลอมไม้ไผ่ (ปัจจุบันอาจจะใช้ตะกร้า หรือ นำภาชนะอื่นๆที่สามารถใส่ได้สะดวก) โดยชะลอมที่ใส่นั้น จะมีจำนวนเท่ากับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ครอบครัวนี้ประสงค์จะทำบุญให้กับบรรพบุรุษ หรือญาติมิตรที่ล่วงลับ 5 ราย ก็นำสิ่งของมาใส่ชะลอม 5 อัน แต่ในบางครอบครัวก็อาจจะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนผู้ล่วงลับที่เหลือสามารถเขียนชื่อบอกกล่าวด้วยวาจาได้
เมื่อถึงวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ช่วงเช้า ญาติโยมจะไปรวมกันที่วัด เพื่อใส่บาตรตามปกติ พอใส่บาตรเสร็จแล้ว จึงกลับมาบ้าน เพื่อเตรียมชะลอมที่ใส่สิ่งของต่างๆไปวัดอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำกระดาษตัดเป็นแผ่น เขียนชื่อเจ้าของสลากพร้อมหมายเลข และเขียนไว้ด้วยว่า การถวายสลากนี้อุทิศบุญให้กับใครบ้าง จากนั้นพระสงฆ์ก็จะทำการจับสลาก หากจับได้ของผู้ใด ก็จะให้ผู้นั้นนำไปถวายตามหมายเลขของตน
สำหรับที่มาของการถวายสลากภัต ปรากฎใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ พุทธานุญาตภัตร โดยครั้งหนึ่งกรุงราชคฤห์เกิดข้าวยากหมากแพง อาหารที่ชาวบ้านนำมาถวายแด่สงฆ์จึงไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายทั่วกัน แต่ปรารถนาจะทำอุทเทสภัตร นิมันตนภัตร สลากภัตร ปักขิกภัตร อุโปสถิกภัตร ปาฏิปทิกภัตร พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต ซึ่งจะเห็นว่าหนึ่งในนั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ก็คือ “สลากภัต” หรือการถวายอาหารโดยวิธีการจับสลาก
ซึ่งวิธีการจับสลากนี้จะเห็นว่า เป็นการถวายทานโดยไม่ได้เจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง จึงเข้าลักษณะของ “สังฆทาน” คือ การถวายทานโดยไม่เจาะจง อาหารและเครื่องไทยทานที่พระสงฆ์ได้รับการถวายจากญาติโยมจึงถือเป็นส่วนรวมในอาราม อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์แต่เดิมของสลากภัต จะถูกใช้เมื่อมีอาหารน้อยหรือญาติโยมหาอาหารมาถวายได้ยาก แต่สาธุชนก็ได้สืบทอดประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน การทำบุญสลากภัต ก็มีประวัติความเป็นมา ปรากฎใน อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี ความโดยย่อกล่าวคือ ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร วันหนึ่งได้มีนางกุมาริกาอุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักษ์ ผู้ที่หวังจะทำร้ายเพราะเคยมีเวรกรรมต่อกันมาก่อน นางจึงอุ้มลูกเข้าไปในพระเชตะวันเพื่อขอความเมตตาจากพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งสอนชี้แนะให้ทั้งนางยักษ์และนางกุมาริกา เลิกจองเวรต่อกันและกัน ฝ่ายนางยักษ์ทราบแล้วจึงได้รับศีล ๕ แต่ก็ร้องไห้ออกมาเพราะไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอย่างไร นางกุมาริกาเกิดความเห็นใจ จึงได้รับนางยักษ์ไปอยู่ด้วย และทำการอุปการะนางยักษ์หลายประการ นางยักษ์สำนึกในบุญคุณ จึงตอบแทนด้วยการพยากรณ์ให้นางกุมาริกา ทำนาบนที่ดอนในช่วงหน้าฝน และทำนาบนที่ลุ่มในช่วงหน้าแล้ง เมื่อนางกุมาริกาปฏิบัติตาม ปรากฏว่าในเวลาต่อมา นางกุมาริกามีฐานะร่ำรวยขึ้น ชาวบ้านจึงให้นางยักษ์พยากรณ์บ้าง นางยักษ์จึงพยากรณ์ให้แต่ละคน ปรากฏว่าในกาลต่อมา ทุกๆคนต่างมีฐานะร่ำรวยมากขึ้น ชาวบ้านจึงได้นำของอุปโภคบริโภคต่างๆมาให้กับนางยักษ์ นางยักษ์จัดทำของเหล่านี้เป็น “สลากภัต” โดยให้พระสงฆ์ทำการจับสลาก จึงถือได้ว่า เป็นครั้งแรกในพุทธกาลที่มีการทำบุญ “สลากภัต” สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับอานิสงส์ของสลากภัตนั้น เป็นการประกอบบุญที่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องถวายแก่พระรูปใดรูปหนึ่งจึงถือเป็นการถวายทานในลักษณะของสังฆทาน มีอานิสงส์ที่ผู้กระทำเชื่อว่าจะนำพาความเป็นมงคลมาให้แก่ตนเอง ทำให้ตนมีฐานะที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังที่ปรากฏตามเรื่องเล่าในครั้งหนึ่ง เรื่องอานิสงส์สลากภัตต์ (ข้าวสาร) http://www.84000.org/anisong/26.html ความโดยย่อกล่าว คือ สมัยพระพุทธเจ้าปทุมมุตตระ มีสามีภรรยาคู่หนึ่งยากจนเข็ญใจ ฝ่ายสามีจึงพิจารณาว่า เนื่องมาจากตนไม่ได้ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนาในชาติก่อน จึงทำให้เกิดมาเป็นคนจนในชาตินี้ เขาและภรรยาจึงได้จัดเครื่องไทยทาน นำไปสู่วัดทำเป็นสลากภัต พร้อมกับสาธุชนทั้งหลาย สามีภรรยาคู่นี้ได้จับสลากถูกภิกษุรูปหนึ่งจึงเข้าไปถวายด้วยความปิติยินดี พวกเขาได้ตั้งจิตปรารถนาว่าขอให้ผลทานครั้งนี้เป็นเหตุให้ตนพร้อมไปด้วยสมบัติ ความตกทุกข์ได้ยากอย่าได้มีแก่ตนเลย ต่อมาทั้งคู่ก็สิ้นอายุขัยไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อหมดบุญแล้วก็เกิดเป็นพระเจ้าศรัทธาติสสะ ณ เมืองพาราณสี ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒พุทธานุญาตภัตรhttp://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=07&A=2837&Z=2872
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=4
อานิสงส์สลากภัตต์ (ข้าวสาร) http://www.84000.org/anisong/26.html
ขอบคุณภาพจาก : วัดป่าโนนวิเวก , พระจันทร์เริงร่า