- 25 มิ.ย. 2562
ถือเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่ต้องเผชิญคลื่นมรสุมไม่หยุด นับเนื่องจากความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้ง ได้จำนวนส.ส.มาเพียง 53 คน ส่งผลทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจลาออกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบ แต่ความวุ่นวายภายในกลับไม่จบ ยังคงมีแรงกระเพื่อมภายในต่อเนื่อง
ถือเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่ต้องเผชิญคลื่นมรสุมไม่หยุด นับเนื่องจากความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้ง ได้จำนวนส.ส.มาเพียง 53 คน ส่งผลทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจลาออกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบ แต่ความวุ่นวายภายในกลับไม่จบ ยังคงมีแรงกระเพื่อมภายในต่อเนื่อง
ล่าสุด นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกคน
โดยข้อความแสดงเจตนาทางการเมืองของ นายกอร์ปศักดิ์ ระบุว่า "ผมเป็นสมาชิกพรรคปชป.เมื่อปีพ.ศ.2539 เช้านี้ส่งหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้ว.....ผมขอขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้การสนับสนุนการทำงานทางการเมืองของผมเป็นอย่างดีมาโดยตลอด"
ต่อมานายกอร์ปศักดิ์ เพิ่มเติมเหตุผลของการตัดสินใจดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากมีผู้แสดงความเห็นต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การตัดสินใจไม่ใช่การทิ้งพรรคในยามแย่ แต่เพราะเป็นแค่สมาชิกพรรค และไม่ได้มีบทบาทในพรรคมาตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งไม่ได้เป็น ส.ส.พรรคมากว่าสิบปีแล้ว
จากถ้อยคำดังกล่าว ถ้าจับใจความดี ๆ จะเห็นบริบทในสิ่งที่อยู่ในคำพูดของนายกอร์ปศักดิ์ คือ 1.การตัดสินใจไม่ใช่เรื่องการทิ้งพรรค 2.ตนเองเป็นแค่สมาชิกพรรค ไม่ได้มีบทบาทมาตั้งแต่ปี 2554 และ 3.ไม่ได้เป็นส.ส.พรรคมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก็ไม่มีชื่อของ นายกอร์ปศักดิ์ ทั้งการเป็นผู้สมัครส.ส.แบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์
หลังจากก่อนหน้าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 นายกอร์ปศักดิ์ เพิ่งโพสต์ถึงเหตุการณ์การประชุมอาเซียน ซัมมิท ปี 2552 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แต่ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุม มีใจความตอนหนึ่งว่า
"บ้านเราจะประชุมอาเซียน ไทยเป็นเจ้าภาพ นึกถึงสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดที่พัทยา ผมเป็นรองนายกทำหน้าที่แทนนายกต้อนรับผู้นำแต่ละประเทศที่สนามบินอู่ตะเภา ขามายิ้มแย้มแจ่มใส ผ่านไปคืนเดียว รุ่งขึ้นต้องส่งกลับอย่างโกลาหล บอกไม่ถูกว่าอารมณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร"
ทั้งนี้แม้ว่า นายกอร์ปศักดิ์ จะไม่ได้อธิบายเหตุผลตรง ๆ เหมือนกับสมาชิกคนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ เฉกเช่นในรายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการลาออกจากส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยเหตุผลเรื่องจุดยืนทางการเมือง หรือ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่แสดงเหตุผล 2-3 เรื่องสำคัญ คือ ผลความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ และ การวางบทบาททางการเมืองของพรรค ตลอดจนเรื่องความไม่ชัดเจนเรื่องการปฏิรูปพรรค
แต่สัญญาณหนึ่งที่มีถูกโฟกัส ก็คือคำพูดของนายกษิต อธิบายเป้าหมายต่อไปว่า ได้มีการเชิญสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ทยอยลาออกก่อนหน้ามาหารือกัน เพื่อร่วมสร้างกลุ่มพลังที่ 3 ทางการเมืองที่มีธรรมาภิบาลกำกับ
ส่วนการตั้งพรรคการเมืองยอมรับเป็นได้ แต่มองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเริ่มต้นวันนี้ คือ การหาแนวร่วมกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน โดยขณะนี้ยังไม่มีการชักชวนนายอภิสิทธิ์ให้มาร่วม แต่ยอมรับว่าเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย อดีตกลุ่มนิวเดม
ถึงตรงนี้จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่สำคัญสุดต้องยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์วันนี้ไม่เหมือนเดิม ยิ่งถ้าย้อนกลับไปสำรวจร่องรอยปมขัดแย้งเดิม ก็ยิ่งชัดในสิ่งที่ “สำนักข่าวทีนิวส์” นำเสนอมาโดยตลอด ระหว่างแนวคิดคนรุ่นใหม่กับรากฐานเดิม ๆ ซึ่งไม่ว่าการเมืองจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ผู้อาวุโสภายในพรรคกลับยังดำรงไว้ซึ่งอำนาจการตัดสินใจ
กรณีที่ถือเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ก็คือ การปะทะกันระหว่าง นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กับ นายหัวชวน หลีกภัย ในฐานะฝ่ายหนึ่งเป็นผู้สมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับอีกฝ่ายเป็นประธานสภาที่ปรึกษา พรรคประชาธิปัตย์
จนนำมาซึ่งการโพสต์ข้อความสื่อให้เห็นว่า ความพ่ายแพ้ในการแข่งขันชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจัยสำคัญมาจากถูกขวางโดยผู้ใหญ่ภายในพรรค ดังถ้อยคำบางช่วงบางตอนว่า “ ผมบอกเพื่อนๆว่าเราควรดีใจและภูมิใจอย่างยิ่งที่สมาชิกพรรคตัวเล็กๆอย่างพวกเราและเพื่อนๆที่ร่วมทำงานกันมาเพียงแค่หกวันกลับได้รับเสียงสนับสนุนจากเพื่อน ส.ส. ถึง 20 เสียง น้อยกว่าทีมผู้ชนะเพียง 5 เสียงเท่านั้น
พวกเขาต่างหากที่ควรจะต้องเสียใจและหมดกำลังใจ เพราะแสดงให้เห็นว่าพลังแห่งอำนาจบารมีที่สั่งสมร่วมกันมาหลายสิบปีนั้น บัดนี้เริ่มเสื่อมถอยลงแล้ว สามารถสนับสนุนเอาชนะพลังเล็กๆของพวกเราที่ทำงานกันมาเพียงแค่หกวัน ได้เพียงแค่ 5 คะแนนในส่วนของ ส.ส. 52 คน และเพียงแค่ 50 คะแนน ในส่วนขององค์ประชุมอื่นประมาณ 250 คน
บารมีอันมากล้นชนะพวกเราได้เพียงเท่านั้นเองจริงๆ การที่อิทธิพลบารมีที่แอบแฝงเป็นเงาอยู่สามารถชนะพวกเราได้เพียงเท่านี้ ทั้งๆที่พวกเราทำงานกันเพียงแค่หกวัน มันคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงและบ่งชี้ถึงความเสื่อมถอยของพวกเขาใช่หรือไม่???"
