- 21 ก.พ. 2562
ยังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการหยิบยกกรณีการปราศรัยของบางพรรคการเมืองที่พุ่งเป้าไปยังการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ว่า ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล คสช.
ยังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการหยิบยกกรณีการปราศรัยของบางพรรคการเมืองที่พุ่งเป้าไปยังการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ว่า ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล คสช. ที่มีภาพลักษณ์เป็นรัฐบาลทหารนั้นมีการอัดฉีดงบประมาณด้วยให้ความสำคัญกับอาวุธยุทโธปกรณ์ในการสงครามมากเกินความจำเป็น ในยามที่บ้านเมืองห่างเหินจากภัยสงครามเต็มรูปแบบมาเป็นเวลานาน ถึงแม้จะปฏิเสธมิได้ว่ายังคงมีความเสี่ยงแฝงเร้นรอวันปะทุอยู่ในบางพื้นที่
อย่างไรก็ดี ได้นำมาซึ่งความพยายามในการให้เหตุผลหลายประการเพื่อลดประมาณและขนาดของกองทัพ อันประหนึ่งโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนคล้อยตามด้วยการวาดฝันว่าจะนำงบดังกล่าวไปพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้นว่า ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้แผ่กระจายครอบคลุมในทุกพื้นที่ โดยที่มิได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ว่ามีอยู่กี่มากน้อย ด้วยพฤติการณ์ลักษณะนี้เองที่ชัดเจนเพียงพอว่ามุ่งหมายแทรกแซงกิจการกองทัพหากพรรคหนึ่งพรรคใด ได้เป็นรัฐบาลในอนาคต ขณะเดียวกันในอีกแง่มุมหนึ่งคือการสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนคล้อยตามทำนองว่า การบริหารงบประมาณของกระทรวงกลาโหมขาดความโปร่งใส
แม้ว่าล่าสุดทางกระทรวงกลาโหมจะได้ออกมาให้ความกระจ่างต่อทุกคำถาม ความโดยกระชับคือ ขนาดและโครงสร้างของกองทัพนั้นถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับบริบทด้านการทหาร เช่นว่าเพื่อป้องกันภัยคุกคามต่าง ซึ่งสมัยก่อนมีคอมมิวนิสต์ รัฐบาลในสมัยนั้นจึงกำหนดให้มีกำลังทหารมากขึ้นโดยเพิ่มอัตราการเกณฑ์ทหารมากขึ้น จึงต้องมีการจัดสรรงบประมาณ สถานะของกองทัพจึงไม่ต่างกับกระทรวงอื่น ที่มีขั้นตอนดำเนินการตามกระบวนการวิธีพิจารณางบประมาณเช่นเดียวกับทุกกระทรวงที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลและรัฐสภาที่มีคณะกรรมาธิการเป็นผู้กลั่นกรองเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
หากยังหนีไม่พ้นการถูกจุดประกายให้บานปลายมากขึ้น เมื่อมีนักการเมืองฝ่ายปรปักษ์ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงลบ คงมีเพียงหยิบมือที่หลงเหลือวิจารณญาณไม่ด่วนตัดสินอย่างฉาบฉวย กับความเคลื่อนไหวของนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณกรรมนโยบายพรรคฯ ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟสบุ๊กเพจ Korn Chatikavanij ถึงข้อเท็จจริงของกรณีดังกล่าวระบุว่า ไม่มีเจตนาจะปกป้องหรือกล่าวหาใคร แต่จะเห็นได้ว่า
1. งบทหารเพิ่มขึ้น(เกือบ) ทุกปีจริง แต่ตามจริงงบทุกกระทรวงก็เพิ่มขึ้นตาม GDP ที่สูงขึ้นเหมือนกัน
2. ปีเดียวที่กล้าปรับลดงบทหารลงไปคือ ในสมัยคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร เป็นรมว.กลาโหม)
3. หากวัดจากสัดส่วนต่อ GDP เราจะเห็นว่างบทหาร ไม่ได้ผิดปกติ และลดลงต่อเนื่องในยุค คสช.
