- 08 ก.ย. 2564
เปิดความเชื่อ ทำไมคนเราต้องบูชาเจ้าป่าเจ้าเขา?
จากกรณี "น้องจีน่า" ที่หายตัวไปกว่า 4 วันที่ อ.แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ทางเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวชายต้องสงสัยที่ให้การรับสารภาพว่านำตัวน้องไปปล่อยทิ้งไว้หน้าถ้ำกลางป่าเพื่อสังเวยผีเจ้าป่าเจ้าเขา จนกระทั่งช่วงใกล้เที่ยงวันนี้ทางญาติของน้องจีน่าพบตัวน้องปลอดภัยดีแต่สภาพอิดโรยอยู่ในกระท่อมกลางป่าบนเขาใกล้หมู่บ้านนั้น
จากนั้นได้มีการพาดพิงถึงความเชื่อเรื่องการ "บูชาเจ้าป่าเจ้าเขา" ด้วยเช่นกัน ต้องบอกเลยว่า "เจ้าป่าเจ้าเขา" ว่าเป็น "เทวดาประจำถิ่น" ในประเพณีไทยเทวดาประจำท้องถิ่นนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ เทวดาที่คอยดูแลรักษาประจำถิ่นที่ เช่น พระภูมิเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าป่า เจ้าเขา ซึ่งเป็นใหญ่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ บางครั้งอาจเรียกว่า เทพารักษ์ หรือหากเป็นเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้เรียกว่า รุกขเทวดา ซึ่งนอกจากนี้ ในหลายกรณี เมื่อบรรพบุรุษของครอบครัวหรือชุมชนเสียชีวิตลงก็อาจมีการยกย่องให้เป็นผีบรรพบุรุษ ซึ่งอาจรวมได้เป็นเทวดาประจำท้องถิ่นประเภทหนึ่งด้วย
สำหรับคติในการบูชาบวงสรวงเทวดานั้นสามารถพบได้ในพิธีและประเพณีหลายอย่างของไทย นัยว่าหากเราต้องดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับพื้นที่หรือสิ่งใด รวมถึงถ้าจะทำกิจการงานใดเป็นพิเศษ ก็จำต้อง “สังเวย” บอกกล่าวให้เทวดาทราบ เพื่อความสุขสวัสดีหรือบันดาลการบรรลุผลสำเร็จตามแต่กรณี มิฉะนั้นหากมิได้บวงสรวงสังเวยหรือปฏิบัติผิดจารีตธรรมเนียม เทวดาอาจจะบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ร้ายต่างๆได้
การบวงสรวงสังเวยนี้ มีอาทิ การตั้งศาลหรือหอ ในกรณีของเทวดาพระภูมิเจ้าที่ การไหว้ครู ในกรณีของเทวดาแห่งศิลปวิทยาต่างๆ การบวงสรวงเมื่อจะทำการตัดโค่นไม้ใหญ่ ในกรณีของรุกขเทวดา หรือหากคนไทยสมัยก่อนจะปลูกเรือนก็ต้องบวงสรวงทำบัตรพลีไหว้พระภูมิเจ้าที่เพื่อขอที่ดินต่อผู้รักษาพื้นดินก่อน บัตรพลีดังกล่าวมีหมากพลู มะพร้าวอ่อน ขนมต้ม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น