- 19 พ.ค. 2562
นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1ใน 5 แกนนำพันธมิตรที่ได้รับพระราชทานอภัยเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้นายสุริยะใสต้องโทษในคดีบุกทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 หลังถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นเวลา 87 วัน
นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1ใน 5 แกนนำพันธมิตรที่ได้รับพระราชทานอภัยเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้นายสุริยะใสต้องโทษในคดีบุกทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 หลังถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เป็นเวลา 87 วัน โพสต์ข้อความในหัวข้อ "คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือ?... ..คำตอบจากเรือนจำ" ระบุว่า
คำๆ นี้คงคาใจใครหลายๆคน กระทั่งตัวผมเองก็อดสงสัยไม่ได้ ครั้นเมื่อมีโอกาส แม้นเป็นโอกาส ที่ไม่ได้ปรารถนาไว้ก็ตาม ทันทีๆ ที่ย่างกายเข้าเรือนจำจึงไม่รีรอที่จะพิสูจน์โจทย์ข้อนี้ด้วยตัวเองและโดยข้อเท็จจริงในเรือนจำผ่านการพูดคุยจากผู้ต้องขังที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
วันแรกที่เข้าไปสอดส่ายสายตาดูคร่าวๆจากผู้ต้องขังกว่า 400 ชีวิตในแดนที่ผมอยู่แน่นอนภาพที่เห็นคนจนคนระดับล่างในสังคมเป็นคนส่วนใหญ่กว่า 80% ส่วนผู้มีอันจะกินน่าจะราวๆไม่เกิน 20% อยู่ไปซักพักผมได้สัมผัสพูดคุยกับผู้ต้องขัง ยิ่งตอกย้ำภาพที่ผมเห็นมากขึ้น ผมลงมือตามต่อว่าสาเหตุแห่งความยากจนผลักดันให้พวกเขาต้องมาติดคุกติดตะรางเป็นได้อย่างไร เพราะอีกด้านหนึ่งนั้นก็มีคนจนจำนวนมากที่ชีวิตไม่เคยแม้แต่จะเดินเฉียดคุกเฉียดตะราง
ข้อค้นพบที่เป็นสาเหตุทำให้คนจนมีโอกาสติดคุกติดตะรางได้มากที่สุดเพราะ (มิพักต้องพูดถึงความยากจนที่อาจทำให้คนจนมีวิถีชีวิตสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว) บางคนไม่รู้กฎหมายเลยทำให้สูญเสียโอกาสที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง เมื่อไม่รู้กฎหมายก็ต้องพึ่งทนายความ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายบางคนจึงต้องเลือกใช้ทนายอาสาซึ่งพบว่าบางคนทำคดีความแบบขอไปทีเอะอะก็แนะนำให้สารภาพผิดจะได้ติดคุกน้อยลงและตัวเองก็จะได้ปิดคดีเร็วๆเพื่อรับค่า เหนื่อยอีกทอดหนึ่ง
หนักที่สุดก็คงจะเป็นคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวเลยกองทุนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพก็ไม่ได้อนุมัติกันง่ายๆ และต้องใช้เวลานานกว่าจะอนุมัติ ผมพบผู้ต้องขังที่เป็นคนจนหลายคนถูกดำเนินคดีลักทรัพย์มูลค่าไม่กี่พันบาท แต่ต้องติดคุกหลายเดือน เพราะไม่มีหนทางสู้คดี ไม่มีเงินประกันตัว ญาติก็แทบไม่มาเยี่ยมเพราะไม่มีค่าเดินทาง หลายคนจึงติดคุกเพราะเหตุผลของความยากจนทั้งๆ ที่รูปคดีไม่มีโอกาสติดคุกด้วยซ้ำไป
กลุ่มคนจนส่วนนี้จึงเป็นคนส่วนใหญ่ในเรือนจำที่ทำให้นักโทษล้นคุก ซึ่งในขณะนี้เรือนจำในประเทศมี 143 แห่ง ศักยภาพในการรับนักโทษอยู่ที่เราวๆ 2.5 แสนคน แต่ตอนนี้มีนักโทษทั้งหมดกว่า 400,000 คน
ความพิกลพิการของระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมโดยเฉพาะต้นทางคือตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวน ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในกระบวนการยุติธรรม เมื่อพบว่าผู้ต้องขังหลายคนหลายคดีถูกตำรวจตั้งข้อกล่าวหาไว้สูงเกินจริง เมื่อข้อกล่าวหาสูงเกินจริงอัตราโทษก็สูงไปด้วยเมื่อโทษสูง ตำรวจก็ต้องคัดค้านการประกันตัว และแน่นอนผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่จึงทำเรื่องประกันตัวได้ยาก หรือไม่ได้รับการประกันตัวเลย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องนอนเรือนจำหลายเดือนเพราะถูกฝากขังไว้โดยที่ ศาลยังไม่รับ ฟ้องด้วยซ้ำ ที่ขมขื่นไปมากกว่านั้นพบว่าในภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง ทำให้ต้องติดคุกฟรีก็มี และยังมีโอกาสเป็นคนจนต่อเนื่องเพราะติดคุกมาแล้วไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ง่าย
ความพิกลพิการของระบบยุติธรรมนี้ยังกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่ว่าคนจนหรือรวยก็มีโอกาสติดคุกได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะคนรวยอาจจะจนโอกาส จนสิทธิในการเข้าถึงกระบวนยุติธรรม จนเป็นเหตุให้ตกเป็นแพะ หรือถูกยัดข้อหาได้อย่างเสมอภาค
เมื่อไม่นานมานี้ได้ยินท่านนายกฯ บิ๊กตู่ประกาศไว้ว่า “คุกมีไว้ขังอาชญากร ไม่ได้ไว้ขังคนจน “ ท่านเคยริเริ่มตั้งกรรมกาารแก้ไขร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติ กับร่าง พรบ.การสอบสวนคดีอาญา กรรมการชุดคุณมีชัย ฤชุพันธ์ ส่งให้สำนักงานเลขา ครม.เรื่องก็เงียบหายไปหรือแม้แต่ร่างแก้ไข ป.วิอาญา ชุดคุณอัชพร จารุจินดา ประธานกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผ่าน ครม.แล้ว ทำไมไม่ส่ง สนช.
จะไม่มีความหมายอะไรเลยครับ ถ้าไม่กล้าปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะความเป็นอิสระความเป็นมืออาชีพของงานสอบสวน และปฎิรูประบบยุติธรรมอย่างจริงจัง ที่สำคัญบุคคลากรในระบบยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ ศาลและเจ้าหน้าที่ราชฑัณท์ ต้องมีความรู้ด้านอาชญาวิทยา(criminology) ด้วยครับ
ไม่เช่นนั้นคนจนก็ยังมีโอกาสตกเป็นอาชญากร และความยากจนเป็นอาชญากรรมกันได้ง่ายๆ ครับ...