- 12 ส.ค. 2562
เตือน ไม้ประดับให้โชคลาภเงินทอง มีสารพิษที่เป็นอันตราย หลายคนคงเคยเห็นต้นไม้ชนิดนี้อยู่ทั่วไม่ว่าจะที่ไหนๆย่อมมีต้นไม้ชนิดนี้ประดับตามสถานที่ต่างๆเนื่องจากเป็นไม้ที่มีความสวยงามของใบเลี้ยงง่าย ราคาถูก และมีขายอยู่ทั่วไป
หลายคนคงเคยเห็นต้นไม้ชนิดนี้อยู่ทั่วไม่ว่าจะที่ไหนๆย่อมมีต้นไม้ชนิดนี้ประดับตามสถานที่ต่างๆเนื่องจากเป็นไม้ที่มีความสวยงามของใบเลี้ยงง่าย ราคาถูก และมีขายอยู่ทั่วไป
สาวน้อยประแป้งเป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั้งภายนอกและภายในอาคารมานานแล้ว เพราะเลี้ยงง่าย ทน และใบที่มีลวดลายสวยงาม และมีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ สามารถดูดสารพิษได้มากชนิดหนึ่ง จึงเป็นไม้ประดับที่ช่วยฟอกอากาศ ช่วยลดมลภาวะพิษเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่อาคารสำนักงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพเยี่ยม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สาวน้อยประแป้ง มีลำต้นทั่วไปคล้ายกับแก้วกาญจนา/เขียวหมื่นปี ลำต้นทรงกลม ตั้งตรง และอวบน้ำ ผิวลำต้นมีสีเขียวสด และเป็นข้อถี่ที่เป็นวงสีขาวอันเกิดจากจากรอยแผลของใบ ปลายลำต้นแตกยอดอ่อนของใบทีละใบ ทั้งนี้ ต้นสาวน้อยประแป้งสามารถแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่ที่โคนต้นได้
ใบ
สาวน้อยประแป้ง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบแตกออกเป็นใบเดี่ยวๆบริเวณปลายยอดของลำต้น แต่ละใบเรียงสลับกันเป็นวงตามความสูงของลำต้น ใบมีรูปไข่แกมขอบขนาน กว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีพื้นเป็นสีเขียว และเส้นกลางใบสีเขียวอ่อนขนาดใหญ่ พร้อมมีลายประสีขาวกระจายออกจากเส้นกลางใบในแนวเฉียงบริเวณของเส้นใบย่อย
ดอก
ดอกสาวน้อยประแป้งออกเป็นช่อที่ปลายยอด คล้ายดอกหน้าวัว ตัวช่อดอกมีกาบหุ้มสีเขียวล้อมรอบ ด้านในกาบหุ้มบรรจุด้วยดอกขนาดเล็กสีขาวที่เรียงซ้อนกันแน่นจำนวนมาก เมื่อดอกบาน กาบหุ้มจะกางออก จนมองเห็นช่อดอกที่เป็นรูปทรงกระบอกยาว
ผล
ผลเจริญมาจากดอก มีลักษณะเป็นเครือคล้ายเครือกล้วย แต่ไม่เป็นหวี แต่จะเป็นผลแต่ละผลเรียงซ้อนกันแน่น ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีแดง ด้านในเป็นเมล็ด รูปทรงกลมถึงทรงรูปไข่
ประโยชน์สาวน้อยประแป้ง
1. สาวน้อยประแป้งนิยมปลูกเพื่อประดับต้น และใบเป็นหลัก เนื่องจาก แผ่นใบมีขนาดใหญ่ พื้นบีสีเขียว และมีลายประสีขาวทั่วใบ ซึ่งดูแปลกตา และสวยงาม ลายประสีขาวนี้ ถือเป็นที่มาของชื่อ สาวน้อยประแป้ง
2. สาวน้อยประแป้งนอกจากจะปลูกเพื่อประดับต้น และใบแล้ว ผู้ที่นิยมปลูกยังมีความเชื่อว่า เป็นพรรณไม้ที่คอยให้โชคลาภ ช่วยคุ้มครองภัย และช่วยให้ผู้ปลูกมีอายุยืนยาว
3. น้ำยางจากลำต้น ใบ และดอก ใช้เป็นยาพิษเบื่อสัตว์ แต่พึงระวัง หากคนกินอาจทำให้เสียชีวิตได้
สรรพคุณสาวน้อยประแป้ง
