- 22 ม.ค. 2562
เรียกได้ว่าสร้างแรงกระเพื่อมได้มากพอควร กับความเคลื่อนไหวของคนแดนไกล นายทักษิณ ชินวิตร อดีตนายกฯ ผู้ซึ่งเปลี่ยนสถานะปัจจุบันเป็น "นักโทษหนีคดี" ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมามีความพยายามส่งสัญญาณทั้งโดยตรง และโดยอ้อม หากล้วนคาบเกี่ยวสัมพันธ์กับการเมือง สังคมและเศรษฐกิจทั้งสิ้น
เรียกได้ว่าสร้างแรงกระเพื่อมได้มากพอควร กับความเคลื่อนไหวของคนแดนไกล นายทักษิณ ชินวิตร อดีตนายกฯ ผู้ซึ่งเปลี่ยนสถานะปัจจุบันเป็น "นักโทษหนีคดี" ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมามีความพยายามส่งสัญญาณทั้งโดยตรง และโดยอ้อม หากล้วนคาบเกี่ยวสัมพันธ์กับการเมือง สังคมและเศรษฐกิจทั้งสิ้น การอวดอ้างวิสัยทัศน์อันน่าเลื่อมใสเมื่อผ่านมุมมองของผู้ภักดิ์ดีมีให้เห็นอยู่เนืองๆ แต่เมื่อพินิจอย่างถี่ถ้วนกลับพบว่ามิได้สลักสำคัญอันใดมากกว่า เจตนาตรงเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล คสช. และยกตนราวประหนึ่งพหูสูตรรอบด้าน
กระทั่งล่าสุด มีการประชาสัมพันธ์ รายการ Good Monday ซึ่งเขานั้นเป็นคนจัดทุกวันจันทร์ โดยใช้ช่องทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Thaksin Shinawatra ให้เหล่าบรรดาแฟนคลับร่วมยินดีปรีดาคลายความคิดถึงแม้เพียงสรรพสำเนียงผ่านโสต อย่างไรก็ตามนับเป็นครั้งที่สองที่นายทักษิณจัดรายการดังกล่าว อย่างท่วงทันต่อกระแสบ้านเมืองในประเทศไทยเมื่อประเด็นหลักของรายการเกี่ยวกับเรื่องมลภาวะทางอากาศหรือฝุ่นพิษที่กำลังเป็นปัญหาบั่นทอนสุขภาพประชาชนทั้งในเขต กทม. และ ปริมณฑล ซึ่งทางรัฐบาลก็มิได้ดูดายเร่งสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข แต่นายทักษิณ กลับทำทีวิเคราะห์อย่างแตกฉานว่า เหตุตั้งตนมาจากอันใด พร้อมเสนอทางออกของปัญหาราวประสบพบด้วยตนเอง ในหัวข้อ "แก้วิกฤติฝุ่น ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง"
ระบุความตอนหนึ่งว่า เมืองไทย มีปัญหาที่ตกใจเรื่องของ ฝุ่น เรื่องของอากาศมลพิษที่มีฝุ่นขนาดเล็ก ถึง 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่อันตรายในการทะลุทะลวงเข้าไปในหลอดเลือดต่างๆ ทำให้สุขภาพเสียหาย การมีมลภาวะที่ติดอันดับ 9 ของโลก เสียหาย 2 ส่วนคือสุขภาพและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ภาพพจน์การท่องเที่ยวก็จะมีผล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องแก้กัน จะแก้ยังไงนั้นคงไม่อยากจะไปรบกวนที่จะทำให้เกิดความไขว้เขว
ที่ปักกิ่ง เมืองเป็นแอ่ง เวลามีมลภาวะ สาเหตุเกิดจากรถติด รถเยอะ และเครื่องยนต์ดีเซลทั้งหลาย มีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินอยู่รอบเมืองปักกิ่ง ตอนหลังก็ยกเลิก ไปใช้พลังงานอื่นที่สะอาด โรงงานอุตสาหกรรมรอบเมืองปักกิ่ง เค้าก็จับย้าย เรื่องของปัญหาด้านรถยนต์มีนโยบายเลยว่า ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า รถที่จะวิ่งในปักกิ่งต้องเป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น
กลับมาที่บ้านเรา ปัญหาที่เกิดจากฝุ่นจำนวนมากมายวันนี้ จนเป็นมลภาวะที่ติดอันดับ 9 ของโลกเนี่ย อันดับ 10 เป็นดูไบเกิดจาก 2 อย่าง คือเรื่องรถ โดยเฉพาะรถดีเซล กับรถที่ไม่ได้มาตรฐาน รถเก่า หมดสภาพมาวิ่ง ควันเยอะ ระยะยาวต้องแก้ปัญหาเรื่องรถติดอย่างจริงจัง
อันที่สอง ก็คือการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์เราเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์ บริษัทรถยนต์ทั้งหลายที่ผลิตอยู่ในประเทศไทย เราต้องพยายามจูงใจให้เค้าเปลี่ยนมาผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ เพื่อลดมลภาวะของเราเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนที่มีรถที่เป็นเครื่องยนต์ธรรมดาวันนี้ต้องเดือดร้อน ไม่ใช่ มันจะมีช่วงระยะเวลาในการเปลี่ยน สมมุติว่าวันนี้รถเราหมดอายุแล้วจะซื้อใหม่ ถ้าไปซื้อรถไฟฟ้าอาจจะซื้อได้ถูกกว่า หรือมีแรงจูงใจทางภาษีอะไรก็แล้วแต่
