- 07 ส.ค. 2562
“สนธิรัตน์” กระตุ้นวงการพลังงาน เร่งปรับตัวรับ “ดิสรัปชั่น” หนุนประเทศได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมเล็งปรับพีดีพี เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน
เมื่อวันที่ (5 ส.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดวิสัยทัศน์ด้านพลังงาน ว่า ในปัจจุบันปฎิเสธไม่ได้ว่า พลังงานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน และดิสรัปชั่นจะเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการแพทย์ และภาคการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวเอง โดยจากอดีตเคยมีพลังงานหลัก คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ แต่สิ่งเหล่านี้ กำลังจะเปลี่ยนไป จากกระแสดิสรัปชั่นจะทำให้เกิดทิศทางพลังงานที่สำคัญในอนาคต
ดังนั้น หัวใจสำคัญ คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งในอดีตเคยกังวลว่าฟอสซิลจะหมดไป แต่สิ่งนี้จะเปลี่ยนไปมีพลังงานทดแทน ที่จะเข้ามาทดแทนฟอสซิลแบบเดิม เห็นได้จากอดีตพลังงานทดแทน จะมีเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เป็นทางเลือก แต่โซลาร์เซลล์ในอดีต ก็ถูกดิสรัป ด้วยโซลาร์รูฟท็อป ทำให้ในอนาคตประชาชนจะสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ คือ ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบมากขึ้นหนุนพลังงานเพื่อทุกคน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน กำหนดนโยบายโดยอยากเห็น พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน (Energy for all) ช่วยดูแลผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยนโยบายหลักที่จะขับเคลื่อนในระยะต่อไปหนีไม่พ้นทิศทางพลังงานของโลก ภายใต้กรอบ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่เกี่ยวของกับพลังงานใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.Affordable 2.Clean Energy ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดพลังงานชุมชน เกิดเรื่อง Grid modernization เรื่องของแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า และในอนาคตจะปรับสู่สมาร์ทมิเตอร์ โดยเทคโนโยลีเหล่านี้จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงสำคัญในอนาคต
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า จึงได้สั่งการให้ปรับแก้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) โดยปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงพลังงาน ผ่านการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเชื้อเพลิงจะมาจากโซลาร์เซลล์ ไบโอแก๊ส และไบโอแมส เป็นต้น
ซึ่งเรื่องนี้จะเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และเปิดโอกาสให้ภาคชุมชนเข้ามาร่วมลงทุน เพราะไฟฟ้าจะต้องไม่ใช่เรื่องของรายใหญ่เพียงคนเดียว อีกทั้งจะเปิดให้ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบได้ด้วย ดันระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึง หัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนให้นโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ประสบความสำเร็จ คือ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage) ที่จะเข้ามาช่วยกักเก็บพลังงานส่วนเกิน หรือไฟฟ้าเหลือทิ้ง และ Energy storage จะเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ฉะนั้น การเดินคู่ขนานระหว่าง Energy storage กับ รถ EV จะเป็นทิศทางของประเทศในอนาคตที่ต้องเร่งปรับตัวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ไม่เช่นนั้น จะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปสู่คู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย
ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จะจับมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน โดยจะเปิดกว้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และทุกประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุด วานนี้ (5ส.ค.) คณะทูตจากประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้มาหารือรัฐบาล ก็จะต้องไปพิจารณาว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือกันอย่างไร และทิศทางของแบตเตอรี่จะไปทางไหน ส่วนงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการวิจัยฯนั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เทคโนฯ หนุนพลังงานถูกลง
นอกจากนี้ รถ EV ยังตอบโจทย์ Clean Energy เพราะจะช่วยลดการใช้ฟอสซิล ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งถ้ายังใช้ยานยนต์แบบเดิม ก็จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ และอีกแนวทางจะเร่งส่งเสริมพืชพลังงาน โดยเฉพาะไบโอดีเซล เพื่อแก้ปัญหาสต็อกปาล์มน้ำมันล้นตลาดด้วย