ก่อนจะบานปลายไปมากว่านั้น นายชวน หลีกภัย เลือกอธิบายกับสื่อมวลชน ว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหากับนายพีระพันธุ์ และการพูดถึงปัญหาภายนอกที่เข้ามาแทรกแซง ก็เป็นเพียงการพูดไปตามกระแสข่าวเรื่องความพยายามของบางฝ่าย ในการใช้เงินและสิ่งต่าง ๆ มาสร้างความวุ่นวายในช่วงการเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งสมัยก่อนหน้าก็เคยเกิดขึ้น และขอย้ำว่าไม่ได้มีการพาดพิงถึงคุณพีระพันธุ์แต่อย่างใดเลย
จากนั้นไม่นานก็เกิดปมใหม่เรื่องการคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากมีการคัดค้าน 2 รายชื่อบุคคล อย่างคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ซึ่งใช้โควต้าส.ส.ภาคอีสาน เป็นตัวชี้วัด
ทั้ง ๆ ที่ประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.เขตภาคอีสาน จำนวน 2 ราย จากจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย “นายวุฒิพงษ์ นามบุตร” เขต 3 อุบลราชธานี และ “นางสาวบุณย์ธิดา สมชัย เขต 8 อุบลราชธานี ซึ่งก็เป็นลูกสาวของนายอิสสระ ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภาคอีสานอีก จำนวน 4 คน ก็เป็นกลุ่มส.ส.ได้รับอานิสงส์จากผลคะแนนรวมทั้งประเทศ
กับกรณีของ นายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งถูกนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ท้วงติงว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาลาออกจากพรรค ไปทำงานการเมืองท้องถิ่น แล้วก็ใช้สิทธิ์ลาออกจากการเมืองท้องถิ่นกลับมาเป็นรัฐมนตรีได้ ถือว่าไม่ยุติธรรมกับคนในพรรค
ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้น มีชื่อบุคคลมากความสามารถ อย่าง นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นทางเลือกที่ควรพิจารณา จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ และการสร้างผลงานใหม่ ๆ
ส่วนประเด็นปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ จะขยายรอยร้าวต่อไปหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องต้องติดตาม โดยเฉพาะกับท่าทีของนายกรณ์ ในการให้สัมภาษณ์พูดถึงอนาคตทางการเมืองของตนเองกับพรรคประชาธิปัตย์
อาทิเช่น เมื่อถูกถามถึงอนาคตกับพรรคประชาธิปัตย์ แล้วเจ้าตัวตอบว่า ตอบให้โลกสวยก็ว่าจะอยู่กับ ปชป.ตลอดไป แต่ทุกอย่างก็ต้องดูว่า อุดมการณ์ แนวทางการเมืองของพรรคในอนาคตจะเป็นอย่างไร คือถ้าไม่ตรงกัน หรือ พรรคไม่ต้องการเรา ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เพราะเราคิดว่าเรายังสามารถทำงานได้ เรายังสามารถทำงานให้ประเทศชาติได้มากกว่านี้ ถ้าเราอยู่ที่อื่น อันนี้ก็ต้องพิจารณา เพราะตอนนี้อายุ 55 ปี คงมีเวลาทำงานอีกอย่างน้อย 10 ปี
แต่ไฮไลต์สุดเลยก็คือ คำตอบในคำถามเรื่องการแข่งขันชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ผ่านมา โดยนายกรณ์ระบุว่า การตัดสินใจลงสมัคร ก็เพราะอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนกลับมาเป็นที่พึ่งหวังของประชาชน
แต่จากผลที่ออกมา แสดงว่าอดีตหัวหน้าพรรคทั้ง 3 คน คือ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สนับสนุนนายจุรินทร์ ซึ่งย่อมสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ของพรรคไม่ได้มองโจทย์ของพรรคตรงกับที่ตนเองมองอยู่ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงพรรค ต้องมีการพัฒนาให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ใครเป็นรมต.ยกมือขึ้น??!! รมต.ทุกคนเริ่มกรอกแบบฟอร์มรับรองตนเอง ฝ่าเสียงยี้ !!!
- แฉเบื้องหลังไพร่หมื่นล้าน?! ท่ามกลางเกมเคลื่อนไหวนอกสภา ของอนค.มีใครอยู่เบื้องหลัง ?!
- แฉหลักฐาน กลุ่มคลั่งประชาธิปไตย ตัดต่อโพสต์ ใส่ร้ายเพจดัง Point.of.View