อีกตัวนึงที่เป็นมลภาวะ คือการเผาชีวมวลทั้งหลาย เราต้องรณรงค์เพื่อให้เกษตรกรทั้งหลายเข้าใจ การที่ฮ่องกงจะเปิดใช้เครื่องขจัดมลพิษขนาดยักษ์ เป็นทาวเวอร์ใหญ่ เทียบเท่า กับการขจัดมลพิษด้วยต้นไม้ 4.8แสนต้น เทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เอามาใช้เพื่อประโยชน์ เพื่อความผาสุกของคนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยี
ดูไบที่ผมอยู่ถึงแม้จะมีฝุ่นเป็นอันดับ 10 ของโลก สิ่งที่ผมเห็นการเปลี่ยนแปลง คือ ขยันปลูกต้นไม้ครับ ต้นไม้ที่นี่มาจากเมืองไทยแทบทั้งนั้น อยากให้กรุงเทพฯรักษาต้นไม้หรือเพิ่มต้นไม้ ถ้าไม่งั้นก็ต้องไปเพิ่มทาวเวอร์ไว้เพื่อขจัดมลพิษเหมือนที่ฮ่องกงทำ เพราะฉะนั้นประเทศเราเป็นประเทศที่ปลูกต้นไม้ได้ แต่วันนี้เราปลูกตึกจนทิ้งต้นไม้หมด ถ้าจะส่งเสริมเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์
แลดูเหมือนว่าจะเป็นการกระทำที่สูญเปล่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจะมีการขยายผลเพิ่มเติมโดยสื่อมวลชนคล้ายว่าจะไม่ให้ราคาต่อข้อมูลความรู้ที่นายทักษิณบ่มเพาะมาหลายขวบปี จากการระเห็จในต่างแดน แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะเห็นได้ว่าเนื้อความที่นายทักษิณพยายามหยิบยกมาอภิปรายนั้น มีการให้น้ำหนักว่าเป็นปัญหาของรถยนต์และการจราจร พร้อมชี้แนะให้หันไปใช้รถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษทางอากาศ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ บนเฟสบุ๊ก "Kittitouch Chaiprasith" ซึ่งเป็นของนักวิชาการอิสระ ได้นำประเด็นดังกล่าวมาวิพากษ์ไว้อย่างน่าสนใจถึงโครงการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยระบุว่า
หยุดแซะทางการเมืองที่แสนจะไร้สาระ และ "เปิดตาดูโลกบ้าง" ว่าโครงการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายใต้รัฐบาลปัจจุบันเขาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว วันนี้เห็นข่าวทักษิณไลฟ์โชว์วิสัยทัศน์แก้ปัญหาฝุ่นควัน ด้วยการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า แล้วก็เห็นบรรดากองเชียร์บรรดาพรรคเพื่อ และ อนาคตใหม่ออกมาชื่มชนกันใหญ่ บอกทำนองว่า "นี่ไงคนมีวิสัยทัศน์" พร้อมกับรุมด่าภาครัฐว่า ส่วนรัฐบาลมัวแต่ปัจจุบันทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันไร้วิสัยทัศน์ บริหารประเทศไม่เป็น
บางทีก็สงสัยว่าคนเหล่านี้คงจะอยู่ใน "โลกแคบๆ" ของกลุ่มตัวเองที่วนเวียนอยู่แต่กับเพจข่าวเสี้ยม ข่าวปลอม เพจการ์ตูนแซะแซว ดูชิคๆ คูลๆ (ที่เดี๋ยวนี้นิยมกันในหมู่วัยรุ่น เพราะมันดูแรง ดูเท่) แต่ไม่เคยติดตามข่าวการเมือง หรือข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนจริงๆ จนไม่รู้ว่าภาครัฐเขาดำเนินการไปถึงไหนต่อไหนกันบ้างแล้ว
ประเด็นคือภาครัฐเขาผลักดันมาตั้งแต่ปี 59-60 จนเข้า ครม.ผ่านมติ ออกมาเป็นนโยบายในพื้นที่เขตอีอีซี จนวางแผนกันเสร็จหมดแล้ว บริษัทค่ายรถยนต์ รวมถึงผู้ประกอบการสถานีบริการเต็มปะจุรถไฟฟ้า (3000 สถานี) ก็มาขอส่งเสริมการลงทุนกัน (BOI)หมดแล้ว
ทั้งนี้ทางคุณกิตติธีช ได้ยกตัวอย่างข่าวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลในช่วง 2 ปีผ่านมาไว้พอสังเขป และยืนยันว่าข่าวพวกนี้มีอยู่ตลอดเวลาและหาอ่านได้ง่ายมาก พร้อมกล่าวต่อว่าต่แค่หลายคนไม่อ่านข่าวการพัฒนาประเทศกันจริงๆ เพราะมัวแต่สนุกกับการติดตามเพจแซะ เพจแซวไร้สาระซึ่งขาด #ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ กันอยู่ตลอดนั่นแหละ (จนเหมือนคนถูกล้างสมอง)