“โลกมีเรื่องของดิสรัปฯเกิดขึ้นแล้ว ทำไม ในแผนพีดีพี จะต้องกำหนดค่าไฟฟ้าตลอด 20 ปี อยู่ที่ราว 3.6 บาทต่อหน่วย แต่ทิศทางควรจะต้องถูกลง เพราะมีพลังงานทดแทนเข้ามาผสมผสานกับฟอสซิล และมี Energy storage ที่มาช่วยเก็บพลังงานส่วนเกิน ลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้จะเป็นทิศทางของแผนพีดีพี ที่จะปรับปรุงใหม่ให้มีความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านราคาพลังงานที่จะถูกลง และการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน ก็จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และเรื่องนี้จะไม่ไกลเกินฝันหากมีการบริหารจัดการที่ดี” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ดังนั้น การบริหารจัดการดิสรัปชั่น เป็นเรื่องสำคัญ คือ การเลือกการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมและสร้างสมดุลให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลง “กุลิศ”ดันนโยบาย5ด้าน
โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลังงาน ยุค...ดิสรัปชั่น” ว่า นโยบายของกระทรวงพลังงานเพื่อรองรับยุคดิสรัปชั่น ประกอบด้วยหลักการ 4D และ 1 E คือ 1.DIGITALIZATION จะยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็นสมาร์ทกริด 2.DECARBONIZATION ส่งเสริมการผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก แสงอาทิตย์ ชีวภาพ ชีวมวล เพื่อยกระดับราคาสินค้าเกษตร ผ่านการผลิตและใช้ B7 B10 และ B20
3.ELECTRIFICATION ขยายระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
4.DECENTRALIZATION สนับสนุนการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าผ่าน ระบบสายส่ง และนอกระบบสายส่ง เพื่อให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันในรูปแบบ P2P สนับสนุนการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนสำรวจและจัดทำแผนที่เครือข่าย พลังงานทั่วประเทศให้มีความชัดเจน ในการเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าระดับชุมชน ทั่วประเทศสนับสนุนการสร้างความสมดุลของ พื้นที่ไฟฟ้าในทุกภูมิภาค ได้แก่ EEC และภาคใต้
5.DE-REGULATION โครงการ Sandbox เพื่อให้เกิด การพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม ด้านพลังงานส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพ และกฎเกณฑ์การนำเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงานมาใช้สนับสนุนธุรกิจ พลังงานชุมชน เร่งยกระดับโครงข่ายสายส่ง
นายกุลิศ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเร่งยกระดับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า ด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะขยายสายส่งไฟฟ้าจาก 115 เควี เป็น 500 เควี หรือ 800 เควี เพื่อให้สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนได้และเข้าถึงพื้นที่ชุมชนได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีฯ ที่จะส่งเสริมพื้นที่ หรือ แซนด์บ็อกซ์ โดยได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมฯ ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง
รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อร่วมมือกันจัดทำแผนให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานทดแทนในอนาคต (Grid connection)
“พลังงาน”เล็งแก้กฎหมาย กฟผ.
นอกจากนี้ จะต้องแก้กฎหมายของ กฟผ.จากรับซื้ออย่างเดียวให้สามารถขายไฟฟ้าได้ด้วย เพื่อรองรับการเป็นเทรดเดอร์ หรือ การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และจะผลักดันเรื่องนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ที่จะหารือเรื่องของ grid connectivity เชื่อมโยงไฟฟ้ากับภูมิภาคด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพื่อร่วมกันประเมินและกำหนดศักยภาพของเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมด้วย “ในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมคณะทำงานฯ เพื่อจัดทำโครงการต้นแบบ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีการผลิตไฟฟ้าใช้เองและส่วนที่เหลือใช้ให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองในพื้นที่ในลักษณะแซนด์บ็อกซ์ ที่จะทดสอบเทคโนโลยีซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ คาดว่าจะเห็นผลภายใน 3 เดือน และหากสำเร็จก็จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป” นายกุลิศ กล่าว
นอกจากนี้ที่ การเสวนาหัวข้อ “จับตาสถานการณ์พลังงานไทย” ในเวทีสัมมนา Energy Disruption : พลังงานไทยยุค...ดิสรัปชั่น มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชน ถึงทิศทางพลังงานในอนาคต
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากผลกระทบภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รวดเร็ว รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทุกฝ่ายต่างโทษมาที่อุตสาหกรรมพลังงานเป็นหลัก
ดังนั้นจึงมีการวิจัยพัฒนาด้านพลังงานอย่างเต็มที่เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเทคโยโลยีด้านไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้นได้ดิสรัปชั่นด้านการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจากเดิม กฟผ.จะเน้นตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะหมดความสำคัญลงเปลี่ยนมาเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กที่กระจายไปทุกพื้นที่แทน เปลี่ยนจากการใช้สายส่งขนาดใหญ่ไปสู่การเป็นสมาร์ทกริดแทน ดังนั้น กฟผ. จึงต้องวางแนวทางในการปรับตัวไปสู่ทิศทางดังกล่าวอย่างไร