ทุกส่วนของสาวน้อยประแป้ง ยังไม่พบรายงาน ทั้งในรูปเอกสาร และเนื้อหาในเว็บไซต์ที่นำมาใช้ในด้านสมุนไพร ทั้งนี้ อาจเนื่องจาก ทุกส่วนมีสารพิษที่เป็นอันตรายถึงตายได้ โดยเฉพาะการรับประทานในปริมาณมาก
พิษสาวน้อยประแป้ง
สารพิษที่พบ
ทุกส่วนของต้นสาวน้อยประแป้งมีสารละลายของสารพิษ ได้แก่
– แคลเซียมออกซาเลท (calcium oxalate) มีสถานะเป็นของแข็งเป็นผลึกรูปเข็ม พบของของเหลวละลายในทุกส่วนของสาวน้อยประแป้ง
– สารโปรตีน และเอนไซม์บางชนิด ที่สามารถย่อยสลายโปรตีนได้
อาการหลังได้รับพิษ
– เมื่อน้ำยางสัมผัสผิวหนัง สารละลายของผลึกแคลเซียมออกซาเลทจะทำให้เกิดผื่นแดง และเกิดอาการคันมาก
– เมื่อน้ำยางเข้าสู่ทางเดินระบบอาหารด้วยการกลืนกิน สารละลายของผลึกแคลเซียมออกซาเลทจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร รู้สึกปวดร้อน ทั้งในปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม ลำคอ และทางเดินระบบอาหาร เกิดอาการปวดบริเวณท้อง รวมถึงโปรตีน และเอนไซม์บางชนิดที่ย่อยโปรตีนได้จะเข้าทำลายเยื่อบุในช่องปาก ทำให้ปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และคอ เกิดอาการบวมพอง เป็นตุ่มน้ำใสๆ ผู้ที่ได้รับพิษจะกลืนน้ำลาย และอาหารลำบาก รวมถึงพูดไม่ได้ และหากได้รับน้ำยางมากจะทำลายระบบอวัยวะภายในทำให้ถึงตายได้
การรักษาผู้ได้รับพิษ
– หากมีการสัมผัสบริเวณผิวหนัง ให้รีบล้างออกด้วย น้ำอุ่นหรือธรรมดา ร่วมกับสบู่หรือน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายทันที และหากมีอาการระคายเคือง เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ให้รับประทานยาระงับปวด รวมถึงใช้สมุนไพรบางชนิดทา เพื่อลดอาการ อาทิ ว่านหางจระเข้ เป็นต้น
-หากมีการกลืนกินเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเพียงเล็กน้อย และแสดงอาการเป็นพิษไม่มาก ให้ใช้ยาระงับปวด meperidine ควบคู่กับดื่มน้ำที่ละลาย เกลือแร่ร่วมด้วย แต่หากรับประทานเข้าไปมาก และมีอาการปวดท้องมาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
– หากเป็นเพียงการเคี้ยวที่ไม่กลืนลงท้อง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องปาก ให้รีบบ้วนปากด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเปล่าธรรมดา และอาจรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการ แต่หากมีอาการระคายเคืองมาก ควรรีบไปพบแพทย์
– กรณีช่องปากเกิดรอยตุ่มพอง อาการนี้จะหายเองภายใน 3-4 อาทิตย์ แต่อาจใช้ 1% ethyl morphine และ 2% disodium edetate จะทำให้รอยตุ่มหายเร็วขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
1) สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สาวน้อยประแป้ง. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ http://www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/saonoipp.htm
2) โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. สาวน้อยประแป้ง. ออนไลน์ เข้าถึงได้ที่ http://www.shc.ac.th/learning/botanical-garden/225.htm