สุดท้ายนี้ก็อยากจะฝากถึงชาวโซเซียลว่าถ้าท่านอยากจะ ติดตามการเมืองจริงๆ ช่วยกรุณาติดตามข่าวสารบ้านเมือง ทั้งในเชิงการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม บ้างเถอะ และท่านจะทราบว่าภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำหลายอย่างที่ไปไกลมากแล้ว ทั้งด้านการแก้กฎหมายที่ติดค้างมาหลายสิบปี การวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การสนับสนุนเศรษฐกิจระดับฐานราก และอื่นๆ อีกมากมายอย่ามัวแต่หลงคารมพวกนักปลุกระดมที่ชอบหากินกับวาทกรรมการเมืองแบบเก่าๆ การเมืองแบบหลงยุค ประเภท แบ่งคนเป็นซ้าย-ขวา เผด็จการ-ประชาธิปไตย ฝ่ายธรรม-ฝ่ายอธรรมะ ซึ่งมันไม่ได้สอดคล้องอะไรกับบริบทสังคมไทยเลย
เพราะนอกจากท่านจะไม่รับรู้ความจริงไปกับชาวโลกแล้ว ท่านยังจะเป็นแค่เครื่องมือให้เขาหลอกใช้ทางการเมืองซ้ำซากอยู่ร่ำไปสุดท้าย ถ้าพวกท่านอยากจะใช้ประชาธิปไตยให้เกิดประโยชน์จริง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเป็น พลเมืองที่มีคุณภาพ ที่มีสติ มีวิจารณญาณ และติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดนะครับ
จากทัศนะของนายทักษิณ ที่พยายามยัดเยียดว่าปัญหาโดยหลักเกิดจากการจราจร และปริมาณรถบนท้องถนนที่หนาแน่น รวมถึงปัญหาจากเครื่องยนต์ดีเซล ได้นำมาซึ่งการสืบค้นต่อไปจนพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ต้นสายปลายเหตุอาจหาใช่ใดอื่น แต่ส่วนหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญอันส่งผลกระทบโดยตรงต่อมลภาวะบนท้องถนนอย่างปฏิเสธเสียมิได้ นั่นคือ "นโยบายรถคันแรก" ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวผู้ซึ่งเป็นเสมือนนอมินีของนายทักษิณ
โครงการประชานิยม นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกนั้น สร้างฐานความนิยมและฮือฮาจนถึงขั้นแตกตื่น เปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของคนระดับรากหญ้าและชั้นชั้นกลางบางกลุ่มชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ที่สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์คันแรกได้ในราคาที่ถูกลงกว่าปกติ เนื่องจากได้รับการคืนภาษีตั้งแต่ 4 หมื่น- 1 แสนบาทต่อคัน หากทว่าในระยะยาวกลับส่งผลสะท้อนกลับยังเศรษฐกิจภาคครัวเรือนใ เมื่อนโยบายดังกล่าวทำให้หลายคนต้องมีหนี้สิ้นที่เกินกว่าจะแบกรับ ไม่เพียงเท่านี้เพราะปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในระยะเวลาอันสั้น ย่อมกระทบต่อปัญหาการจราจร เหนืออื่นใดกับมลภาวะทางอากาศจากควันท่อไอเสียอย่างเลี่ยงมิได้
ข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ตั้งแต่วันเริ่มต้นโครงการคือวันที่ 16 ก.ย. 2554 และสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 นั้น มีผู้เข้าร่วมโครงการนี้กว่า 1,100,000 คัน จากผู้ลงทะเบียนจองสิทธิ์ทั้งสิ้นกว่า 1,255,000 คัน ถึงแม้ในภายหลังจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไข และจำต้องปล่อยให้รถถูกยึดแต่ก็สะท้อนเป็นอย่างดีว่า เป็นเพียงนโยบายที่หวังผลทางการเมืองอย่างฉายฉวยมิได้คำนึงถึงผลในบั้นปลายที่จะกระทบเป็นลูกโซ่
ท้ายสุดแล้ว "ใครกัน" เป็นคนผู้ผูกปมทิ้งไว้ให้คนอื่นต้องมาตามแก้และชำระสะสาง ... "ใครกัน" ที่เคยเป็นรัฐบาลโหมกระพือนโยบายชวนฝันว่าจะแก้รถติดในหกเดือนแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นแม้เพียงเค้าลางที่จะปรากฏผลเป็นรูปธรรม