4. แต่ละประเทศจะมีการจัดสรรงบทหารตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ของตน ปกติจะใช้วิธีเปรียบเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ (GDP) ซึ่งจะเห็นว่ามีทั้งตํ่ากว่าและสูงกว่าเรา
และกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้งบรัฐไม่ว่าจะงบประมาณรายจ่ายประเภทใดก็ตาม (รวมถึงงบทหาร) ต้องโปร่งใส แต่ทุกฝ่ายไม่ควรเพิ่มเงื่อนไขความแตกแยก โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อข้อเท็จจริงทั้งนี้ ประชาชนควรดูพฤติกรรมของทุกรัฐบาลในอดีตว่า เคยมีท่าทีอย่างไร พรรคที่ประกาศว่า งบทหารต้องลดลง เคยมีการปรับงบทหารลงในยุคที่มีอำนาจ หรือไม่ พร้อมทิ้งท้ายว่า "ในสมัยเราเป็นรัฐบาล กลาโหมร้องของบซื้อเรือดำน้ำ คุณอภิสิทธิ์ถามว่า "ทหารเรือเราใช้เรือดำน้ำเป็นหรือยัง?" และจึงมีนโยบายให้ไปฝึกมาก่อนที่คิดจะซื้อ สุดท้ายไม่ได้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำในยุคเรา การเมืองที่ดีต้องมีหลักการ และมีการบริหารไปสู่จุดหมายแบบมีศิลปะ"
โดยระบุว่าจะ “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” ให้เหลือแต่ “ทหารสมัครใจ 100%”
เริ่มจาก“ลดยอดพลทหาร 30-40%” (ที่ไม่กระทบความมั่นคง)
- กำจัดทหารรับใช้
- ลดไขมันองค์กร
และ “เพิ่มยอดสมัคร” โดยการ”เพิ่มคุณภาพชีวิตพลทหาร”
- เพิ่มรายได้ 5,000 บาท/เดือน (ค่าอาหารไม่ถูกหัก)
- ขยายสวัสดิการ (รักษาพยาบาล, เบี้ยเลี้ยงบุตรหรือผู้สูงอายุ)
- กำจัดความรุนแรง (อนุญาตใช้มือถือทุกคืนช่วงฝึก เปิดให้มีผู้ตรวจการจากภาคประชาชน)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวต่อเนื่องมาจากหนึ่งในสมาชิก New Dem นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม หลานชายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปลดประจำการหลังสมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วยการยื่นวุฒิปริญญาตรี ลดระยะเวลาการประจำการจาก 2 ปี (กรณีจับใบดำใบแดง) เหลือเพียง 6 เดือน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงข้อเสนอให้ปรับปรุงระบบเกณฑ์ทหารมาเป็นระบบสมัครใจ และเสนอแนวทางถึงความเป็นไปได้พอสังเขประบุว่ากองทัพจะต้องมีกำลังทหารเพียงพอ สำหรับปฏิบัติหน้าที่หลักในการป้องกันประเทศ ซึ่งต้องมาจากทั้งการประเมิน และลดยอดพลทหารที่ไม่จำเป็นต่อความมั่นคง อาทิ พลทหารรับใช้ พร้อมกับเพิ่มคุณภาพชีวิตพลทหาร ด้วยการรับรองค่าตอบแทนต่อเดือนที่เหมาะสมต่อค่าครองชีพ และต้องกำจัดความรุนแรงในค่ายทหารให้หายไป อีกประการคือต้องไม่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง หรือถูกมองว่าเป็นการต่อสู้กับกองทัพ เพราะการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ตามจะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุด ถ้าเราได้รับความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายการเมืองจึงจำเป็นต้องทำให้กองทัพให้การยอมรับข้อเสนอนี้ เพื่อจะปรับตัวไปพร้อมกัน
พร้อมทิ้งท้ายว่าแนวทางดังกล่าวจะตอบโจทย์ทุกฝ่าย และจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งผู้ที่ต้องการเป็นทหาร และผู้ที่ต้องการทำอาชีพอื่น อีกทั้งจะคืนศักดิ์ศรีให้กองทัพพ้นจากข้อครหา "สถาบันอำนาจนิยม" ไปสู่ "กองทัพยุคใหม่" ที่แม้เล็กลงด้วยขนาด แต่แข็งแกร่งด้วยประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยบุคลากรที่สมัครใจทำงาน
