- 11 ม.ค. 2562
รับวันใหม่ (11 ม.ค. 2562) กับข่าวที่แทบจะทำเอาพลพรรคผู้ภักดิ์ดีต่อ "นายหญิง" ยิ่งลักษณ์ หายใจไม่ทั่วท้อง กับความคืบหน้า "คดีจำนำข้าว" แต่ก่อนจะเข้าเรื่องนี้...ควรว่ากันไปถึงข่าวคราวความเคลื่อนไหวของยิ่งลักษณ์นับแต่หนหลังมา นี้ ที่ดูจะน่าจับตายิ่ง เพราะในแต่ละครั้งที่ผลุบๆโผล่ๆ แบบ "เจ้าไม่มีศาลสมภารไม่มีวัด"
รับวันใหม่ (11 ม.ค. 2562) กับข่าวที่แทบจะทำเอาพลพรรคผู้ภักดิ์ดีต่อ "นายหญิง" ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หายใจไม่ทั่วท้อง กับความคืบหน้า "คดีจำนำข้าว" แต่ก่อนจะเข้าเรื่องนี้...ควรว่ากันไปถึงข่าวคราวความเคลื่อนไหวของยิ่งลักษณ์นับแต่หนหลังมา นี้ ที่ดูจะน่าจับตายิ่ง เพราะในแต่ละครั้งที่ผลุบๆโผล่ๆ แบบ "เจ้าไม่มีศาลสมภารไม่มีวัด" ก็สร้างแรงกระเพื่อมได้มากพอควร โดยเฉพาะ "กระแสลือ" ว่า ตัวเธอนั้นจับผลัดจับผลู ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานท่าเรือยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในซัวเถา ก่อเกิดเป็นคำถามผุดขึ้นว่าจริงเท็จแค่ไหน...และเป็นไปได้อย่างไร ?
ขณะที่ทางด้านฝ่ายกองอวยก็เฮกันให้สนั่น ด้วยพยายามยกอ้างว่า "นายหญิง" ของเขานั้นเพียบพร้อมบริบูรณ์ไปด้วยความรู้ความสามารถ เจนจัดศาตร์การตลาดศักยภาพด้านการบริหารไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร ก็ดูจะเป็นการข่มทับฟากฝั่งตรงข้ามให้ได้แต่มองตาปริบๆชนิดชวนหัว เพราะหลายคนคงตระหนักรู้อยู่แก่ใจว่าครั้งเมื่ออดีตนายกฯผู้นี้ยังดำรงตำแหน่งนั้น ได้ชักนำพาประเทศสู่ความ "ศิวิไลซ์" หรือ "ถอยหลังเข้าคลอง"...ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องสาธยายให้มากความ เพราะคำตอบอยู่ที่คดีความของเธอที่รอวันชำระสะสางยาวเหยียดเป็นหางว่าว...ตอกย้ำความเจ็บปวดด้วยเหล่าแทคโนเครตและลิ่วล้อที่ก้มหน้ารับกรรมในซังเตแทบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน
อย่างไรก็ตามหลังจากกระแสสะพัดได้เพียงชั่วข้ามคืน ก็ไม่วายมีโชยกลิ่นตุๆชวนเสียดจมูก ว่าเรื่องนี้ท่าจะมี "ลับลมคมใน" เป็นแน่...ด้วยเพราะแหล่งต้นทางที่เผยแพร่บทความดังกล่าวได้อันตรธานไปเสียฉิป ซ้ำร้ายกลับพบว่าทั้งจำนวนการแชร์ต่อหรือการกดถูกใจก็ดูจะโหรงเหรงจนน่าใจหาย...ไม่เพียงเท่านั้นเพราะทางเว็บไซต์ "เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์" ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมถึงเส้นทางการขึ้นสู่เก้าอี้ประธานของยิ่งลักษณ์ จนกลายเป็นการ "สาวไส้" อย่างไม่เจตนา เมื่อพบว่าตัวเธอนั้นใช้ "พาสปอร์ตกัมพูชา" ในการดำเนินธุรกิจ ?
ขณะที่ตัวเธอนั้นก็ดูจะไม่ยินดียินร้ายคงความ "ทองไม่รู้ร้อน" อย่างเป็นปกวิสัย...ตรงข้ามกับรัฐบาลกัมพูชาเพราะพลันที่เรื่องฉาวเข้าถึงหูก็ออกมาปัดเป็นพัลวันว่า "ไม่ได้ออกพาสปอร์ต" ให้แก่อดีตนายกฯเจ้ากรรมแต่อย่างใด...ยืนกรานต่อไปอีกว่า...น่าจะเป็นของปลอมด้วยเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในประเทศ ไม่เคยออกหนังสือเดินทางให้กับชาวต่างชาติที่ขัดกับกฎหมายของประเทศ แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ก็คงได้แต่ตั้งคำถามกันต่อไป หรือจะเป็นการ "แก้เกี้ยว" ? เพราะไม่ต้องถึงขนาดขุดคุ้ยให้เปลืองแรงหลายคนก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่า...ระหว่าง "ชินวัตร" และ "รัฐบาลกัมพูชา" นั้น เป็นไปในทิศทางใด
พับเก็บเรื่องชวนปวดเศรียรเวียนเกล้าไว้ชั่วครู่...กลับมาที่รายงานถึง "คดีจำนำข้าว" เมื่อ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย จากผู้เกี่ยวข้องในโครงการจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ทั้งนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน
ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ , นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ รวมทั้งนักการเมืองในยุค รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ สังกัดกรมการค้าต่างประเทศ และกลุ่มเอกชนไปเมื่อปี 2560 ว่า เมื่อมีการดำเนินคดีอาญาและศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาแล้ว ก็มีการดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือที่กระทรวงการคลัง มีคำสั่งทางปกครองบังคับคดีให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ , นายบุญทรง , นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ , นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ , นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ , นายอัครพงศ์ (หรืออัฐฐิติพงศ์) ช่วยเกลี้ยง หรือ ทีปวัชระ อดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มูลค่านับแสนล้านบาท
โดยต่อมาทั้ง 6 ราย ได้ยื่นฟ้องต่อรมว.คลัง และกระทรวงการคลัง เป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง หวังให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว พร้อมยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ในส่วนนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีปกครองได้ดำเนินการแก้ต่างให้ รมว.คลังและกระทรวงการคลังแล้ว
กรณีคำขอทุเลาการบังคับคดีนั้น ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องทั้งหมด แต่บางรายขอยื่นทุเลาการบังคับคดีเข้ามาอีก ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ส่วนคำฟ้องที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าสินไหนทดแทนนั้น ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองกลาง
ถัดมากับส่วนที่สอง กรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) ส่งคดีให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปกครอง เพื่อให้พิจารณาฟ้องเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับ อคส. และอ.ต.ก ที่ผิดสัญญาฝากเก็บรักษาข้าวสารและสัญญาตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร รวมมูลค่าหลายแสนล้านบาทนั้น คดีในส่วนนี้ สำนักงานอัยการคดีปกครอง ได้รับสำนวนคดีจาก อคส. 246 คดี และจาก อ.ต.ก 89 คดี ทั้งหมดเป็นเรื่องต่อเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว
หลังจากนั้น สำนักงานคดีปกครองโดยนายเทพสิทธิ์ รักไตรรงค์ อธิบดี ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันพิจารณา ซึ่งคณะทำงานพิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่า ทางคดียังขาดเอกสารและพยานหลักฐาน เพราะเอกสารและพยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ คณะทำงานจึงมีมีมติให้ อคส. และ อ.ต.ก. รวบรวมเอกสารและพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้พนักงานอัยการ โดยนายเทพสิทธิ์ มีคำสั่งแจ้งทั้ง 2 หน่วยงานไปเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมมาภายในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ทั้งนี้ หากเอกสารครบถ้วนแล้ว คณะทำงานอัยการคดีปกครองจะพิจารณามีความเห็นและคำสั่งต่อไป
ส่วนคำถามที่ว่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายให้กับ อคส. และ อ.ต.ก. จะไม่มีปัญหาเรื่องอายุความดำเนินคดีใช่หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ประเด็นนี้ คณะทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้สบายใจได้ว่าไม่เกิดความเสียหายเพราะเรื่องนี้ ในชั้นพนักงานอัยการแน่นอน ก็ต้องติดตามต่อไปว่าทั้งข่าวที่ลือกันไปทั้งบางขณะนี้ และทิศทางของคดีจำนำข้าวจะเป็นไปอย่างไร