จะเห็นได้ว่าแนวคิดและข้อเสนอดังกล่าวอาจสะท้อนถึงความไม่มั่นใจหรือไม่ศรัทธาต่อสถาบันที่ทำหน้าที่ปกปักษ์อธิปไตยของชาติ ชัดเจนมากขึ้นเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องงบประมาณฯ มาขยายความต่อว่าการนำเสนอนโยบายต่างๆรวมถึงข้อบังคับเรื่องของกองทัพก็สามารถทำได้ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายเกี่ยวกับกองทัพ เช่น เรื่องการมีพลทหารสมัครใจ การตัดงบประมาณหรือปรับแนวทางการทำงานบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องปกติ เราพยายามไม่นำเสนออะไรที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยไม่จำเป็น สอดรับกับแนวคิดของทาง New Dem และ หลานชาย ไอติม อย่างชัดเจน
อีกทั้งยังประหวัดถึง "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ด้วยว่า ผบ.ทบ.ท่านเป็นข้าราชการผมอยากให้ท่านชัดเจนว่าวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่หากมีอะไรที่ท่านมองว่าเกี่ยวข้องกับองค์กรของท่าน และอยากจะชี้แจงก็ให้ทำอย่างนั้นมากกว่า ทุกฝ่ายจะได้ทำหน้าที่ของตนเองไป เท่าที่ผมเห็นการให้สัมภาษณ์ของท่านอย่างไม่ละเอียด แต่ก็เห็นท่านเดินพูดคำเดียว ไม่ได้เห็นอารมณ์อะไร ไม่ทราบว่าคำถามกับคำตอบมันสัมพันธ์กันอย่างไร
ทั้งยังอวดอ้างสรรพคุณครั้งสมัยตนเป็นนายกฯ ด้วยว่าการตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมเป็นอำนาจที่ฝ่ายบริหารสามารถทำได้ ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาการตัดงบประมาณทหารเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ สมัยที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งการตัดงบประมาณดังกล่าวเป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ทำให้เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า การตัดงบกระทรวงกลาโหมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพียงแต่ไม่ควรหยิบยกมาเป็นประเด็นการเมือง
ส่วนการเสนอนโยบายปรับลดงบประมาณของแต่ละกระทรวงของแต่ละพรรคการเมืองในการหาเสียง นั้น ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่จะต้องอธิบายได้ว่า วัตถุประสงค์การปรับลดประมาณลงเกิดจากอะไร และ ผลลัพธ์ของการปรับลดคืออะไร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโนบายที่จะทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพ และ เกิดความกระชับมากขึ้น โดยเฉพาะกำลังพลบางหน่วยที่ไม่ถูกใช้ในงานความมั่นคงก็สามารถปรับลดได้ตามความเหมาะสม และ คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ สังคมย่อมอดไม่ได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบในแง่มุมแนวคิด ระหว่าง นายกรณ์ และนายอภิสิทธิ์ เพราะดูเหมือนการที่นายกรณ์ ออกมาแสดงจุดยืนถึงความเป็นกลางต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้และวิพากษ์ไปตามข้อเท็จจริง จะเป็นอื่นใดเสียมิได้นอกจากเป็นการเมืองในอุดมคติของใครหลายคนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ หาใช่สาดโคลนจนเปื้อนเปรอะเฉกหลายพรรคฯ อีกทั้งยังชวนให้ขบคิดต่อไปว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อนายกรณ์ ออกมารับลูกต่อประเด็นดังกล่าวอย่างถูกที่ถูกเวลา จะสร้างฐานความนิยมจนเบียดแซงนายอภิสิทธิ์ได้หรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง